คนแห่เรียนอินเตอร์ในไทยพุ่งกระฉูด รุกต่างจังหวัดจับนักศึกษา"ลาว-กัมพูชา"

คนแห่เรียนอินเตอร์ในไทยพุ่งกระฉูด รุกต่างจังหวัดจับนักศึกษา"ลาว-กัมพูชา"

คนแห่เรียนอินเตอร์ในไทยพุ่งกระฉูด รุกต่างจังหวัดจับนักศึกษา"ลาว-กัมพูชา"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คนแห่เรียนอินเตอร์ในไทยพุ่งกระฉูดเกือบแสนคน สร้างรายได้สะพัดกว่า 2 แสนล้านบาท กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศฮึด เตรียมจัดงานการศึกษานานาชาติของไทย หวังดึงนักศึกษากลุ่มเอเชีย-ตะวันออกกลาง ตั้งเป้าหมายไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติของอาเซียน ด้าน ร.ร.นานาชาติเริ่มบุกตลาดต่างจังหวัด โดยเฉพาะภาคอีสาน คาดจับนักเรียนจากลาว-กัมพูชา

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาระบุว่า ในปี 2553 คนไทยและต่างชาติเข้าเรียนหลักสูตรนานาชาติระดับมัธยมศึกษา 28,677 คน ขณะที่คนไทยและต่างชาติเข้าเรียนหลักสูตรนานาชาติระดับอุดมศึกษา 59,597 คน โดยรายได้จากนักเรียนหลักสูตรนานาชาติรวม 2.07 แสนล้านบาท แบ่งเป็นของระดับมัธยมศึกษาจำนวน 1.7 หมื่นล้านบาท และระดับอุดมศึกษาจำนวน 3.5 หมื่นล้านบาท

สำหรับปี 2554 นักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาระดับปริญญาตรีในไทยมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ สาธารณรัฐประชาชนจีน 4,429 คน, พม่า 805 คน และเวียดนาม 504 คน ซึ่งหลักสูตรที่นักศึกษาต่างชาติเลือกศึกษามากที่สุดคือ บริหารธุรกิจ, ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี วันที่ 22-24 ก.พ.นี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้จับมือกับสมาคมและองค์กรทางการศึกษาจากภาครัฐและเอกชน จัดงานการศึกษานานาชาติของไทยครั้งที่ 10 ที่รอยัลพารากอน ฮอลล์ มีสถาบันการศึกษาไทยทุกระดับที่มีหลักสูตรนานาชาติ, สถาบันทางวิชาชีพที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ และสถาบันการศึกษาจากต่างประเทศ รวมประมาณ 175 รายร่วมออกบูท

นายวุฒิชัย ดวงรัตน์ รองอธิบดีกรม ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การจัดงานครั้งนี้จะช่วยพัฒนาให้การศึกษานานาชาติของไทยเป็นที่รู้จักในเวทีโลกมากขึ้น โดยได้ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งถือว่ามีความเป็นไปได้ เพราะไทยมีการเรียนการสอนหลักสูตรนานาชาติทั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ซึ่งยังมีการทำ MOU กับสถาบันการศึกษาของ

ต่างประเทศ ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือมากขึ้น นักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครองจึงสามารถไว้วางใจได้

"เมื่อเทียบคุณภาพทางวิชาการกับมาเลเซีย หรือสิงคโปร์ ผมมองว่าไทยใกล้เคียงกับเขา แต่เราได้เปรียบในแง่ค่าครองชีพต่ำ ทำให้ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาถูกกว่ามาก ซึ่งเรายังมีหลักสูตรระยะสั้นและหลักสูตรวิชาชีพที่น่าสนใจหลายหลักสูตรให้ชาวต่างชาติได้เลือกเรียน เช่น การบิน, การทำอาหาร เรียกได้ว่าตอบสนองความต้องการอย่างครอบคลุม"

ทั้งนี้ ภายในงานมีการออกบูทประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลของสถาบันการศึกษา รวมถึงมีการจัดสัมมนา

เกี่ยวกับการศึกษานานาชาติในประเทศไทย และยังมีกิจกรรมพิเศษ เช่น เวทีแสดงความสามารถพิเศษของนักเรียนนักศึกษา นิทรรศการแสดงนวัตกรรมการเรียนการสอน โดยได้ตั้งเป้าหมายผู้เข้าร่วมงานประมาณ 1 หมื่นคน เพิ่มจากปีที่แล้วที่มีคนเข้าร่วมงานกว่า 7 พันคน และยังคาดหวังว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้เข้าชมงานจากประเทศกลุ่มอาเซียน เช่น จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลี, เอเชียใต้ และตะวันออกกลาง เป็นต้น

นางอุษา สมบูรณ์ นายกสมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โดยภาพรวมแล้วถือว่าธุรกิจโรงเรียนนานาชาติโตมากขึ้น เห็นได้จากเมื่อ 5 ปีที่แล้วมีประมาณ 90 แห่ง แต่ปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 133 แห่ง และคาดว่าโรงเรียนนานาชาติจะขยายไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่าง จ.ขอนแก่น จ.อุดรธานี เพราะพื้นที่ของภูมิภาคดังกล่าวอยู่ติดประเทศลาว, กัมพูชา จึงทำให้มีนักเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านหลั่งไหลเข้ามาเรียน

"เมื่อเปิดประชาคมอาเซียน แน่นอนว่าการลงทุนจากต่างชาติย่อมเข้ามาในไทย ทำให้เด็กต่างชาติเข้ามาเรียนเพิ่มขึ้นทุกระดับ ทั้งประถมศึกษา มัธยมศึกษา เชื่อว่าเมื่อถึงเวลานั้น การแข่งขันทางการตลาดจะมากขึ้น ทุกโรงเรียนน่าจะชูเรื่องคุณภาพเป็นสำคัญ เพราะผู้ปกครองอยากให้ลูกเป็น Global Citizen นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่โรงเรียนแบรนด์เนมจะเปิดแฟรนไชส์ ซึ่งถือเป็นผลดีกับเด็กได้ เพราะมีตัวเลือกเยอะกว่าเดิม ขณะเดียวกันยังมองว่าโรงเรียนนานาชาติที่เปิดโดยรัฐบาล และตั้งอยู่ในพื้นที่ตามแนวชายแดนอาจต้องปรับตัว ด้วยการสอนภาษาประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเติม เช่น ภาษาลาว, ภาษาพม่า"

จากการสำรวจของสมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย เมื่อเดือน ธ.ค. 2555 พบว่า ช่วงปี 2554-2555 นักเรียนโรงเรียนนานาชาติในไทยมี 55,342 คน แบ่งเป็นนักเรียนไทย 17,788 คน นักเรียนต่างชาติ 21,424 คน โดยนักเรียนต่างชาติที่เข้าศึกษาในไทยมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ ญี่ปุ่น, อังกฤษ, อเมริกัน, อินเดีย และเกาหลี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook