นิโคเลาส์ โคเปอร์นิคัส นักดาราศาสตร์เอกของโลก
หน้าแรก Google เปลี่ยนไปอีกแล้ว โดยวันนี้เป็นภาพของหมู่มวลดวงดาวต่างๆ กำลังโคจรหมุนเวียนรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งดูแล้วสวยมาก แต่ทำไม Google ถึงให้ความสำคัญกับวันนี้ ?
นิโคเลาส์ โคเปอร์นิคัส (ละติน: Nicolaus Copernicus Torinensis; โปแลนด์: Mikołaj Kopernik) เป็นนักดาราศาสตร์ชาวโปแลนด์ (บางท่านบอกว่าเป็นชาวปรัสเซีย) เกิดเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1473 เสียชีวิต 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1543 โคเปอร์นิคัสเป็นนักดาราศาสตร์ที่เปลี่ยนโฉมความรู้ของมวลมนุษย์ ด้วยการเสนอทฤษฎีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง ซึ่งขัดกับทฤษฎีโลกเป็นศูนย์กลางของอริสโตเติลและทอเลมี โดยนักวิทยาศาสตร์ทั่วไป ถือว่าการเสนอทฤษฎีนี้ เป็นการปฏิวัติทางความรู้ครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ เทียบเท่ากับการเสนอทฤษฎีวิวัฒนาการของชาลส์ ดาร์วิน
การปฏิวัติทางดาราศาสตร์ของโคเปอร์นิคัส
ในเวลานั้นโคเปอร์นิคัสได้เสนอให้ดวงอาทิตย์เป็นจุดศูนย์กลางของจักรวาลแทนโลกในแนวความคิดเดิม โดยให้ดาวเคราะห์ต่างๆ เช่น โลก ดาวศุกร์ หรือ ดาวพุธ โคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงกลม (ในเวลาต่อมาโยฮันเนส เคปเลอร์ได้เสนอว่าควรเป็นวงรีดั่งโมเดลในปัจจุบัน) ถึงแม้ว่าความแม่นยำในการทำนายด้วยทฤษฎีของโคเปอร์นิคัสนั้นไม่ได้ดีกว่าทฤษฎีเก่าของอริสโตเติลและทอเลมีเลย (ไม่ได้ให้ผลการทำนายตำแหน่งของดวงดาวต่างๆ แม่นยำกว่าทฤษฎีเก่า) แต่ว่าทฤษฎีนี้ ถูกใจนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังในยุคนั้นหลายคน เช่น เดส์การตส์ กาลิเลโอ และเคปเลอร์ เนื่องจากว่าทฤษฎีของโคเปอร์นิคัสนั้นเข้าใจง่ายและซับซ้อนน้อยกว่ามาก โดยกาลิเลโอกล่าวว่าเขาเชื่อว่ากฎต่างๆ ในธรรมชาติน่าจะเป็นอะไรที่สวยงามและเรียบง่าย ทฤษฎีโลกเป็นศูนย์กลางดูซับซ้อนมากเกินไปจนไม่น่าเป็นไปได้ (ดูทฤษฎีความอลวนเพิ่มเติม) แนวคิดของกาลิเลโอนี้ ตรงกับหลักการของออคแคม (Ockham's/Occam's razor) ในปรัชญาวิทยาศาสตร์ ซึ่งถูกนำมาประยุกต์ใช้ในงานวิจัยด้านการเรียนรู้ของเครื่องในปัจจุบัน
เกียรติยศ
โคเปอร์นิคัสได้รับเกียรติจากประเทศโปแลนด์ ให้เป็นชื่อมหาวิทยาลัยในเมืองทอรูน ตั้งในปี ค.ศ. 1945 ได้รับการตั้งชื่อ ชื่อของเขาเป็นชื่อธาตุตัวที่ 112 ที่ IUPAC ได้ประกาศไป
นิโคเลาส์ โคเปอร์นิคัส
เกิด 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1473 เมืองโทรุน ประเทศโปแลนด์
เสียชีวิต 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1543 เมืองฟรอมบอร์ก ประเทศโปแลนด์
สัญชาติ ชาวโปแลนด์
อาชีพ นักคณิตศาสตร์ นักดาราศาสตร์
รู้จักในสถานะ ทฤษฎีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของสุริยจักรวาล