ปีนี้รับนักเรียนม.1น้อยลง! แต่เลขาฯ สพฐ.ยันไม่กระทบเด็ก
เลขาธิการ สพฐ.ยืนยันปรับลดสัดส่วนเข้า ม.1 ไม่ส่งผลกระทบเด็กแน่นอน แต่ละโรงเรียนปรับลดตามความเหมาะสม ย้ำให้เด็ก ม.3 ที่ผลการเรียน 2.00 เข้าเรียน ม.4 อัตโนมัติ
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงการปรับลดสัดส่วนการรับนักเรียน ม.1 น้อยลงกว่าทุกปี โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีอัตราแข่งขันสูงว่า นโยบายดังกล่าวเป็นไปตามคำสั่ง สพฐ.ที่มีนโยบายให้ลดสัดส่วนห้องเรียน ม.ต้น เพิ่มสัดส่วนห้องเรียน ม.ปลาย เพื่อให้โรงเรียนสามารถรับนักเรียนที่จบ ม.3 เรียนต่อ ม.4 โรงเรียนเดิมให้มากที่สุด เป็นการให้โอกาสเด็กและลดปัญหาการประท้วงที่เคยเกิดขึ้น ที่ผ่านมาการรับนักเรียน ม.4 กลายเป็นปัญหาคอขวดมาโดยตลอด ซึ่งการจะเพิ่มหรือลดเท่าไรนั้น สพฐ.ไม่ได้บังคับแต่ขึ้นอยู่กับผู้บริหารโรงเรียนปรับลดหรือเพิ่มตามความเหมาะสม และได้กำชับให้เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) และโรงเรียนวางแผนรับสภาพปัญหาต่างๆ และแก้ไขโดยเร็ว
นายชินภัทร กล่าวต่อว่า อีกหนึ่งทางแก้ให้นักเรียนที่พลาดหวัง คือ ให้โรงเรียนที่มีอัตราแข่งขันสูงลงนามสัญญาร่วมกับโรงเรียนใกล้เคียง เช่น รร.สังกัด กทม.ที่มีการพัฒนาศักยภาพโรงเรียนต่อเนื่อง มารองรับเด็กกลุ่มที่พลาดหวัง ส่วนกรณีผู้ปกครองอาจจะไม่ยอมรับการย้ายนักเรียนไปเรียนที่อื่นนั้น ก็เป็นเรื่องที่เขตพื้นที่การศึกษา จะต้องชี้แจงทำความเข้าใจ เพราะ สพฐ.ได้วางหลักเกณฑ์กลางไว้โดยพยายามผ่อนผันอย่างดีที่สุดแล้ว แต่อาจมีข้อจำกัดบ้าง ซึ่งก็ต้องยอมรับในจุดนี้ด้วย สำหรับการรับบริจาคจากผู้ปกครองนั้น ในช่วงที่มีการสอบเข้าเรียนห้ามไม่ให้บริจาคเด็ดขาด หากมีข้อร้องเรียน หรือได้รับเบาะแสจะดำเนินการเอาผิดถึงที่สุด
สำหรับนักเรียนที่จบชั้น ม.3 เข้าศึกษาต่อโรงเรียนเดิม หากเด็กสามารถพิสูจน์ความสามารถ และความรับผิดชอบในผลการเรียนได้คะแนนเฉลี่ยสะสม 5 ภาคเรียน 2.00 ขึ้นไป ก็มีสิทธิได้เรียนต่อ ยืนยันว่าจะไม่มีปัญหาแบบปีที่ผ่านมาแน่นอน ส่วนนักเรียนชั้น ม.1 ที่หลายโรงเรียนต้องแบ่งสัดส่วนให้ห้องเรียนพิเศษ ภาคภาษาอังกฤษปีนี้ ให้เพิ่มสัดส่วนจากห้องเรียนปกติได้มากถึงร้อยละ 40 ยืนยันว่าจะไม่ส่งผลให้โอกาสเด็กที่ต้องการเรียนแบบปกติลดลง แต่เรื่องนี้เป็นความต้องการของทั้งเด็กและผู้ปกครอง
นายชินภัทรยังกล่าวถึงโรงเรียนที่มีห้องเรียน ม.ปลาย น้อยกว่า ม.ต้น และไม่สามารถขยายการรับได้นั้น ได้กำชับว่า เขตพื้นที่ใดที่โรงเรียนมีปัญหาดังกล่าว เขตพื้นที่ฯ ต้องเข้ามารับรู้ตั้งแต่เบื้องต้น และมีการวางแผนผ่องถ่ายนักเรียนไปยังโรงเรียนอื่นที่รองรับได้
ภาพประกอบ : www.enn.co.th