12 วิธีเลี้ยงลูกให้ดี มี EQ สูง

12 วิธีเลี้ยงลูกให้ดี มี EQ สูง

12 วิธีเลี้ยงลูกให้ดี มี EQ สูง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เราจะมาคุยกันด้วยเรื่อง "จะเลี้ยงลูกให้มี E.Q.สูงได้อย่างไร" กันนะคะ เรื่องของ E.Q.นั้น เราสามารถสร้างเสริมให้ลูกได้ทั้งสิ้น ลองมาดูกันเลยค่ะ ว่า12 วิธีเลี้ยงลูกให้ดี... E.Q.สูง มีอะไรกันบ้าง

1. ให้ความรัก เป็นข้อแรกที่สำคัญมากและไม่เพียงแต่ให้ความรักเท่านั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องแสดงออกอย่างเหมาะสมอีกด้วย บางคนรักลูกแต่ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงความรักออกมาให้ลูกเห็นเลย การยิ้มให้ การสัมผัส การกอด โอบไหล่ ล้วนแล้วแต่เป็นภาษากายซึ่งบ่งบอกถึงความรักได้เป็นอย่างดี

2. ครอบครัวมีสุข คือ การที่คุณพ่อและคุณแม่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และรวมถึงการมีทัศนคติ ความคิดเห็นในการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนลูกไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ขัดแย้งกัน หรือถ้ามีความขัดแย้งบ้างก็จะมีการพูดคุยกัน ตกลงกันให้เป็นทิศทางเดียวกันคือเป็นทีมเดียวกันนั่นเอง ผมขอยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ขัดกันเองในการวางกฎเกณฑ์ มีครอบครัวหนึ่งลูกอายุประมาณ 2-3 ขวบ ร้องไห้เพราะอยากเล่นลิปติกของแม่ ผู้หญิงทั้งหลายคงทราบดีว่าที่คุณแม่ไม่ยอมให้ลูกเล่นเพราะลิปติกจะหักเสียหาย แต่เวลาอยู่กับพ่อ พ่ออนุญาติให้ลูกเล่นได้หรือพ่อเห็นลูกร้องไห้ ก็ต่อว่าแม่ต่อหน้าลูกว่า "เรื่องแค่นี้เอง ก็ให้ลูกเล่นไปสิ" เด็กเองก็จะสับสน ไม่เข้าใจกฎเกณฑ์ว่าเรื่องนี้ควรทำหรือไม่ควรทำ ดังนั้นผู้ใหญ่จึงควรตกลงกันด้วยเหตุผลให้เรียบร้อยก่อน จะได้ควบคุมเด็กให้ไปในทิศทางเดียวกัน

3.มีความรู้ความเข้าใจในพัฒนาการของลูก จะทำให้เราเข้าใจและปฏิบัติต่อลูกได้ถูกต้องและเหมาะสม ท่านผู้อ่านเชื่อหรือไม่ครับว่าพัฒนาการไม่ได้หยุดหรือหมดไปเมื่อพ้นวัยอนุบาล แต่มีต่อเนื่องโดยเฉพาะช่วงวัยรุ่นก็มีพัฒนาการของวัย และสำคัญมากด้วยน่าเสียดายที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนปฏิบัติต่อลูกที่เข้าวัยรุ่นแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์เพราะคิดว่าลูกเหมือนก็เมื่อ2-3 ปีก่อน ยกตัวอย่างเช่น คุณพ่อคุณแม่บางคนอยากรู้เรื่องของลูกก็ใช้วิธีแอบฟังโทรศัพท์เวลาลูกคุยกับเพื่อน แอบเปิดค้นกระเป๋า แอบดูไดอารี่ สมุดบันทึกของลูก เกือบร้อยทั้งร้อยครับที่ลูกวัยรุ่นจะโกรธเป็นอย่างมาก เพราะไปกระทบกับพัฒนาการของวัยรุ่นที่สำคัญมากคือความเป็นส่วนตัว (Privacy) เห็นรึยังครับว่าถ้าคุณพ่อคุณแม่มีความรู้ความเข้าใจพัฒนาการของลูกจะช่วยให้เราปฏิบัติต่อเขาได้เหมาะสมอย่างไร

4.คุณพ่อคุณแม่ควรมีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูลูกให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตัวอย่างเช่นบางครอบครัว พ่อแม่ต้องทำงานทั้งคู่จึงจำเป็นต้องจ้างพี่เลี้ยงดูแลช่วงกลางวัน แต่คุณพ่อคุณแม่บางคนเลิกงานกลับมา บ้านแล้ว เหนี่อย กลางคืนก็ ฝากพี่เลี้ยงดูแลอีกควรอยู่ใกล้ชิดลูกมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่างน้อยช่วงกลางคืนจะได้มีประสบการณ์ได้รับรู้ความรู้สึกของการตื่นมาให้นมลูกเวลาลูกร้องกลางคืน ได้โอบกอดและปลอบให้เขาหลับต่อ เมื่อได้รู้จักจะยิ่งรักและเข้าใจในตัวลูก

5.สร้างเสริมความภาคภูมิใจในตัวเองหรือความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า (self esteem) ให้ลูก นั่นหมายถึงเมื่อลูกทำดีหรือประสบความสำเร็จ คุณพ่อคุณแม่ต้องชม เมื่อเขาท้อแท้ก็ให้กำลังใจ บางคนบอกว่าชมมากเดี๋ยวเหลิง ไม่ต้องกลัวครับ การชมอย่างถูกต้อง สมเหตสมุผลไม่มีผลเสียแน่นอน จะช่วยให้เด็กมีความภาคภูมิใจในตัวเองซึ่งมีค่าต่อเด็กมากค่ะ

6.ให้อิสระและโอกาสในการตัดสินใจกับลูก จะช่วยให้ลูกมีความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิดกล้าทำ ไม่พยายามบังคับความคิดลูก (ถ้าเรื่องนั้นไม่ใช่เรื่องของกฎเกณฑ์ ระเบียบวินัยนะคะ)

7.สอนลูกให้รู้จักรักและดูแลตนเองเช่นเดียวกันกับผู้อื่น ซึ่งข้อนี้ก็คือส่วนสำคัญข้อหนึ่งของ E.Q.ดังที่ได้คุยกันไปแล้ว ซึ่งรวมไปถึงการสอนลูกให้รู้สึกเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ผู้อื่นด้วย เช่นการที่คุณพ่อคุณแม่บางคนพาลูกไปให้ของเด็กพิการ ตามสถานสงเคราะห์หรือให้ผู้สูงอายุที่บ้านพักคนชรา

8.ส่งเสริมให้ลูกรู้จักคิดด้วยหลักการและเหตุผล โดยส่งเสริมทั้งในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันและเรื่องสำคัญๆ ด้วย ตัวอย่างถ้าลูกอยากจะซื้อของเล่น ของใช้ที่แพงๆ หรือเป็นของที่มีอยู่แล้วก็สอนให้ลูกรู้จักใช้หลักการและ้เหตุผลว่าควรซื้อหรือไม่ควรซื้อเพราะอะไร

9.สอนลูกให้รู้จักการผ่อนคลายและหาความสุขให้ตัวเองด้วย ข้อนี้ก็มีความสำคัญมากครับเพราะเด็กหลายคนที่เก่ง ประสบความสำเร็จในการเรียน กีฬา แต่ไม่มีความสุข เนื่องจากเครียดอยู่ตลอดเวลาในการที่จะรักษาความเก่งของตัวเองไว้ให้ได้ตลอดไปหรือให้เก่งมากขึ้นเพื่อเอาชนะคนอื่น

10.เป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูก (modeling) คุณพ่อคุณแม่เป็นตัวอย่างให้ลูกทำสิ่งดีๆตามลูกจะเรียนรู้โดยอัตโนมัติแทบไม่ต้องพูดสอนเลย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือนิสัยรักการอ่าน ส่วนหนึ่งเกิดจากพ่อแม่เป็นแบบอย่าง เช่นอยู่บ้านว่างๆก็หยิบหนังสือมาอ่าน ชอบที่จะอ่านนิทานให้ลูกฟัง พูดคุยกับลูกถึงเรื่องในหนังสือที่อ่าน ไปเที่ยวห้างสรรพสินค้าก็มักแวะเข้าร้านหนังสือบ่อยๆ แบบนี้ลูกก็มักจะติดนิสัยรักการอ่านหนังสือไปโดยไม่รู้ตัว ผมมีอีกตัวอย่างหนึ่งคือการฝึกให้ลูกรู้จักช่วยเหลือตัวเองและรับผิดชอบเช่นหลังกินข้าวเสร็จ ถึงแม้ว่าจะมีคนงานที่บ้านก็ควรจะยกจานที่ทานเสร็จแล้ว ช่วยเขี่ยเศษอาหารใส่ถังขยะแล้ววางบนอ่างล้างจานในบ้าน(ให้คนงานล้างต่อไป) คุณพ่อคุณแม่ควรทำเป็นตัวอย่าง ลูกเห็นก็อยากทำตาม แล้วยังสอนการมีน้ำใจต่อคนงานอีกด้วย ท่านผู้อ่านลองนึกภาพนะคะ ว่าถ้าพ่อแม่ไม่ทำเป็นตัวอย่าง กินตรงไหนเสร็จแล้วก็ลุกออกไป ให้คนงานมาตามคอยเก็บ แต่สั่งให้ลูกทำลูกจะคิดอย่างไร

11.กฎเกณฑ์ ระเบียบวินัย พบว่าเด็กที่ E.Q. ดี มักอยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่ให้ความรักความเข้าใจ ในขณะเดียวกันก็สอนรู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร และควบคุมเรื่องของกฎเกณฑ์ระเบียบวินัยในลักษณะของทางสายกลางตามหลักพระพุทธศาสนา ไม่ควบคุมมากเกินไปหรือน้อยเกินไป เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญและมีรายละเอียดมากค่ะ นอกจาก 11 วิธีนี้แล้ว ท่านผู้อ่านทราบไหมคะ มีอีกสิ่งหนึ่งซึ่งสำคัญมากต่อ E.Q. ของลูก มีอิทธิพลต่อเด็กมาก แต่เรามักไม่ค่อยนึกถึง ทราบไหมครับว่าคืออะไร ระบบการศึกษาไงครับ

12.ระบบการศึกษา เราคงเคยได้ยินคำพูดที่ว่าการศึกษาสร้างคน เห็นด้วยใช่ไหมค่ะ ว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากและมีผลต่อ E.Q.ของลูกด้วย จะมีประโยชน์มากค่ะ หากเราจะทำความเข้าใจกับระบบการศึกษาและกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก

ขอบคุณที่มา : นพ.กมล แสงทองศรีกมล กุมารแพทย์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook