"แบล็คเบอร์รี่" เปิดค่ายปลุกไอเดีย สอนเด็กใช้นวัตกรรมแก้ปัญหา
นับเป็นครั้งแรกสำหรับประเทศไทยที่แบรนด์ "แบล็คเบอร์รี่" ร่วมกับมูลนิธิสร้างสรรค์เยาวชนไทย (Junior Achievement Thailand) จัดแคมป์อบรมด้านนวัตกรรม "ScienceTechnology Engineering and Mathematics Innovation" หรือ STEM เวทีแห่งการเรียนรู้ระดับโลกที่วันนี้พร้อมเปิดโอกาสให้เด็กไทยได้แสดงศักยภาพความสามารถและความคิดในเชิงนวัตกรรม
โดยการริเริ่มจัดแคมป์อบรมด้านนวัตกรรมดังกล่าว เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างแบล็คเบอร์รี่ และมูลนิธิสร้างสรรค์เยาวชน-ยังเอ็นเตอร์ไพรส์ ยุโรป (JA-YE Europe) เพื่อจุดประกายให้นักเรียน อายุระหว่าง 15-19 ปี หันมาให้ความสนใจการประกอบอาชีพในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์
"คารีน่า โอกอร์แมน" ผู้จัดการด้านชุมชนสัมพันธ์ ประจำภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา และภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ของแบล็คเบอร์รี่ บอกว่า เรามีความร่วมมือในลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นในประเทศทั่วโลก ใน 14 ประเทศ ได้แก่ อิตาลี สเปน สวีเดน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไนจีเรีย แอฟริกาใต้ เม็กซิโก โคลอมเบีย อาร์เจนตินา มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย และจีน ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ได้โฟกัสที่จะพัฒนาเด็กไทยเช่นเดียวกับทั่วโลก ซึ่งคาดว่าจะมีนักเรียนทั่วโลกเข้าร่วมประมาณ 1 พันคน
"ทั้ง 14 ประเทศจะมีการจัดแคมป์อบรมนวัตกรรมในมาตรฐานเดียวกัน คือเราจะเปิดโอกาสให้นักเรียนเข้าร่วมอบรม
เกี่ยวกับความท้าทายของการประกอบอาชีพในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ พร้อมแนะนำต้นแบบของอุตสาหกรรม อาสาสมัครผู้เชี่ยวชาญจากแบล็คเบอร์รี่เป็นผู้ให้คำแนะนำ จากนั้นเราจะส่งเสริมให้ใช้ความคิดด้านการบริหารจัดการ ด้วยการแก้ปัญหาจากโจทย์การแข่งขัน โดยแต่ละประเทศจะต้องเลือก 1 ใน 3 โจทย์ที่เรากำหนด"
โดยโจทย์ที่ว่า ได้แก่
1.เมื่อเกิดปัญหาขึ้นในชุมชน คุณจะนำเทคโนโลยีเข้าช่วยเหลือชุมชนได้อย่างไร
2.ออกแบบให้ช่องทาง Mobile Application ได้ใช้ประโยชน์ทางการศึกษา
และ 3.หากสมมติให้คุณเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะมีนโยบายกระตุ้นการส่งเสริมให้เยาวชนมีความตื่นตัวและสนใจในอุตสาหกรรมได้อย่างไร
ขณะที่ "ม.ล.ปริยดา ดิศกุล" ผู้อำนวยการมูลนิธิสร้างสรรค์เยาวชนไทย เล่ารายละเอียดเกี่ยวกับกิจกรรมดังกล่าวในประเทศไทยว่า สำหรับเด็กไทย ได้รับความร่วมมือจากนักเรียนเข้าร่วมแคมป์ถึง 100 คน จาก 10 โรงเรียนชั้นนำในเขตกรุงเทพฯ โดยทีมผู้ชนะเลือกใช้โจทย์ข้อที่สาม ในเรื่องการส่งเสริมนโยบายการศึกษา ที่จะกระตุ้นให้เด็กสนใจอุตสาหกรรมอย่างไร
ซึ่งทีมผู้ชนะเลิศมีไอเดียในการจัดทำเวิร์กช็อปอบรมบุคลากรครูอาจารย์ โดยนักเรียนมีความคิดเห็นว่าครูผู้สอนควรมีการพัฒนาทักษะการสอนของตนเองและนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนให้แก่นักเรียน ซึ่งมีจุดเด่นที่ต้องการจะสร้างความแตกต่างให้
กับทีมผู้ชนะจากทีมอื่น ๆ คือไอเดียในการหันไปให้ความสำคัญของการแก้โจทย์ที่กลุ่มบุคลากรครูอาจารย์ แทนที่จะมุ่งไปที่กลุ่มนักเรียน
"จะเห็นว่าหากเรามีเวทีให้เขาได้แสดงศักยภาพแล้ว เราก็จะสามารถสร้างเยาวชนไทยให้คิดนอกกรอบและสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ในปัจจุบัน"
โดยหลังจากนี้ทีมผู้ชนะจะต้องเข้าแข่งขันกับทีมผู้ชนะประเทศอื่นทั้ง 14 ประเทศทั่วโลก โดยเราจะใช้ระบบออนไลน์ในการแข่งขันตอบโจทย์เชิงนวัตกรรมที่เรากำหนดขึ้นในรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 13 มิถุนายน 2556 พร้อมกันทั่วโลก
การเชื่อมโยงกันของธุรกิจและการศึกษาแบบนี้ จะช่วยให้นักเรียนสามารถพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพ และยังสามารถนำความรู้ด้านวิชาการมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง