"มศว"ตะลุย"ฮูสตัน-ซานฟรานฯ" ส่อง..เทรนด์ล่าสุด เรียนๆเล่นๆแบบ.."มะกัน"
รายงานพิเศษ โดย เบญจมาศ เกกินะ
มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
"สหรัฐอเมริกา" เป็นประเทศใหญ่ และเป็นผู้นำของโลกในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการทหาร เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะด้านการศึกษา ที่มีสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกตั้งอยู่จำนวนมาก อาทิ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด, มหาวิทยาลัยคอร์เนล, มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เป็นต้น และด้วยความที่สหรัฐใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากรัสเซีย และแคนาดา มีประชากรหลายเชื้อชาติมากกว่า 3 แสนล้านคนอาศัยอยู่ จึงไม่น่าแปลกใจที่ระบบการบริหารจัดการในหลายๆ ด้าน จะมีความแตกต่างไปตามบริบท และความจำเป็นของแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะด้านการศึกษา ที่แม้จะเป็นมหาอำนาจของโลก ก็ยังพบปัญหาในเรื่องของโอกาส และความเท่าเทียมเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ...
เมื่อเร็วๆ นี้ มีโอกาสบินลัดฟ้าติดตามคณะผู้บริหาร อาจารย์จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) และผู้บริหารโรงเรียนสาธิต ในสังกัดทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ 1.โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร (ฝ่ายประถม) 2.โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม) 3.โรงเรียนสาธิต มศว ปทุมวัน 4.โรงเรียนสาธิต มศว องครักษ์ และ 5.โรงเรียนสาธิต การเรียนรู้สมเด็จย่า มศว แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ไปศึกษาดูงานด้านการศึกษาใน 2 เมืองสำคัญๆ อย่างฮูสตัน (Houston) และซานฟรานซิสโก (San farncisco) เพื่อศึกษาระบบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงระดับอุดมศึกษา รวมถึงระบบการบ่มเพาะครูเก่ง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนการสอน
โดยครั้งนี้คณะเลือกไปดูงานโรงเรียนในเครือ Kipp 2 แห่ง คือ Kipp Sharp และ Kipp Explore ซึ่งถือเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กยากจน ที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ขณะเดียวกัน ยังได้ไปดูโรงเรียนชั้นนำที่บ่มเพาะเด็กหัวกะทิ อย่าง Kinkaid Lower school โรงเรียนขยายโอกาสอย่าง Neighborhood Centers รวมถึงมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่าง มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
เริ่มจากโรงเรียนในเครือ Kipp คือ Kipp Sharp และ Kipp Explore โดยทั้ง 2 โรง เปิดสอนในระดับปฐมวัย และประถมศึกษา ตั้งอยู่ในเมืองฮูสตัน ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวสเปน ดังนั้น การเรียนการสอนจึงเน้นทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาสเปนเป็นหลัก ขณะเดียวกันยังเน้นเนื้อหาสำคัญอย่างคณิตศาสตร์ สังคมศาสตร์ และการเขียน
ภาพที่เห็นได้ชัดเจนจากทั้ง 2 โรงเรียน คือ ความมีชีวิตชีวา กล้าแสดงออก แต่เป็นไปด้วยความสุภาพเรียบร้อยของเด็ก เมื่อดูลึกลงไปยังพบความจริงที่ชัดเจนอีกว่า "ครู" คือหัวใจสำคัญที่ทำให้เด็กเก่ง และกล้าแสดงออก หลักใหญ่อยู่ที่เทคนิควิธีการสอนของครูที่สามารถดึงดูดความสนใจจากนักเรียน ด้วยอุปกรณ์การเรียนการสอนที่สามารถหาได้จากรอบตัว โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากนัก
การจัดการศึกษาของที่นี่ไม่ได้เน้นที่หน้าตา รูปแบบ แต่เน้นที่ตัวสาระเนื้อหาจริงๆ มีการกำหนดเป้าหมาย ค่านิยม และกระบวนการไปสู่เป้าหมายที่ชัดเจน เช่น ค่านิยมของโรงเรียน Kipp Explore คือ BRIGHT ซึ่งขยายความมาจาก B คือ Believe, R คือ Reach, I คือ Imagine, G คือ Give, H คือ Honour และ T คือ Treat โดยเป้าหมาย และกระบวนการเหล่านี้จะถูกนำไปติดไว้ทุกจุดของโรงเรียน ตั้งแต่ประตูทางเข้า ห้องเรียน ห้องอาหาร ทางเดิน เพื่อให้เด็กได้เกิดการซึมซับ รวมถึงการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของครู จะมีความเชื่อมโยงกับค่านิยมของโรงเรียนที่กำหนดไว้ด้วย
เมื่อเข้าไปสังเกตการเรียนการสอนในห้องเรียนอย่างใกล้ชิดแล้ว จะเห็นว่ากิจกรรมการเรียนการสอนส่วนใหญ่จะกระตุ้นจินตนาการของเด็ก โดยมีครูเป็นหัวใจสำคัญ ดังนั้น ครูของที่นี่จึงต้องทำงานค่อนข้างหนัก เพราะจะต้องตื่นตัว คึกคักอยู่ตลอดเวลา ส่วนบรรยากาศในห้องเรียนก็เอื้อต่อการเติมแต่งจินตนาการ ความคิดของนักเรียน จนแทบจะไม่น่าเชื่อว่าทั้ง 2 แห่ง เป็นโรงเรียนสำหรับเด็กยากจนของที่นี่
ขณะที่ในโรงเรียน Kinkaid Lower school ซึ่งถือเป็นโรงเรียนของเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะพอสมควร แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ จะกำหนดพันธกิจของโรงเรียนที่จะต้องเน้นใน 3 เรื่องหลัก คือ ความเป็นเลิศทางการศึกษา พฤติกรรมของนักเรียน และการค้นหาศักยภาพและพัฒนาศักยภาพของเด็ก โดยที่นี่มองว่าเรื่องการศึกษา ไม่จำเป็นต้องเน้นเนื้อหาสาระวิชาการเสมอไป แต่การศึกษาหมายถึง กีฬา ดนตรี ศิลปะ ที่จะต้องผสมผสานกันอย่างลงตัว
นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดี มศว โต้โผหลักของทริปนี้ อธิบายภาพรวมของการจัดการศึกษาในสหรัฐไว้อย่างน่าสนใจว่า สหรัฐมีนักเรียนทั้งหมด 53 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 6 ของจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศ โดยที่นี่แบ่งโรงเรียนออกเป็น 3 กลุ่ม คือโรงเรียนของรัฐบาล มีนักเรียนในสังกัดถึง 88% ของเด็กทั่วประเทศ โรงเรียนที่อยู่ในเครือของศาสนาต่างๆ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มโรมันคาทอลิก 10% ที่เหลือ 1-2% เป็นโรงเรียนเอกชน สิ่งที่ได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นจากกลุ่มโรงเรียน Kipp ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนรัฐบาล แต่มี "กฎบัตร" เป็นของตนเอง โดยกลุ่มนี้จะเรียกว่า Charter School ที่รัฐจะเปิดโอกาสให้ใครก็ตามที่มีความสนใจในการจัดการศึกษา เสนอโครงการเพื่อเปิดโรงเรียน แต่ขอไม่ใช้กฎระเบียบตามแบบโรงเรียนรัฐได้ ทำให้โรงเรียนมีอิสระในการจัดหลักสูตรตามต้องการ แต่จะต้องถูกรัฐประเมินว่าสามารถจัดการศึกษาได้ดีหรือไม่ จุดเด่นคือ ทำให้โรงเรียนสังกัดรัฐอื่นๆ เกิดการตื่นตัว และพัฒนาการแข่งขันในการจัดการศึกษามากขึ้น อีกประเด็นที่เห็นชัดคือ โรงเรียนนี้จะใช้งบประมาณในการจัดการศึกษาน้อยมาก แต่กลับจัดการศึกษาได้มีคุณภาพ
"สิ่งที่ Kipp ทำให้เห็นคือ เด็กมีกิริยามารยาทเรียบร้อยมาก ซึ่งขัดกับความเชื่อของไทยที่มักบอกว่า เด็กซนเป็นเด็กฉลาด โดยโรงเรียนสาธิต มศว อยากพัฒนาให้เด็กเป็นแบบนี้ ประเด็นสำคัญอยู่ที่วิธีการสอนของครูที่จะไม่พูดอะไรในเชิงลบ เช่น ครูจะไม่พูดว่าหยุดพูด หรือหยุดซน แต่จะใช้วิธีมองตาครู สอนให้เด็กรู้จักการให้เกียรติโรงเรียน และให้เกียรติซึ่งกันและกัน"
สำหรับรูปแบบการเรียนการสอนของที่นี่กับบ้านเรานั้น อธิการบดี มศว มองว่า "อเมริกา และไทยมีปัญหาเดียวกันคือ มีจำนวนเด็กมาก แต่มีครู และงบประมาณไม่พอ จุดต่างที่เห็นชัดคือ ครูที่นี่ทำงานหนักมากกว่าของไทย ครูที่นี่ต้องตื่นตีห้าครึ่ง ถึงโรงเรียนก่อนเจ็ดโมงเช้า ไม่ออกจากโรงเรียนก่อนห้าโมงเย็น ใช้เวลาทั้งหมดเพื่อเตรียมการสอน โดยครูจะต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา รวมถึงมีระบบพี่เลี้ยงที่คอยดู และประเมินการสอนของครู ทำให้ครูเห็นจุดอ่อนจุดแข็งของตนเอง เพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาการสอนของตนเอง"
แต่หากจะมองในเรื่องของรายได้แล้ว ครูที่นี่ก็ถือว่ามีรายได้น้อยกว่าอาชีพอื่นๆ ดังนั้น เงินเดือนจึงอาจจะยังไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ครูตั้งใจสอน สิ่งที่จะต้องปรับคือ กระบวนการพัฒนา และบ่มเพาะครูของไทย ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คงต้องมองภาพรวมในการแก้ปัญหา ไม่ใช่มองเฉพาะว่าครูเงินเดือนน้อย ครูมีหนี้สินเยอะ แล้วไปเพิ่มเงินเดือนให้ครูเท่านั้น แต่อาจจะต้องดึงความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ มาร่วมการจัดการศึกษาให้มากขึ้น
เช่น อเมริกาจัดโครงการ Teach for America ที่ทำให้คนเก่ง ได้ค้นหาตัวเอง ที่เปิดโอกาสให้คนที่ไม่ได้เรียนในวิชาชีพครูสามารถเข้าอบรม เข้าไปสอนในโรงเรียน และสามารถใช้ประสบการณ์ดังกล่าวไปเรียนต่อปริญญาโทได้ โดยไม่จำกัดว่า จะต้องเรียนในสาขาด้านการศึกษาเท่านั้น ตรงนี้สามารถดึงคนเก่งที่ไม่เคยคิดจะเป็นครูให้มาเป็นครูได้พอสมควร น่าสนใจว่าถ้าเราจะแก้ปัญหาที่ซับซ้อนมากๆ จะต้องดึงความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัย ที่จะต้องมีความเชื่อมโยงกัน
ด้าน นางประพันธ์ศิริ สุเสารัจ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มศว อธิบายถึงระบบการเรียนการสอน หลังจากได้ดูงานของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดว่า จากการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้าน Teacher Learning พบว่าระบบการสอนแบบให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง หรือ Child-Centered ใช้ได้เฉพาะบางโอกาส การสอนจริงๆ ต้องใช้ Teacher-Centered หรือให้ครูเป็นศูนย์กลางไปพร้อมๆ กันด้วย โดย Child-Centered ควรจะใช้ในสถานการณ์ที่ต้องการให้เด็กได้ค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง แต่ในเรื่องของวิธีการสอน หรือเรื่องทางวิชาการจะต้องใช้ Teacher Center ควบคุมทำให้เกิดการเรียนรู้ ดังนั้น ครูที่ดีจะต้องจัดสถานการณ์ และจะต้องรู้ว่าเรื่องนี้ต้องสอนอย่างไร ขณะเดียวกันยังได้ไปดูโรงเรียนอนุบาลในสังกัดของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งกำลังก่อตั้งขึ้น โดยให้สิทธิลูกหลานของบุคลากรในมหาวิทยาลัย และชุมชนใกล้เคียงได้เข้ามาเรียน และที่นี่ยังเป็นห้องแล็บในการวิจัยเกี่ยวกับการสอนของนักศึกษาปริญญาโท ซึ่งการสอนจะต่างกับโรงเรียนในเครือ Kipp ที่สอนโดยเน้นเรื่องภาษาและคณิตศาสตร์ แต่ที่นี่สอนเล่นอย่างเดียว เพราะพยายามจะวิจัยว่าการเล่นทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีได้ โดยการเรียนรู้ลักษณะนี้ที่กำลังนิยมในประเทศแถบยุโรป ซึ่งขัดกับแนวทางที่ใช้ในประเทศสหรัฐขณะนี้
"เท่าที่ดูการเรียนแบบนี้ เด็กจะเรียนอย่างมีความสุข มีชั่วโมงกิน ชั่วโมงเล่น ชั่วโมงดนตรี จะไม่มีคำว่าชั่วโมงเขียน ชั่วโมงอ่าน แต่สิ่งเหล่านี้จะสอดแทรกเข้าไปเล็กๆ น้อยๆ ในชั่วโมงต่างๆ ถือเป็นอีกแนวคิดหนึ่ง ดังนั้น ถ้าถามว่าการศึกษาในเมืองไทย ควรจะมีทิศทางการเรียนการสอนอย่างไร ก็น่าจะต้องทำวิจัยเพื่อสรุปหาแนวทางที่เหมาะสม เพราะหากเราไปนำรูปแบบจากประเทศอื่นๆ มาทำตาม ก็ไม่แน่ใจว่าจะเหมาะสมหรือไม่ เพราะในสหรัฐเองยังมีแนวคิดการจัดการศึกษาที่แตกต่างกัน" คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มศว กล่าว
ขณะเดียวกัน ยังพบว่าสหรัฐเองก็ประสบปัญหาขาดแคลนครูเช่นเดียวกับไทย แต่มีปัจจัยที่ต่างกัน โดยในสหรัฐมีคนที่สนใจเรียนครูน้อย ดังนั้น ต้องจัดโครงการต่างๆ อาทิ โครงการ Teach for America เพื่อดึงคนเก่งมาเป็นครูโดยจัดอบรม ฝึกภาคปฏิบัติอย่างเข้มข้น และจูงใจโดยเปิดโอกาสให้ใช้ประสบการณ์ฝึกสอน เข้าเรียนต่อในระดับปริญญาโทได้ทุกสาขา แต่ประเทศไทยมีคนสนใจ และเลือกเรียนครูจำนวนมาก แต่เมื่อเรียนจบไปแล้ว กลับไม่มีอัตราบรรจุครู จำนวนครูเลยน้อย เพราะรัฐบาลไม่ให้อัตราบรรจุครู กลายเป็นปัญหาครูขาด ขณะที่เด็กที่เข้าโครงการ Teach for America จำนวนมากไม่เลือกเป็นครูต่อ แต่ไปทำอาชีพอื่น
ดังนั้น กระบวนการผลิตครูต้องเริ่มจากใจรักจริงๆ มองว่าระบบการผลิตครูของไทยน่าจะดีกว่า อเมริกาพยายามทำโครงการ Teach for America เอาคนดีๆ เก่งๆ มาเป็นครู แต่ในที่สุดหลายๆ คนก็ไม่ได้เป็นครูต่อ โดยที่อเมริกาต้องทำแบบนี้เพราะขาดแคลนครู หรือมีคนเรียนด้านการศึกษาน้อย แต่ประเทศไทยไม่ใช่ เพราะไทยมีคนอยากเป็นครู แต่อัตราที่จะบรรจุครูกลับขาดแคลน เลยบอกว่าครูขาดเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน
การได้ติดตามคณะผู้บริหาร มศว มาดูงานครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดโลกการศึกษาอีกมุม ที่ทำให้รู้ว่าแม้แต่ในประเทศที่เจริญสุดสุดอย่างอเมริกา ยังมีปัญหาการจัดการศึกษาที่หลากหลาย ทั้งรวย จน และด้อยโอกาส ซึ่งแต่ละปัญหามีวิธีการแก้ไขในรูปแบบที่ต่างๆ กัน
ที่สำคัญความเหมาะสมไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเรานำรูปแบบ หรือระบบที่ดีที่สุดของประเทศนั้น ประเทศนี้เข้ามาใช้ได้ในทันที แต่ต้องย้อนกลับมามองที่ระบบ และบริบทแวดล้อมของบ้านเราเป็นสำคัญด้วย
เพราะสิ่งที่ดีที่สุดของประเทศหนึ่ง อาจไม่ใช่สิ่งที่เหมาะกับอีกประเทศหนึ่งก็ได้...