ทางลัดสู่ "เถ้าแก่น้อย" "เด็กช่าง" สร้างชาติ

ทางลัดสู่ "เถ้าแก่น้อย" "เด็กช่าง" สร้างชาติ

ทางลัดสู่ "เถ้าแก่น้อย" "เด็กช่าง" สร้างชาติ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

บนเวทีสัมมนา อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล, ถาวร ชลัษเฐียร และ สุรนุช ธงศิลา (จากซ้าย คนที่ 2-3 ตามลำดับ)

เพราะการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กไทย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาที่ใครๆ ก็พูดกันถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าร่วมเป็นประชาคมอาเซียน นอกจากความตื่นตัวในเรื่องการใช้ภาษาแล้ว นี่ยังเป็นโอกาสที่เปิดกว้างสำหรับบุคลากรด้านงานช่างงานฝีมือที่จะเกิดขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก

ปัจจุบัน ด้วยค่านิยมของสังคมยังยึดติดกับภาพลักษณ์ว่า คนที่จบปริญญาตรี-มีงานทำ มีเงินเดือนสูง มีหน้ามีตา มีความก้าวหน้าในอาชีพการงาน และคนที่เรียนสายอาชีพต้องทะเลาะวิวาทกัน

แต่ข่าวตีกันข้ามสถาบัน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เพราะในความเป็นจริง มีเด็กช่างฝีมือดีมากมาย แต่ไม่ค่อยปรากฏเป็นข่าวเท่าใดนัก จึงเกิดปรากฏการณ์ขาดแคลนบุคลากรทางการช่างที่มีฝีมือดีอย่างมาก

สวนทางกับความจริง ที่มีบัณฑิตจบใหม่บางสาขาตกงานเป็นจำนวนมาก !

ดร.อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล ประธานกรรมการการอาชีวศึกษา บอกว่า วันนี้เรื่องของการศึกษาสำหรับคนเป็นพ่อแม่และเด็กเองเมื่อถึงจุดหนึ่งต้องตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรดี บางคนก็มองว่า เด็กช่างตีกัน บ้างมองว่า ถ้าไม่จบปริญญาตรีไม่เท่ ทางสำนักงานอาชีวะวันนี้จึงต้องเน้นที่การสร้างความเข้าใจแก่เด็ก เพราะอาชีพที่จบออกมาแล้วมีโอกาสมีงานทำคือ สายอาชีพ

"ประเทศเราขณะนี้มีความต้องการเด็กสายอาชีพเยอะมาก และรายได้ก็ไม่ได้แพ้คนจบปริญญาตรี และยิ่งมีความเชี่ยวชาญสูงบางสายรายได้เป็นแสนบาท โดยเฉพาะในสายพลังงาน

"แต่ข้อเท็จจริงคือ วันนี้คน 60% เมื่อต้องตัดสินใจเลือกเรียน จะเลือกเรียนสายสามัญ สิ่งที่ทางสำนักงานจึงต้องเน้นที่การปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ วันนี้โอกาสที่จะมีงานทำมีแน่นอน ประเทศไทยเรามีความต้องการแรงงานสูงมาก ประเทศในเออีซีก็ยังขาดแรงงานจำนวนมากก็ยังมาขอความช่วยเหลือจากเราเลย ผู้ประกอบการเองก็มาร่วมกับภาครัฐมากขึ้น ทำให้นักศึกษานอกจากมีความรู้ความเชี่ยวชาญแล้ว ยังมีโอกาสลงมือปฏิบัติด้วย ทำให้ความสามารถของเด็กเราพัฒนามากยิ่งขึ้น"

สำหรับผู้ที่มองว่าเรียนสายอาชีพมีวุฒิด้อยกว่าสายสามัญ ดร.อนุสรณ์บอกว่า "แม้จะเรียนมาในสายอาชีพ แต่ก็สามารถไปเรียนต่อในระดับปริญญาตรีได้อีก ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้คนเรียนสายอาชีพมาได้เปรียบกว่าเรียนสามัญ เพราะมีประสบการณ์ในภาคปฏิบัติมากกว่า"

ทางด้าน ถาวร ชลัษเฐียร รองเลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย งานสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ ยกตัวอย่างการเติบโตภาคอุตสาหกรรมในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยยกตัวอย่างเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้วผลิตรถยนต์แค่ 400,000 คัน แต่เมื่อ 31 ธันวาคมที่ผ่านมา ยอดตัวเลขคือ 2,453,717 คัน

ปีที่แล้วเราส่งออกเฉพาะรถยนต์ 1,010,000 คัน มูลค่าการส่งออกแค่ชิ้นส่วนรถยนต์เท่ากับ 1,010,000 ล้านล้านบาท โดยที่เราวางเป้าหมายว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะส่งออก 3.5 ล้านคัน แต่ผมวางที่ 4 ล้านคันในปี 2563

ถาวรบอกอีกว่า ตอนนี้วิศวกรเรามีพอ แต่เรายังต้องการช่างเทคนิคอีกมาก เพราะวันนี้ความต้องการมันกลับด้านกัน จากเดิมที่ให้ความสำคัญกับ "ความรู้" (K-Knowledge) มากกว่า "ความชำนาญ" (S-Skill) วันนี้ความชำนาญเป็นสิ่งที่สำคัญที่ยิ่งกว่า นอกจากนี้ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ "ประสบการณ์"

"วันนี้ถ้าเราคิดว่าประเทศเราจะเข้าสู่อาเซียน เราขาดช่างเหล่านี้ไม่ได้ อีก 10 ปีข้างหน้าช่างเหล่านี้ยิ่งขาดไม่ได้ และที่อยากจะบอกคือ แต่เดิมที่มองกันว่าเด็กที่เรียนไม่เก่งให้มาเรียนสายอาชีพนั้น ถ้าเด็กที่เรียนเก่งมาเรียนสายอาชีพ ปวช. ปวส. แล้วค่อยต่อสายสามัญ-ปริญญาตรี จะยิ่งได้เปรียบมากกว่าเรียนสายสามัญโดยตรง เพราะมีความชำนาญเป็นพื้นฐาน ที่สำคัญคือ โอกาสที่จะค้นหาตนเองพบและก้าวไปเป็นเถ้าแก่น้อยยิ่งมีมากขึ้น"

รองเลขาฯสภาอุตสาหกรรม บอกอีกว่า เด็กอายุ 15-16 ปี เป็นวัยที่มีพลังสูงมาก ฉะนั้น การจะควบคุมพลังเหล่านั้นไว้ได้ควรหากิจกรรม หาเวทีให้แสดงความสามารถทางด้านงานช่าง ให้เขาเกิดความภาคภูมิใจ ซึ่งที่ผ่านมามีเยาวชนไทยไปชนะรางวัลการแข่งขันด้านฝีมือแรงงานระดับโลกมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนด้านการศึกษาตามพันธกิจของมูลนิธิเอสซีจี ซึ่งมุ่งมั่นในแนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในทุกช่วงวัย ปีนี้มูลนิธิเปิดตัวโครงการ "เด็กช่าง สร้างชาติ" เพื่อมอบโอกาสทางด้านการศึกษาให้แก่เยาวชนที่จบชั้นมัธยม 3 และศึกษาต่อในระดับ ปวช.สาขาช่างอุตสาหกรรม

สุรนุช ธงศิลา กรรมการผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี เล่าให้ฟังว่า เอสซีจีทำเรื่องของการศึกษามานาน โดยเฉพาะโครงการที่ทำกับน้องๆ ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ปีหนึ่งใช้งบประมาณ 40-50 ล้านบาท ส่งเสริมด้านการศึกษากระทั่งจบปริญญาตรีในกรณีที่สามารถเรียนได้

ที่ผ่านมา เวลาที่เราพูดถึงเด็กๆ กลุ่มด้อยโอกาส เรามักหมายถึงเด็กที่เรียนเก่ง แต่ยากจน ซึ่งจริงๆ แล้วยังมีน้องที่เรียนไม่เก่ง ยากจน แต่อยากเรียนเหมือนกัน ขณะเดียวกันเราก็มานั่งนึกว่า ที่ว่า สิ่งที่เราบอกว่า "ช่วย" นั้นช่วยจริงหรือ เพราะแม้จบปริญญาตรี แต่มีบางสาขาที่หางานยาก ขณะที่งานสายช่างนั้นยังมีความต้องการอีกมาก เราจึงหันมาให้การสนับสนุนทางสายอาชีพมากขึ้น ซึ่งเป็นที่มาของ "เด็กช่าง สร้างชาติ"

"เด็กช่าง สร้างชาติ" เป็นหนึ่งในโครงการเอสซีจี แชริ่ง เดอะ ดรีม โดยมูลนิธิเปิดโอกาสให้นักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์การคัดเลือกและสามารถศึกษาต่อในระดับ ปวช. สาขาช่างอุตสาหกรรมได้ มีสิทธิขอรับทุนสนับสนุนการศึกษา "เด็กช่าง สร้างชาติ" ซึ่งนอกจากจะเป็นทุนให้เปล่า ไม่มีภาระผูกพัน ไม่ต้องใช้คืนแล้ว ยังเป็นทุนต่อเนื่องไปจนสำเร็จการศึกษาระดับ ปวส. สาขาช่างอุตสาหกรรมอีกด้วย

เปิดรับสมัครขอรับทุนได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2556 สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดใบสมัครและหลักเกณฑ์การสมัครได้ที่ www.scgfoundation.org สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-2586-3446 หรือ 0-2586-2110

สุรนุชบอกว่า การศึกษานั้นมีหลากหลาย การเรียนสายอาชีพนั้นเป็นอีกตัวเลือกที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนเพิ่มพูนความรู้ ได้พัฒนาฝีมือและทักษะความจำเป็นต่อการสร้างช่องทางอาชีพ เมื่อจบแล้วมีโอกาสได้ก้าวสู่สนามการทำงานจริงได้เลย

"มีคนบอกว่า ถ้าเรียนไม่เก่งต้องมาเรียนอาชีวะ จริงๆ แล้วคนที่มาเรียนอาชีวะแล้วกลายเป็นคนเก่งก็มีมาก เพราะสิ่งสำคัญนั้นไม่ใช่เรื่องของความรู้ แต่เป็นเรื่องของฝีมือมากกว่า ที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานพยายามผลักดันทางด้านนี้ แต่ก็ยังไม่เป็นที่เห็นกันมากนัก

"การที่มูลนิธิเอสซีจีให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียน 500 ทุน จริงๆ แล้วไม่มาก แต่เราอยากให้ทัศนคติเรื่องนี้เป็นไปในทางที่ถูกต้อง"

โดย รัตนภูมิ สีวิเศษ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook