กระแส AEC สู่การเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย
การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ที่จะมาถึงในปลายปี 2558 หรือใน 2 ปีข้างหน้า ได้กลายเป็นหนึ่งในกระแสที่คนไทยให้ความสนใจมากที่สุดขณะนี้ก็ว่าได้ เห็นได้จากกิจกรรมต่าง ๆ จากทั้งภาครัฐและเอกชนมักจะเห็นคำว่า AEC ต่อท้ายชื่อกิจกรรมให้เห็นอยู่เสมอ ๆ
ในส่วนตัวของผมมองว่าปรากฏการณ์ความตื่นตัวเรื่อง AEC ของคนไทยในขณะนี้ไม่ได้เป็นแค่กระแสเท่านั้น แต่คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมในการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ โอกาสทางวิชาชีพและรูปแบบการใช้ชีวิตที่อาจจะต้องเปลี่ยนแปลง เพราะโจทย์ต่าง ๆ ที่จะวิ่งเข้ามานั้นไม่ได้คิดภายใต้ขอบเขตประเทศไทยเท่านั้นแต่จะเกี่ยวข้องกันกับคนในอีก 9 ประเทศ
กระแส AEC ได้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงที่เริ่มเห็นได้ชัดเจนเลยในวันนี้ก็คือ คนไทยเริ่มเกิดการตื่นตัวและตระหนักในเรื่องของการเรียนภาษาอังกฤษ และภาษาท้องถิ่นของประเทศในอาเซียนรวม อาทิ ภาษาพม่า ภาษาเวียดนาม รวมถึงภาษาจีนกันมากขึ้น ไล่ไปตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงระดับปริญญาโทเลยทีเดียว ในช่วง 2-3 ปีมานี้ความนิยมของ
ผู้ปกครองในการส่งบุตรหลานเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาประเภทนานาชาติหรือสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนแบบสองภาษากันมากขึ้น สถาบันการศึกษาเหล่าชั้นมียอดการสมัคร
เข้าเรียนของนักเรียนนักศึกษาเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนในระบบนานาชาติอยู่แล้วก็ได้รับอานิสงส์ในเรื่องนี้ไปกันอย่างเต็ม ๆ ส่วนสถาบันการศึกษาที่เคยเปิดสอนเฉพาะหลักสูตรภาษาไทยก็เริ่มเปิดแผนกที่เป็นนานาชาติเพิ่มขึ้น
ปรากฏการณ์ AEC ยังได้ส่งให้คนไทยรุ่นใหม่ พนักงานบริษัท เจ้าของธุรกิจ SMEs เกิดการตื่นตัวที่จะเรียนรู้ หรือการศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับ AEC กันมากขึ้น เพื่อมองหาโอกาสในการสร้างและขยายธุรกิจ ตลอดจนโอกาสใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการเปิด AEC โดยหลักสูตรเป้าหมายที่กลุ่มคนดังกล่าวจะพยายามมองหาจะเป็นหลักสูตรที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาศักยภาพของตนเองหรือองค์กร ตลอดจนสามารถตอบโจทย์ทางธุรกิจที่จะช่วยสร้างช่องทางในการแสดงหาโอกาส การมองหาโอกาส หรือแนวทางในการขยายธุรกิจหรือลู่ทางใหม่ ๆ จากประเทศในอาเซียน โดยหลักสูตรที่คนกลุ่มนี้สนใจจะเป็นหลักสูตรที่เกี่ยวกับผู้ประกอบการ หลักสูตรด้านการตลาด ตลอดจนการบริหารจัดการ ในขณะที่องค์กรขนาดใหญ่อาจจะตื่นตัวในเรื่องนี้น้อยกว่าเพราะมีกำลังสายป่าน และเงินทุนตลอดจนมีช่องทางของตนเองอยู่แล้ว บางร้านก็ขายสินค้าให้กับประเทศในอาเซียนอยู่แล้ว
นอกจากนี้เราจะเริ่มเห็นว่าธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยจะเริ่มมองหาและนำระบบ E-Commerce หรือรูปแบบการค้าผ่านอิเล็กทรอนิกส์หรืออินเทอร์เน็ตเข้ามาปรับใช้ในองค์กรมากขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการทดลองเจาะตลาด AEC เพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นการศึกษาตลาดที่ใช้ต้นทุนต่ำกว่าที่จะเข้าไปโดยตรง
ในมุมมองของนักการศึกษา ผมมองว่า AEC เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้สถาบันการศึกษาของไทยต้องเปลี่ยนแปลง พัฒนาหรือปรับปรุงหลักสูตร เพราะคนที่ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับ AEC หรืออยากจะมองหาวิธีการจัดการ หรือการมองหาโอกาสต่าง ๆ ก็จะมองมาที่สถาบันการศึกษา ดังนั้นจึงเป็นโจทย์กลับมาที่สถาบันการศึกษา ว่าเนื้อหาที่จะใช้ในการเรียนการสอนให้กับนักศึกษา
ต่อไปจะต้องเปลี่ยนจาก กรณีศึกษาของสิ่งแวดล้อมในตลาดไทย ไปสู่การศึกษาสิ่งแวดล้อมและบริบทต่าง ๆ ของประเทศเพื่อนบ้านอย่างชัดเจนมากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อม แนะนำแนวทางให้นักศึกษาได้รู้จักและเข้าใจ
วิธีคิดของประชากรในอาเซียน ก่อนที่คนกลุ่มนี้จะก้าวไปด้วยตัวเองอย่างเต็มตัว
คอลัมน์ Education ideas