การบ้านเรื่องของเด็ก แต่กระทบถึงผู้ใหญ่

การบ้านเรื่องของเด็ก แต่กระทบถึงผู้ใหญ่

การบ้านเรื่องของเด็ก แต่กระทบถึงผู้ใหญ่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วงประชุมผู้บริหารคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 29 มกราคม มีหัวข้อสำคัญที่หารือคือการบูรณาการเรียนการสอนของเด็กนักเรียน โดยให้ลดภาระการทำงานของเด็กทั้งการบ้านและโครงงานทุกอย่าง มีจุดประสงค์เพื่อให้เด็กลดความเครียด

แต่ทว่าการบ้านก็เป็นส่วนสำคัญในการเรียนรู้ของเด็กเช่นกัน

"มติชน" สอบถามความเห็นกับผู้ปกครองของนักเรียนในระดับต่างๆ ถึงมาตรการลดการบ้านเด็กต่างให้ความเห็นทั้งเห็นด้วยและคัดค้าน

"ร.ท.โอภาส สุขสุชีพ" ประธานเครือข่ายผู้ปกครองโรงเรียนศึกษานารีบอกว่า บุตรสาวเคยพูดเรื่องการบ้านที่เยอะเกินไป เพราะในหนึ่งวันเด็กต้องเรียนทั้งหมด 8 วิชา ครูผู้สอนแต่ละกลุ่มสาระจะให้การบ้านอย่างน้อยคนละ 1 ชิ้น หากนับแต่ละวิชาไม่ถือว่ามากไป แต่เมื่อรวมกันก็ถือว่าเยอะพอสมควร เพราะเด็กในปัจจุบันนอกจากจะเรียนในห้องเรียนแล้ว ยังต้องแบ่งเวลาไปเรียนพิเศษเสาร์-อาทิตย์ด้วย

"ไม่ถึงกับเห็นด้วย แต่คิดว่าการลดจำนวนการบ้านลงบ้างถือเป็นเรื่องดี เพราะการบ้านของเด็กปัจจุบันไม่ใช่ตอบคำถามจากที่ครูสอนในห้องเรียน แต่เป็นการอ่านบทเรียน ทำความเข้าใจแล้วตอบคำถาม ซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งคือครูสอนเนื้อหาไม่ทัน จึงให้เด็กมาอ่านทำความเข้าใจเอง" ร.ท.โอภาสกล่าว

"อรุณ บ่างตระกูลนนท์" นายกสมาคมเครือข่ายผู้ปกครองและครูโรงเรียนสตรีวิทยา 2 กล่าวว่า การให้การบ้านครูแต่ละสาระวิชาที่สอนในแต่ละระดับชั้นต้องบูรณาการกัน อย่างช่วงก่อนเปิดเทอมต้องประชุม คุยกันว่าเทอมนี้จะให้การบ้านเด็กอย่างไร แบบไหน การจัดสรรการบ้านควรเป็นหน้าที่ของครูทุกคนที่สอนในระดับชั้นนั้นๆ การที่ครูไม่บูรณาการกันจะทำให้เด็กมีการบ้านเยอะ เพราะครูแต่

ละคนจะให้การบ้านตามลักษณะการสอนของตัวเอง ซึ่งบางครั้งเยอะเกินไปจนทำให้เด็กเครียด

"นภาภรณ์ กิตติทวีสิน" ผู้ปกครองนักเรียนชั้น ป.2 โรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่ง บอกว่า การบ้านของเด็กถือว่ามากเกินไป ที่ สพฐ.ให้ครูลดการบ้านลงนั้นเห็นด้วย แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีเลย เพราะการบ้านยังเป็นเรื่องที่สำคัญ เพื่อให้เด็กได้ทบทวนบทเรียนในแต่ละวัน สิ่งที่ควรจะเน้นคือควรให้เด็กทำเป็นชิ้นรายงานหรือโครงงานที่เป็นชิ้นใหญ่ไปเลยเพื่อเป็นการต่อยอดความรู้ในชั้นเรียน มากกว่าจะให้ทำการบ้านเยอะๆ ในแต่ละวัน

"เกษมณี นันทรัตนพงศ์" ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง บอกว่า การให้การบ้านไม่ถือว่ามากเกินไปเพราะการเรียนรู้เพียงแค่ในห้องเรียนคงไม่เพียงพอสำหรับเด็กๆ ต้องมาทบทวนผ่านการบ้าน และเพื่อให้ความเข้าใจของเด็กในแต่ละวิชาแน่นขึ้น จากการสังเกตการทำการบ้านอย่างเช่นวิชาคณิตศาสตร์ พบว่าเด็กยังไม่เข้าใจในสิ่งที่ครูสอนในห้องเรียนอย่างถ่องแท้ ต้องให้ผู้ปกครองช่วยสอนอีกครั้งและทำแบบฝึกหัดหลายรอบจึงเข้าใจ

"ไม่เห็นด้วยที่ สพฐ.ให้ครูลดการให้การบ้านเด็กนักเรียนลง เพราะเด็กยังมีเวลาว่างในการเล่นเกม เข้าถึงโซเชียลมีเดียต่างๆ แต่อยากให้ครูปรึกษาการให้การบ้านเด็กว่าแต่ละวันควรจะให้การบ้านเป็นปริมาณเท่าไหร่ที่จะไม่หนักเกินไปหรือน้อยเกินไปสำหรับเด็กนักเรียน เพราะปริมาณการบ้านในแต่ละวันไม่เท่ากัน บางวันการบ้านเยอะจนเด็กต้องทำถึงดึกดื่น แต่บางวันไม่มีการบ้านเลย" เกษมณีบอก และว่า หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯมีแนวคิดดังกล่าว ควรจะต้องเตรียมความพร้อมด้านการศึกษาของประเทศให้ดี เปลี่ยนทัศนคติของเยาวชนให้รักการอ่าน มีวินัยใฝ่รู้อย่างแท้จริงก่อนแล้ว ค่อยปฏิบัติตามแนวคิดดังกล่าว น่าจะเกิดผลดี

ขณะที่ "สมพงษ์ จิตระดับ" อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ให้การบ้านเป็นดาบสองคม ถ้าให้มากเด็กก็เครียด แต่ถ้าไม่ให้ ผู้ปกครองจะถามว่าครูสอนอย่างไรไม่ให้การบ้าน แนวคิดการลดการบ้านเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เพราะจะได้มีเวลาทำกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น ทั้งนี้การลดการบ้านต้องทำอย่างเป็นระบบ เพราะฉะนั้นจากนี้ผู้บริหาร ครู ผู้ปกครองจะต้องคุยกันว่าจะลดอย่างไร เช่น ต่อไปนี้ให้การบ้านห้ามเกินวันละ 2 วิชา หรือว่าแต่ละอาทิตย์ ให้การบ้านไม่เกินกี่วิชา ที่สำคัญเรื่องนี้ต้องบูรณาการกัน ไม่ใช่ลดอย่างเดียว

"เรื่องเร่งด่วนนอกจากการลดเนื้อหา ลดเวลาเรียน และเพิ่มเวลาทำกิจกรรมมากขึ้นแล้ว ยังต้องแก้ปัญหาโดยปรับเปลี่ยนบทบาทของครูครั้งใหญ่ด้วย เพราะปัจจุบันที่เด็กมีการบ้านเยอะเพราะครู ดังนั้น สพฐ.ต้องวางแผนว่าทำอย่างไรให้ครูเข้าใจนโยบายนี้ด้วย เพราะไม่เช่นนั้นทุกอย่างก็จะไม่แตกต่างจากเดิม" สมพงษ์ระบุ และว่า อยากแนะนำให้ สพฐ.ไปรวบรวมงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งมีนักวิชาการได้ทำงานวิจัยมาแล้วจำนวนมาก เพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำหนดแก้ปัญหา

"นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์" อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี นายกสมาคมการศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การลดปริมาณการบ้าน ต้องหารือว่าจะใช้มาตรฐานหรือว่าเกณฑ์อะไรมาวัดว่าการบ้านมากหรือน้อย ถ้ามองว่าที่เด็กทำการบ้านเยอะๆ เป็นการฝึกให้เด็กคิดเป็น แล้วถ้าจะลดปริมาณ ต้องมีเหตุผลด้วย แต่สิ่งสำคัญหลังจากนี้ใครจะเป็นผู้กำหนดว่าการให้การบ้านเท่าไรจึงเหมาะสม เช่น จากเดิมเด็กต้องทำการบ้านวันละ 50 ข้อ ลดเหลือ 20 ข้อ การจะลดการบ้านต้องมีเหตุผลว่าทำไมจาก 50 ข้อ จึงเหลือ 20 ข้อ และสิ่งที่ต้องระวัง ถ้าจะลด 20 ข้อต้องให้ครอบคลุมเนื้อหาที่เคยเรียนมาและนักเรียนต้องเข้าใจในสิ่งที่เรียนมาด้วย ไม่ใช่ลดแล้วเด็กไม่เข้าใจวิชาที่เรียน

ขณะที่ความเห็นของครูในระดับปฏิบัติอย่าง "กรรณิการ์ เรียงทองหลาง" ครูประจำชั้นปีที่ 6 โรงเรียนชลประทานสงเคราะห์ อ.เมือง จ.นครราชสีมา ให้ความเห็นว่า เห็นด้วยกับการปรับหลักสูตรแกนกลาง ที่จะทำให้มีการบูรณาการทุกสาขาวิชา เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน เนื่องจากปัจจุบันสังเกตเห็นว่า ครูแต่ละวิชาต่างเร่งที่จะสอนวิชาของตนเอง เมื่อจบชั่วโมงเรียนก็จะสั่งการบ้านให้ไปทำ ดังนั้นในแต่ละวันนักเรียนจะได้การบ้านไปทำหลายวิชาพร้อมกัน จึงเกิดความเครียด และนักเรียนบางคนก็เลือกที่จะทำบางวิชาเท่านั้น โดยยอมให้ครูทำโทษในรายวิชาที่ไม่ได้ส่งการบ้าน

"ดิฉันเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับครูหรือนักเรียนโดยตรง แต่เกี่ยวกับหลักสูตรที่ไม่มีความสอดคล้องกัน หากจัดหลักสูตรให้สอดคล้องกัน และให้การบ้านแบบบูรณาการหลายๆ วิชาในเรื่องเดียวกัน จะส่งผลดีต่อทั้งครูและนักเรียนด้วย" กรรณิการ์ระบุ

เมื่อฟังเสียงสะท้อนถึงมาตรการลดการบ้านเด็กแล้วจะเห็นถึงความหลากหลายของปัญหา

ดังนั้น ถ้าผู้บริหาร สพฐ.จะเดินหน้าปฏิรูปหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นที่ฐาน ต้องฟังความให้รอบด้าน ถกเถียงกันให้ตกผลึก ก็จะไม่ซ้ำรอยความล้มเหลวเหมือนครั้งที่ผ่านมา !!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook