ปรับวิธีคิดใหม่ "วินัย"สร้างได้...ไม่ยาก!!
"ระบบการศึกษาไทยกลับให้ความสำคัญกับสิ่งที่อยู่ในหัวของเด็กน้อยกว่าสิ่งที่อยู่นอกหัวของเด็ก"
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวยอดฮิต "ของขวัญ" วันเด็กแห่งชาติ เห็นจะหนีไม่พ้น ข่าว "ปลดล็อกผมเกรียน-ผมติ่งหู" ซึ่งก็ทำเอาเด็กๆ เฮลั่นห้อง!!
เพราะระเบียบดังกล่าวถือว่าเป็นระเบียบที่เด็กๆ มักตั้งคำถามว่า การที่จะเรียนเก่งหรือไม่เก่ง มีระเบียบหรือไม่มีระเบียบวินัย เนี้ย มันอยู่ที่ทรงผมเหรอ???
แม้งานนี้จะถูกใจเด็ก แต่ผู้ใหญ่หลายคนก็ออกมาแสดงความเป็นห่วง กลัวโน่นกลัวนี่ หรือแม้แต่กลัวว่า หากไม่ไว้ผมเกรียน-ผมติ่งหู เกรงว่าเด็กๆ จะทำอะไรเกินขอบเขตที่กำหนดไว้จน "ขาดระเบียบวินัย"
ในมุมมองของผู้คร่ำหวอดแวดวงหนังสือเพื่อแม่และเด็ก นางสุภาวดี หาญเมธี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทรักลูกให้ความเห็นว่า การสร้างวินัยให้เด็กมีเรื่องอื่นที่ทำได้นอกจากการวางกฎเกณฑ์เรื่องระเบียบของทรงผมที่ไม่ได้มีผลกระทบต่อคนในสังคมเท่ากับการฝึกให้เด็กตรงต่อเวลา รักษาความสะอาด เคารพสิทธิของผู้อื่น หรือเรื่องการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
สุภาวดี หาญเมธี
"เรื่องทรงผมกลายเป็นเครื่องมือในการกำกับควบคุมเด็กให้อยู่ในกรอบที่แข็งเกินไป มีตัวอย่างของพ่อคนหนึ่งที่เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนประถมที่อนุญาตให้เด็กผู้หญิงในโรงเรียนไว้ผมยาวได้แต่ต้องถักเปียหรือรวบให้เรียบร้อย เพราะผู้อำนวยการคนนั้นมีลูกสาว และทุกเช้าชอบที่จะหวีผมและถักเปียให้ลูก"
การให้อิสระเรื่องทรงผม เธอเชื่อว่าเป็นการช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะจัดการชีวิตในเรื่องง่ายๆ ผู้ใหญ่บางคนกลัวเด็กจะแหกคอก แต่อยากให้มองว่าแฟชั่นเป็นเรื่องที่มาแล้วก็ไป เมื่อเด็กค้นพบว่าอะไรไม่เหมาะกับตัวเอง ก็จะกลับสู่บรรทัดฐานกว้างๆ ของสังคมได้เอง
"ระบบการศึกษาไทยกลับให้ความสำคัญกับสิ่งที่อยู่ในหัวของเด็กน้อยกว่าสิ่งที่อยู่นอกหัวของเด็ก" เธอย้ำ
การกดดันมากๆ ยังส่งผลให้เด็กไม่อยากไปโรงเรียน เพราะเบื่อในกฎเกณฑ์ที่มากเกินไป และเมื่อออกนอกรั้วโรงเรียนเด็กก็จะกลายเป็นอีกแบบ ดังนั้น ผู้ใหญ่ต้องปรับวิธีคิดส่งเสริมให้เด็กมีวินัย ขณะเดียวกันก็ต้องปล่อยให้เด็กมีอิสระที่จะคิดในเชิงสร้างสรรค์
"เด็กไทยไม่กล้าคิด และว่านอนสอนง่ายเกินไป" สุภาวดีชี้จุดอ่อน
นางสุภาวดีแนะนำว่า กฎระเบียบมีได้แต่ต้องสมดุลและมีเหตุผลที่ตอบเด็กได้ตามยุคสมัยของเขา ไม่ใช่การใช้อำนาจบังคับโดยไม่มีเหตุผล
การที่เด็กไทยไม่ได้ฝึกคิดมาก่อน ทำให้ทุกวันนี้มีปัญหาเรื่องการตามกระแสคนอื่น เพราะขาดซึ่งวิจารณญาณและประสบการณ์ในชีวิตนอกห้องเรียน การฝึกทำกิจกรรมร่วมกันก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยเสริมทักษะทางสังคมให้กับเด็ก
"เด็กต่างจังหวัดมีพื้นที่และทำกิจกรรมนอกห้องเรียนเยอะ จึงทำให้เด็กมีทักษะการเข้าสังคมที่ดี แต่เด็กในเมืองมุ่งเน้นเรื่องวิชาการมาก ซึ่งการทำกิจกรรมนอกจากเพิ่มทักษะชีวิตแล้วยังเป็นการช่วยให้เด็กรู้จักคิดและตัดสินใจรวมถึงมีวินัยด้วย"
ส่วนการฝึกวินัยในเด็กนั้นทำได้ตั้งแต่ยังเป็นเด็กตัวเล็กๆ โดยคำนึงถึงว่า "วินัย" ต้องมาพร้อมคำว่า "เหตุผล" ซึ่งต้องสอดคล้องกับความเป็นจริง และสุดท้ายที่สำคัญคือกระบวนการสื่อสาร เมื่อมีคำสั่งก็ต้องอธิบายได้ว่าเพราะเหตุใด เป็นการฝึกให้เด็กคิดและวิเคราะห์
"ถ้ามองวินัยเป็นเรื่องวิถีชีวิตของคนก็ฝึกได้ตั้งแต่ 1 ขวบ อาทิ การไปห้างสรรพสินค้ากับลูก เมื่อเด็กอยากได้ของเล่นก็ต้องคุยกับลูก ลูบหลัง กอดแล้วบอกเหตุผลไปว่าไม่ใช่อันนี้ หรือเบี่ยงเบนความสนใจ เมื่อโตขึ้นก็ฝึกวินัยอื่นๆ เช่น การตรงต่อเวลา ตั้งเงื่อนไขให้ลูกกลับบ้านได้ไม่เกินกี่โมง หากฝ่าฝืนก็จะมีบทลงโทษอย่างห้ามไปเที่ยว หรือจับเข่าคุยกันถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งการฝึกวินัยอย่างง่ายๆ ตั้งแต่เล็กจะช่วยให้เด็กคิดเป็นและมีวินัยได้เองในอนาคต
"สิ่งสำคัญที่ผู้ใหญ่ต้องเริ่มคือการแยก ′ระเบียบ′ ที่ใช้แต่อำนาจออกจาก ′วินัย′ และใช้เหตุผลเป็นเครื่องช่วยเพิ่มทักษะชีวิตให้เด็กไทยเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ" สุภาวดีทิ้งท้าย
หน้า 25 มติชนรายวัน ฉบับวันศุกร์ที่ 18 มกราคม 2556