ชงปฎิรูปหลักสูตร ป.1-ม.6 ลดชั่วโมงเรียน-วิชาซ้ำซ้อน

ชงปฎิรูปหลักสูตร ป.1-ม.6 ลดชั่วโมงเรียน-วิชาซ้ำซ้อน

ชงปฎิรูปหลักสูตร ป.1-ม.6 ลดชั่วโมงเรียน-วิชาซ้ำซ้อน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอให้นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลงนามตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด เพื่อดำเนินการศึกษาเรื่องการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

โดยนายภาวิชให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าว เมื่อวันที่ 27 มกราคม ว่าหลังนายพงศ์เทพมอบหมายให้ดำเนินการศึกษาเรื่องการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. จึงเสนอรายชื่อคณะกรรมการ 2 ชุด ให้นายพงศ์เทพลงนามแต่งตั้ง ได้แก่ คณะกรรมการกำหนดวิสัยทัศน์การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นประธาน และคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีตนเป็นประธาน

"หลังนายพงศ์เทพลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดแล้วจะรีบประชุมหารือเกี่ยวกับกระบวนการ และขอบเขตการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ว่าต้องทบทวนโครงสร้างหลักสูตรตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1( ป.1)-ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 (ม.6) อย่างไรบ้าง ที่ผ่านมามีนักวิชาการจำนวนมากสะท้อนว่า เนื้อหา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ของไทยต่ำกว่ามาตรฐานเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ" นายภาวิชกล่าว และว่า รายละเอียดของการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน คาดว่าจะได้ข้อสรุป และสามารถทดลองใช้หลักสูตรใหม่ได้ประมาณปลายปีนี้

นายภาวิชกล่าวว่า คณะกรรมการทั้ง 2 ชุด จะมีผู้ทรงวุฒิด้านการศึกษา ครู และสมาคม หรือองค์กรด้านศึกษา มาช่วยระดมความเห็นในการปรับแก้ น่าจะครอบคลุมทุกด้าน โดยประเด็นหลักๆ ที่ต้องหารือ อาทิ การปรับโครงสร้างหลักสูตรตั้งแต่ชั้น ป.1-ม.6 และรายวิชาเรียนของแต่ละช่วงชั้น เพราะปัจจุบันทุกช่วงนั้นเรียนวิชาซ้ำๆ กัน ในอนาคตอาจจะปรับเปลี่ยนรายวิชาการเรียนใหม่ เช่น วิชานี้เริ่มเรียนตั้งแต่ ป.1-3 อีกวิชาเริ่มเรียนในชั้น ป.4-6 เป็นต้น นอกจากนี้ ต้องทบทวนจำนวนชั่วโมงเรียนในแต่ละวันด้วยว่าควรต้องลดลงหรือไม่ เพราะปัจจุบันเด็กไทยเรียนเฉลี่ยวันละ 7-8 ชั่วโมง ส่วนใหญ่มองว่าชั่วโมงเรียนมากเกินไป

"อีกประเด็นที่ต้องให้คณะกรรมการทั้ง 2 ชุด พิจาณา และศึกษาในรายละเอียดคือ การแบ่งช่วงชั้นใหม่ ซึ่งปัจจุบันแบ่งช่วงชั้นออกเป็นช่วงละ 3 ปี ขณะที่หลายๆ ประเทศ เช่น อังกฤษ แบ่งช่วงชั้นที่ 1 เป็น 2 ปี ส่วนช่วงชั้นที่ 2 เป็น 4 ปี ดังนั้น คิดว่าควรต้องศึกษาข้อดีในการแบ่งช่วงนั้นของประเทศต่างๆ เพื่อนำมาปรับใช้กับไทย ซึ่งรายละเอียดและข้อสรุปการปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องรอมติจากคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด" นายภาวิชกล่าว

นายภาวิชกล่าวอีกว่า กรณีที่นายพงศ์เทพลงนามเห็นชอบร่างโครงสร้าง ศธ.ใหม่ โดยยกฐานะสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ขึ้นเป็นแท่งหนึ่งของ ศธ.ยกฐานะสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) มีฐานะเทียบเท่ากรม และเป็นนิติบุคคลภายใต้สำนักงานปลัด ศธ.และให้การเสนองานต่างๆ ขององค์กรหลักอื่นๆ ต้องผ่านสำนักงานปลัด ศธ.นั้น เห็นด้วยที่ ศธ.จะปรับโครงสร้าง แต่เห็นควรทบทวนทั้งหมด เพราะถ้ายังเป็นโครงสร้างที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน การศึกษาของชาติจะยิ่งอ่อนแอ โดยเฉพาะในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่หลังจากรวมกับ ศธ.แล้ว การอุดมศึกษาไทยอ่อนแอลงอย่างชัดเจน

"หากต้องการให้การอุดมศึกษา และการศึกษาขั้นพื้นฐานเข้มแข็ง ควรแยกการอุดมศึกษาออกเป็นอีกกระทรวงหนึ่ง ซึ่งมีหลายรูปแบบ ได้แก่ 1.แยก สกอ.ออกเป็นกระทรวงใหม่ 2.นำงานอุดมศึกษาไปรวมกับงานวิจัยและตั้งเป็นกระทรวงใหม่ เพราะ 80% ของผู้ที่ทำงานวิจัยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และ 3.นำการอุดมศึกษา การอาชีวศึกษาและงานวิจัย รวมกันเป็นกระทรวงใหม่" นายภาวิชกล่าว

นายภาวิชกล่าวต่อว่า สำหรับโครงสร้างใหม่ที่ ศธ.ส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) นั้น ยังไม่เห็นในรายละเอียด แต่หากให้องค์กรหลักเสนองานผ่านสำนักงานปลัด ศธ.ก่อนเสนอรัฐมนตรีว่าการ ศธ.น่าจะไม่ ถูกต้อง เพราะไม่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการ ศธ.ที่ให้แต่ละองค์กรหลักขึ้นตรงกับรัฐมนตรีว่าการ ศธ. อีกทั้งในทางปฏิบัติจะเพิ่มขั้นตอนการทำงานทำให้งานช้าลง ส่วนการนำการศึกษาพิเศษจาก สพฐ.ไปไว้ใน สป.ศธ.คงไม่เหมาะเช่นกัน เพราะเป้าหมายการจัดการศึกษาให้คนกลุ่มพิเศษเพื่อให้มีความรู้เหมือนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน และตามหลักวิชาการไม่ควรแยกเด็กพิเศษออกจากเด็กปกติ ต้องให้เรียนร่วมและดำรงชีวิตปกติอยู่ร่วมกัน ส่วนการยกฐานะ กศน.เป็นองค์กรหลักที่ 6 นั้น จริงๆ แล้วการศึกษาตลอดชีวิตคือ หลักการที่สอดแทรกอยู่ในทุกองค์กรหลักอยู่แล้ว จึงแปลกใจที่แยกการศึกษาตลอดชีวิตออกมาเป็นอีกแท่งหนึ่ง

"ขณะนี้โครงสร้างในส่วนของเขตพื้นที่การศึกษายังคลุมเครือ ถึงแม้จะแยกเป็นเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา แต่ยังมีปัญหาเรื่องของเขตกับโรงเรียน และปัญหาการกระจายอำนาจที่ยืดเยื้อมานาน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้ส่งรูปแบบในการกระจายอำนาจมาแล้ว ผมได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ให้ดูแล เบื้องต้นพบว่ายังไม่สมบูรณ์ 100% ต้องหารือกันอีกสักระยะหนึ่ง" นายภาวิชกล่าว

นางเบญจลักษณ์ น้ำฟ้า รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า การดำเนินการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น สพฐ.ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้น 1 ชุด เพื่อเป็นเจ้าภาพหลักมีสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (สวก.) เป็นหน่วยงานหลักที่จะดำเนินการ โดยจะต้องดูตัวชี้วัด และโครงสร้างเวลาเรียนของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2551 ซึ่งจะต้องดูในประเด็นของเนื้อหาการเรียนการสอนว่าแน่น หรือมากไปหรือไม่ จะต้องดูในมิติของสถานศึกษา และต้องนำเอาผลคะแนนเฉลี่ยสะสม (จีพีเอ) และผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) มาประกอบด้วย เพื่อให้เห็นว่าเนื้อหามากและเนื้อหาน้อย ส่งผลต่อการเรียนรู้มากน้อยแค่ไหน

"อีกทั้งจะต้องแบ่งกลุ่มโรงเรียนต่างๆ ตามชั่วโมงการเรียนการสอนที่โรงเรียนจัดว่าใช้ชั่วโมงการเรียนการสอนเหล่านี้ทำอะไรบ้าง นอกจากนี้จะต้องทบทวนเนื้อหารายวิชาต่างๆ เพื่อให้ทันสมัย เบื้องต้นจะต้องปรับกลุ่มวิชาสังคมศึกษา กลุ่มวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และคณิตศาสตร์ อย่างไรก็ตาม หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้น พื้นฐานที่ สพฐ.กำหนด จะเป็นหลักสูตรที่อิงมาตรฐาน คือกำหนดมาตรฐานกลางขึ้น และจะให้สถานศึกษานำไปจัดการเรียนการสอนเอง" นางเบญจลักษณ์กล่าว

แหล่งข่าวจากเจ้าหน้าที่ สพฐ.กล่าวว่า สวก.ในฐานะที่ได้รับมอบหมายจาก สพฐ.ให้ดูแลการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานร่วมกับทีมของนายภาวิช ทาง สวก.ได้กำหนดแนวทางการดำเนินการไว้แล้ว เช่น ทบทวนหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2551 ว่าเป็นอย่างไรในแต่ละกลุ่มวิชาต้องเรียนมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะต้องเปรียบเทียบข้อมูลการใช้หลักสูตรของประเทศต่างๆ อย่างสหรัฐอเมริกา เกาหลี ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และกลุ่มประเทศอาเซียน ข้อมูลเบื้องต้นเหล่านี้ สวก.มีอยู่แล้ว นอกจากนี้ จะต้องดูความซ้ำซ้อนของตัวชี้วัดที่กำหนดเป็นรายชั้นปีของหลักสูตรว่าซ้ำซ้อนหรือไม่ ส่วนเนื้อหาในแต่ละวิชาต้องดูด้วยว่าทันสมัยหรือไม่ หากไม่ทันสมัยต้องปรับใหม่

"เบื้องต้นที่ สวก.ได้ดูหลักสูตรของแต่ละประเทศที่ใช้อยู่ไม่แตกต่างกันมาก แต่อาจเรียกหรือใช้ชื่อแตกต่างกัน และหลักสูตรยังเน้นการกำหนดเป้าหมาย และมาตรฐานเช่นเดียวกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทย ทั้งนี้ ประมาณวันที่ 6-8 กุมภาพันธ์ จะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในเรื่องหลักสูตรจากครูผู้สอนทั่วประเทศ ส่วนครั้งที่ 2 จะเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการมาร่วมแสดงความคิดเห็น และครั้งที่ 3 จะเปิดเป็นเวทีโต๊ะกลมให้ทุกฝ่ายเข้าร่วม รวมถึงนักเรียน" แหล่งข่าวกล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook