ข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานราชการ...ปัญหาที่ยังรอการแก้ไข

ข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานราชการ...ปัญหาที่ยังรอการแก้ไข

ข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานราชการ...ปัญหาที่ยังรอการแก้ไข
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คมกฤต เมฆสกุล และสุมิตร สุวรรณ

เมื่อเร็วๆ มานี้ มีข่าวการชุมนุมประท้วงที่จะนัดหยุดงานของพยาบาลวิชาชีพ ซึ่งมีฐานะเป็นเพียงลูกจ้างชั่วคราวในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จนกระทั่งรัฐบาลได้ให้คำมั่นสัญญาในการบรรจุเป็นข้าราชการ ทำให้กลุ่มสหวิชาชีพสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย เจ้าพนักงานเภสัชกรรม เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน เจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ เจ้าพนักงานรังสีการแพทย์ เจ้าพนักงานเวชสถิติ และเจ้าพนักงานโสตทัศนศึกษาทางการแพทย์ เกิดความไม่พอใจและออกมาเรียกร้องผ่านสื่อเพื่อให้ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการเช่นเดียวกับพยาบาล นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสหวิชาชีพสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ก็ได้ออกมาเรียกร้องเพื่อให้บรรจุเป็นข้าราชการเช่นเดียวกัน เนื่องจากการจ้างในตำแหน่งพนักงานมหาวิทยาลัยหรือลูกจ้าง ทำให้บุคลากรทยอยลาออก ปีละ 100 คน ไปทำงานกับโรงพยาบาลเอกชน เพราะขาดขวัญและกำลังใจ จนเกิดภาวะขาดแคลนแพทย์และพยาบาล ส่งผลให้การดูแลรักษาผู้ป่วยในภาคใต้มีปัญหา ซึ่งคาดว่าปรากฏการณ์ในการเรียกร้องแบบนี้อาจเกิดขึ้นในอีกหลายหน่วยงาน


เพราะเหตุใดบุคคลมากมายยังต้องการเป็นข้าราชการ???


หากมองย้อนกลับไปในอดีตเราคงเคยได้ยินคำว่า "สิบพ่อค้าไม่เท่าพระยาเลี้ยง" หมายถึง การเป็นพ่อค้าสู้เป็นขุนนางหรือข้าราชการไม่ได้ เพราะพระเจ้าแผ่นดินหรือรัฐบาลชุบเลี้ยงให้มีเงินเดือนไปจนวันตายหรือที่เรียกว่า "เงินบำนาญ" พร้อมทั้งการรักษาพยาบาลตนเองและครอบครัว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวางระเบียบข้าราชการพลเรือนเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2471 โดยให้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2472 เพื่อเป็นแนวทางในการเลือกสรรผู้มีความรู้และความสามารถเข้ารับราชการเป็นอาชีพ คนที่เป็นข้าราชการในยุคสมัยนั้นจึงนับว่ามีเกียรติภูมิสูงสุดของชีวิต เนื่องจากมีทั้งยศและบรรดาศักดิ์

ในยุคสมัยถัดมาเมื่อโลกเข้าสู่ระบบทุนนิยมเสรีที่ใช้เงินตราเป็นหลักในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ การเป็นข้าราชการกลับไม่ได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่เหมือนในอดีต เนื่องจากเงินเดือนน้อยเมื่อเทียบกับภาคเอกชน จึงเกิดภาวะที่เรียกว่า "สมองไหล" ประกอบกับการปฏิบัติงานของข้าราชการถูกมองในแง่ลบว่าด้อยประสิทธิภาพหรือทำงานแบบที่เรียกว่า "เช้าชาม เย็นชาม" ดังนั้นคณะกรรมการปฏิรูประบบราชการ (ค.ป.ร.) จึงมีแนวคิดในการปฏิรูประบบราชการเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและการลดรายจ่ายภาครัฐ โดยการลดจำนวนข้าราชการลง ไม่บรรจุอัตราใหม่ทดแทนผู้ที่เกษียณอายุราชการ โดยเฉพาะในช่วงหลังภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 เป็นต้นมา


ดังนั้นคำใหม่ๆ จึงได้ถูกสร้างขึ้นมาใช้ในระบบราชการไทย เช่น คำว่า "พนักงานมหาวิทยาลัย" แทน "ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย" เช่น มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2542 ให้สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ จ้างพนักงานมหาวิทยาลัยทดแทนอัตราข้าราชการทั้งหมดที่เกษียณอายุราชการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2542 เป็นต้นมา โดยให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการจ้างในหมวดเงินอุดหนุนทั่วไป โดยบุคลากรสายผู้สอนจ้างในอัตราข้าราชการแรกบรรจุซึ่งเป็นอัตราในปัจจุบันบวกด้วยอัตราเพิ่มอีกร้อยละ 70 หรือ 1.7 เท่า


ส่วนบุคลากรสายสนับสนุนจ้างในอัตราข้าราชการแรกบรรจุซึ่งเป็นอัตราในปัจจุบันบวกด้วยอัตราเพิ่มอีกร้อยละ 50 หรือ 1.5 เท่า ซึ่งหวังว่าระบบใหม่นี้จะเป็นดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถสูงให้เข้ามาทำงานในมหาวิทยาลัยได้ นับถึงปัจจุบันผ่านมา กว่า 13 ปีแล้ว มีมหาวิทยาลัยของรัฐและมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐเพียง 8 แห่งจากทั้งหมด 79 แห่งเท่านั้น ที่กำหนดอัตราค่าจ้างอาจารย์คุณวุฒิปริญญาเอกในอัตรา 1.7 เท่าของอัตราข้าราชการแรกบรรจุหรือสูงกว่า ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ซ้ำร้ายเมื่อมีการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการในหลายครั้ง พนักงานมหาวิทยาลัยกลับถูกลืมซึ่งไม่ได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนจากมติคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้หลักการที่เคยกล่าวกันไว้ว่า สวัสดิการและสิทธิประโยชน์เกื้อกูลต่างๆ ของพนักงานมหาวิทยาลัย รวมกันแล้วจะไม่น้อยกว่าระบบราชการเดิม ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น พนักงานมหาวิทยาลัยถูกกำหนดโดยพันธะสัญญาจ้างทำให้ขาดความมั่นคงต่อวิชาชีพ และถูกผลักภาระจากรัฐให้ได้รับการรักษาพยาบาลจากการประกันสังคมซึ่งมีปัญหาทั้งเรื่องคุณภาพยาและการให้บริการ เข้าในทำนอง "บริการทุกระดับ คับแค้นใจ" เลยก็ว่าได้ ผลประโยชน์เกื้อกูลต่างๆ เช่น เงินค่าตอบแทนประจำตำแหน่งทางวิชาการ เช่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ ก็ไม่ได้รับเงินค่าตอบแทนอีก 1 เท่าเช่นเดียวกับข้าราชการ ดังนั้นคงไม่ต้องตกใจหากปรากฏข่าวว่าอาจารย์ในมหาวิทยาลัยลาออกไปสอบบรรจุเป็นข้าราชการ โดยเฉพาะอาจารย์อัตราจ้างในโรงเรียนสาธิตบางแห่งที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ณ วันนี้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (กพอ.) ได้เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงได้ตั้งคณะอนุกรรมการปรับปรุงกฏหมายเกี่ยวกับบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา โดยมีท่านมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวในระยะยาวแล้ว โดยไม่ต้องให้อาจารย์ทั้งหลายนัดหยุดการเรียนการสอนเพื่อมาประท้วงที่ทำเนียบรัฐบาล แต่คงอีกนานกว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะผ่านรัฐสภา


อีกคำหนึ่งในระบบใหม่ชื่อว่า "พนักงานราชการ" กำเนิดขึ้นภายหลังการปรับปรุงโครงสร้างส่วนราชการตามการปฏิรูประบบราชการ พ.ศ. 2545 โดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ได้นำระบบลูกจ้างสัญญาจ้างเดิม มาปรับรูปแบบการจ้างงานในหน่วยงานภาครัฐให้มีความหลากหลาย เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการใช้กำลังคนภาครัฐและให้การปฏิบัติราชการมีความคล่องตัวเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยสอดคล้องตามแนวทางการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ รวมทั้งขยายให้ครอบคลุมถึงการจ้างผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษา โดยต่อมามีออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วย พนักงานราชการ พ.ศ. 2547 เพื่อดึงดูดใจและแสดงสถานะที่ชัดเจนมากขึ้น ผลกลับไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์อีกเช่นเดิม ด้วยสถานะภาพที่ขาดความมั่นคงด้วยการทำสัญญาจ้างทุก 4 ปี รวมทั้งการลดสวัสดิการบางอย่างลง อาทิเช่น ไม่ได้รับค่าเช่าบ้าน ไม่ได้รับการรักษาพยาบาลตนเองและครอบครัว โดยไปให้ใช้การประกันสังคมแทน และไม่ได้รับเงินบำเหน็จบำนาญ เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากระบบราชการที่มีขนาดใหญ่และไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน รวมทั้งการไม่สามารถแข่งขันในเรื่องค่าตอบแทนกับภาคเอกชนและการลดค่าใช้จ่ายภาครัฐ แต่กลับกลายเป็นผลร้ายต่อระบบราชการไทยและประเทศไทย เมื่อพวกเขาเหล่านั้นที่เข้ามาทำงานใหม่มีฐานความคิดที่พร้อมจะไปทำงานที่อื่นเมื่อมีโอกาสที่ดีกว่า (บางคนที่ต้องทนทำงานอยู่เพราะไม่มีที่จะไปก็มี) เพราะเขารู้ว่าคำใหม่เหล่านี้ทั้งพนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานราชการ พนักงานประจำตามสัญญาจ้าง พนักงานจ้างเหมา ลูกจ้างชั่วคราว และอื่นๆ ซึ่งไม่มีความมั่นคงในชีวิตการทำงาน ผนวกกับเงินเดือนที่น้อยนิดเมื่อเทียบกับภาคเอกชน ดังนั้นไม่ว่าเราจะเปลี่ยนชื่อไปอย่างไรก็ตาม ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาในระบบราชการไทยได้ ซ้ำร้ายจะเพิ่มความอ่อนแอมากขึ้นด้วยซ้ำ ตราบเท่าที่วิธีการทำงานของเรายังทำกันเหมือนเดิมในแบบ "รูปหน้าปะจมูก" ซึ่งไม่กล้าเอาคนผิดลงมาลงโทษหรือเอาคนที่ย่อหย่อนประสิทธิภาพออก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนควรตระหนักเสมอก็คือ เงินเดือนและสวัสดิการที่พวกเราได้รับล้วนมาจากเงินภาษีของประชาชนทั้งสิ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook