กลัวเด็กเครียด! สพฐ.เล็งลดเวลาเรียน-การบ้าน เพิ่มกิจกรรมนอกห้องแทน
สพฐ. เตรียมลดชั่วโมงเรียนในชั้นเรียนโดย หันไปทำกิจกรรมนอกห้องเรียนมากขึ้น ประเดิมปีการศึกษา 2556 นี้ รวมถึงลดจำนวนการบ้าน ประเภทแก้โจทย์ปัญหาเนื่องจากมีความซับซ้อนมากเกินไป และจะทำให้เด็กเกิดความเครียดได้
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ กพฐ. เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. มีนโยบายจะปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานปรับโครงสร้างเวลาเรียน และปรับลดจำนวนการบ้านที่นักเรียนได้รับ หลังจากศึกษาเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ อาทิ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษและแคนาดา
ทั้งนี้ สพฐ.ได้ตัดสินใจปรับโครงสร้างเวลาเรียนใหม่ทุกระดับตั้งแต่ระดับประถมต้น ประถมปลาย มัธยมต้นและมัธยมปลาย แต่จำนวนชั่วโมงเรียนต่อปี ต่อสัปดาห์ หรือต่อวัน ยังคงเท่าเดิมตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตร เพียงแต่จะลดจำนวนชั่วโมงเรียนในชั้นเรียนลง โดยเอาเวลาไปทำกิจกรรมนอกห้องเรียนให้มากขึ้น ซึ่งวิธีการดังกล่าวสามารถทำได้โดยไม่ส่งผลกระทบ หากครูใช้การเรียนการสอนแบบบูรณาการ
นอกจากนี้ จะปรับสัดส่วนการเรียนวิชาต่างๆ ของนักเรียนแต่ละระดับชั้นด้วย จากเดิมที่ให้สัดส่วนเวลาเรียนทุกวิชาเท่าๆ กัน ก็จะเปลี่ยนไปเน้นให้ตรงตามวัย โดยระดับประถมต้น ป.1 -ป.2 จะเน้นเรียนรู้ทักษะด้านภาษาเป็นหลัก จนถึงระดับประถมปลายจึงจะเพิ่มเติมทักษะด้านการคิดคำนวณ ส่วนระดับมัธยมต้นจะเพิ่มเติมทักษะในการแสวงหาความรู้ให้กับเด็ก และมัธยมปลาย จะเน้นให้เด็กนำความรู้ที่เรียนมาประยุกต์ใช้ได้
นายชินภัทร กล่าวว่า สำหรับเรื่องการปรับลดให้การบ้านนั้น สพฐ.ได้ศึกษาและพบว่า การบ้านบางประเภท ไม่เหมาะสมที่จะให้นักเรียนกลับไปทำที่บ้าน เช่น การบ้านประเภทแก้โจทย์ปัญหา หรือ Problem Solving เนื่องจากมีความซับซ้อนและยากเกินกว่าที่เด็กจะทำได้โดยลำพัง กลายเป็นการสร้างความเครียดให้เด็ก ในต่างประเทศนั้น การบ้านประเภทนี้จะให้นักเรียนทำที่โรงเรียนโดยมีครูเป็นพี่เลี้ยง และเปิดโอกาสให้เกิดการถกเถียงกันในการแก้โจทย์ปัญหา ส่วนการบ้านบางประเภทยังมีความสำคัญอยู่ เช่น การบ้านประเภททบทวนและเพิ่มความชำนาญ ดังนั้นจะมีการทบทวนเรื่องการให้การบ้านเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
ผู้สื่อข่าว : กมลวรรณ มีปิ่น
ข่าวจริง สปริงนิวส์ ทันเหตุการณ์ เห็นอนาคต