"สอบครู"โผล่อีก18 คะแนนสูงผิดปกติ ย้ายแล้ว"ผอ.สพร."
เก็บหลักฐาน - นายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ รองผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 2 ในฐานะหัวหน้าชุดสอบสวนการทุจริตการสอบคัดเลือกครูผู้ช่วย เดินทางมาที่ สพป.อุดรธานี เขต 3 อ.หนองหาน โชว์หลักฐานโพยคำตอบและโทรศัพท์มือถือ (ภาพเล็ก) ของผู้เข้าสอบ ที่ถูกจับได้ในการสอบเมื่อเดือนมกราคม เมื่อวันที่ 13 มีนาคม
"เลขาฯกพฐ."สั่งโยก"ผอ.สพร."สลับตำแหน่ง อ้างเปิดทางตรวจสอบข้อมูลทุจริตสอบครูผู้ช่วย ชี้ไม่ได้สรุปว่าบกพร่องพัวพันทุจริต เผยคะแนนสอบสูงผิดปกติเพิ่มอีก 18 ราย เตรียมเสนอ"ก.ค.ศ."ฟัน
จากกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตรวจสอบการทุจริตการสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการครู ในตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีมีความจำเป็น หรือเหตุพิเศษ ว12 ครั้งที่ผ่านมาอย่างเต็มที่ ขณะที่นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. เสนอให้นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ย้ายผู้ที่คาดว่าจะเกี่ยวข้องในส่วนกลางออก เพื่อเปิดทางให้การตรวจสอบทำได้ง่ายขึ้น ขณะที่นายหน้า และพนักงานราชการ ที่ร่วมขบวนการทุจริตรวม 3 รายเข้าให้รายละเอียด ด้านกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) บุกไปตรวจค้นรีสอร์ตใน จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นจุดนัดพบของขบวนการติวข้อสอบนั้น
เมื่อวันที่ 13 มีนาคม นายชินภัทรเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ได้ลงนามคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้โยกย้ายสลับตำแหน่งภายในชั่วคราวระหว่างนายไกร เกษทัน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) กับนายพิธาน พื้นทอง ผู้อำนวยการสำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีผลตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม ไปจนกว่าจะมีความกระจ่าง และชัดเจนว่าเป็นอย่างไร แล้วจะพิจารณาอีกครั้งหนึ่งว่าคำสั่งนี้จะสิ้นสุดเมื่อใด โดยการสลับตำแหน่งครั้งนี้ ไม่ใช่สรุปว่ามีความผิด หรือมีความบกพร่อง หรือมีกรณีที่เกี่ยวข้องการทุจริต แต่เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเปิดกว้าง ตรวจสอบข้อมูลด้วยความโปร่งใส และไม่เป็นอุปสรรค รวมทั้งเปิดโอกาสให้มีการสอบถามข้อมูลได้อย่างเต็มที่
นายชินภัทรกล่าวว่า กรณีพนักงานราชการในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ขอนแก่น เขต 4 ทั้งหมด 23 คน สอบบรรจุเป็นครูผู้ช่วยได้ทุกคนนั้น สพฐ.กำลังรวบรวมข้อมูลอยู่ และหากมีความผิดปกติเกิดขึ้นจะลงไปตรวจสอบเพิ่มเติม ส่วนที่เปิดให้แจ้งข้อมูลปัญหาการสอบครูผู้ช่วยมายัง สพฐ.นั้น มีผู้แจ้งข้อมูลเข้ามาแล้ว เป็นเขตพื้นที่การศึกษาอื่นๆ ว่าผิดปกติอะไรบ้าง และอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลนำเสนอตน
นายชินภัทรกล่าวต่อว่า ส่วนการพิจารณายกเลิกการสอบครูผู้ช่วยนั้น ต้องให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากเป็นเรื่องงานบริหารงานบุคคล ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) จะเป็นผู้พิจารณา แต่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง สพฐ.เมื่อตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง จะต้องรวบรวมข้อมูลต่างๆ เสนอประกอบการพิจารณาของที่ประชุม ก.ค.ศ.ร่วมกับข้อมูลของดีเอสไอ ที่จะนำเสนอในวันที่ 18 มีนาคม ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานแก่ที่ประชุม ก.ค.ศ.เพื่อพิจารณาในประเด็นต่างๆ
รายงานข่าวแจ้งว่า การโยกสลับตำแหน่งครั้งนี้เนื่องจาก สพร.เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลการสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องของการออกข้อสอบ และการจัดส่งข้อสอบ
นายพิษณุ ตุลสุข ผู้ตรวจราชการ ศธ.ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กล่าวว่า นอกจากผู้ที่ผ่านการสอบคัดเลือกเป็นครูผู้ช่วย 486 คน ที่มีคะแนนสูงผิดปกติแล้ว ยังตรวจพบว่ามีผู้ที่คะแนนสูงผิดปกติเพิ่มอีก 18 คน รวมคะแนนสูงผิดปกติ 514 คน โดยผู้ที่คะแนนสูงผิดปกติอีก 18 คนที่ตรวจพบภายหลัง เป็นกลุ่มที่สอบไม่ได้ แต่มีคะแนนสูงผิดปกติ อาจเกิดจากขบวนการจัดการส่งคนลงไปสอบซ้ำซ้อนกันในเขตพื้นที่ฯเดียวกัน และอาจได้เฉลยคำตอบมาจากอีกสายหนึ่ง จึงไปสอบปนกัน
"ขณะนี้คณะกรรมการอยู่ระหว่างนำกระดาษคำตอบที่ได้มาจากการอายัดไว้ที่ สพฐ.มาตรวจสอบกับฐานข้อมูลเป็นรายบุคคล รวมทั้งขอให้เขตพื้นที่ฯส่งข้อมูลทั้ง 514 คน มาให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ เพื่อวิเคราะห์ และเสนอให้นายเสริมศักดิ์ เพื่อนำเข้าประกอบการพิจารณาในที่ประชุม ก.ค.ศ.ในวันที่ 22 มีนาคม ว่าจะเป็นเหตุเป็นผลหรือไม่ที่จะดำเนินการกับทั้ง 514 คน ถึงแม้ว่าจะมี 18 คน ที่ไม่ผ่านการสอบคัดเลือก แต่ถือว่าอยู่ในขบวนการทุจริตสอบครูผู้ช่วย" นายพิษณุกล่าว
นายพิษณุกล่าวอีกว่า การทำหน้าที่ของคณะกรรมการจะไม่โยงใย หรือระบุว่าใครมีความผิด หรือเกี่ยวข้อง เพราะไม่มีอำนาจหน้าที่ ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของดีเอสไอที่จะตรวจสอบ หากดีเอสไอขอความร่วมมือมาก็พร้อมจะให้ข้อมูล ส่วนที่มีพนักงานราชการบางเขตพื้นที่ฯสอบได้ทั้งหมดนั้น ยังพบว่าพนักงานราชการในโรงเรียนเดียวกันใน จ.อุดรธานี สอบได้หมดทุกคน และมีบางครอบครัวที่มีลูกหลานสอบได้ 3 คน
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการ ศธ. กล่าวว่า นายเสริมศักดิ์ยังไม่ได้หารือเกี่ยวกับข้อเสนอให้ย้ายผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ.เพื่อไม่ให้กระทบต่อการสืบสวนสอบสวน ขณะนี้ได้ใช้กลไกการตรวจสอบภายนอกคือดีเอสไอ ส่วนกลไกภายในได้ตั้งคณะกรรมตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ที่มีนายพิษณุเป็นประธาน ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีอุปสรรค ขณะเดียวกันพบข้อมูลคืบหน้าไปมาก
"ส่วนดีเอสไอบอกว่ายิ่งลงไปตรวจสอบเชิงลึก ยิ่งพบว่ามีงานที่ต้องลงไปทำ และต้องใช้เวลาตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งไม่สามารถสรุปผลได้ทันภายในช่วงเดือนมีนาคมแน่นอน แต่ประมาณวันที่ 18-21 มีนาคม ดีเอสไอจะส่งข้อมูลเบื้องต้นมาที่ ศธ.คิดว่าจะคืบหน้ามากพอสมควร แต่คงไม่ได้ทั้งหมด และข้อมูลที่ดีเอสไอจะนำมามอบให้นั้น จะเป็นประโยชน์ในการพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรกับการสอบครั้งที่ผ่านมา และทำให้เห็นภาพชัดขึ้นว่าทั่วประเทศมีส่วนใดที่เป็นปัญหาบ้าง หรือมีคนไหนบ้างที่เป็นปัญหาต้องว่าไปตามข้อเท็จจริง" นายพงศ์เทพกล่าว
นายประกอบ รัตนพันธ์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ตามที่ กมธ.การศึกษาฯได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลาง และเขตพื้นที่ฯมาชี้แจง โดยมีข้อมูลที่เด่นชัดว่ามีทุจริต และบกพร่องในการจัดสอบครูผู้ช่วยนั้น กมธ.การศึกษาฯมีมติดังนี้ 1.เห็นชอบให้สืบสวนข้อเท็จจริงปัญหาการสอบครูผู้ช่วยควบคู่ไปกับการสอบสวนของดีเอสไอ และ ศธ. 2.เห็นชอบแต่งตั้งคณะทำงาน ลงพื้นที่ในจังหวัดที่มีปัญหา เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงต่อไป 3.มีมติเห็นควรเชิญผู้บริหาร สพฐ.และประธานคณะกรรมการตรวจสอบฯของ ศธ.รายงานผลการสอบสวนต่อ กมธ.การศึกษาฯทุกสัปดาห์ ทั้งนี้ เพราะเห็นว่าปัญหานี้บ่อนทำลายภาพลักษณ์ที่ดีของวงการศึกษา และวงการครู
วันเดียวกันนี้นายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ รองผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 2 หัวหน้าชุดสอบสวนการทุจริตการสอบคัดเลือกครูผู้ช่วย พร้อมพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมประชุมกับนายประเวศ รัตนวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) อุดรธานี เขต 3 อ.หนองหาน ถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา หลังยึดโทรศัพท์มือถือและโพยเฉลยคำตอบได้ที่ห้องสอบ 4 โรงเรียนอนุบาลหนองหานวิทยาสรรค์ ก่อนส่งมอบโทรศัพท์มือถือให้ดีเอสไอตรวจสอบหาความเชื่อมโยง
นายธานินทร์เปิดเผยว่า โพยเฉลยข้อสอบมีลักษณะเป็นตัวเลข 5 แถว แถวละ 10 ข้อ เป็นเฉลยข้อสอบชุดที่ 1 เมื่อเปรียบเทียบกับเฉลยคำตอบของ สพฐ.พบว่าจาก 50 ข้อเฉลยถูก 48 ข้อ จากการตรวจสอบที่ จ.ขอนแก่น มีการนัดหมายซักซ้อมและแจกจ่ายโทรศัพท์ จนมาถึงการตรวจยึดโทรศัพท์ได้ที่ จ.อุดรธานี แน่นอนว่าทำเป็นขบวนการ ในวันที่ 14 มีนาคม จะไปสอบสวนที่ จ.ยโสธร และวันที่ 27 มีนาคมนี้ จะขอให้ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ
นายธารินทร์กล่าวอีกว่า ที่ จ.อุดรธานี รู้ชื่อ ที่อยู่ ผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือ เข้าในห้องสอบเพื่อทุจริต ซึ่งจะออกหมายเรียกไปให้ปากคำกับดีเอสไอ ที่กรุงเทพฯ รวมทั้งพยานปากอื่นๆ อย่างที่ จ.ขอนแก่น ก็มีกว่า 200 คน
ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ขอนแก่น เขต 4 ต.น้ำพอง อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น นายกิติพศ พลพิลา ผอ.สพป.ขอนแก่น เขต 4 ให้สัมภาษณ์ว่า มีอัตราจ้างพนักงานราชการใน สพป.ขอนแก่น เขต 4 สอบได้ทั้งหมด 23 คน ตอนแรกก็ดีใจที่บุคลากรในสังกัดมีความก้าวหน้า และคิดว่าจะจัดงานเลี้ยงฉลองให้ แต่มารู้ตอนหลังว่า มีกระบวนการแสวงหาประโยชน์จากการสอบครั้งนี้ จึงแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมาเพื่อหาข้อมูลทางลับพบว่าได้มีผู้มาติดต่อและพยายามเรียกรับผลประโยชน์จริง
รายงานข่าวแจ้งว่า ผู้เข้าสอบจะต้องจ่ายเงินมัดจำ และแสดงบัญชีธนาคารว่ามีเงินจำนวนเท่าใด เบื้องต้นจะต้องมีเงินไม่ต่ำกว่า 300,000 บาท ถึงจะเรียกเข้าคอร์สอบรมวิธีการยิงสัญญาณการทุจริต จากนั้นถ้าหากว่าสอบได้ต้องการเลือกสถานที่บรรจุจะต้องจ่ายเงินเพิ่มเป็น 700,000 บาท
นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า จากการสอบถามนายธานินทร์พบว่า อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ต้องสงสัยมีการทุจริตโดยจำเป็นต้องตรวจสอบเชิงลึก โดยแนวโน้มดีเอสไอจะเสนอให้ยกเลิกการสอบเพียงบางเขตหรือบางรายเท่านั้น ไม่เสนอให้ยกเลิกทั้งหมดแน่นอน เพราะจะส่งผลเสียหายกับราชการมากกว่าหากจะพิจารณายกเลิกแบบเหมารวม เนื่องจากหากพิจารณาข้อเท็จจริงว่ากระทำผิดก็ดำเนินการเอาผิดภายหลังเป็นรายไปได้ และเลื่อนลำดับคนที่ถูกขึ้นบัญชีไว้ได้ อาจจะไม่ต้องสอบใหม่ทั้งหมด และในวันที่ 18 มีนาคม ดีเอสไอจะสรุปผลสอบส่งกระทรวงศึกษาธิการ
(ที่มา:มติชนรายวัน 14 มี.ค.2556)