ตามไปดู...ครูต้นแบบ ลดโลกร้อน ด้วยวิถีพอเพียง
"ปิดน้ำ ปิดน้ำ ปิดไฟ อย่าให้มันไหลก่อนออกจากบ้าน
เมื่อเสร็จจากการใช้งาน น้ำ ไฟ เหล่านั้น ต้องปิดทันที
ขับรถต้องไม่เกิน 90 ค่าน้ำมันแพงลิบเก็บไว้ใช้หลายปี
หลอดตะเกียบ หลอดตะเกียบ ก็มี ประหยัดอีกที เมืองไทยเจริญ"
เสียงร้องเพลงประหยัดพลังงานดังมาจาก "สุจิตรา เพียศรีหนุ่ย" คุณครูจากโรงเรียนอนุบาลวัดสระแก้ว จ.สระแก้ว หนึ่งในบรรดาคุณครูกว่า 150 คน จาก 64 โรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งกำลังแลกเปลี่ยนประสบการณ์และวิธีสอนเด็กๆ ให้รู้จักประหยัดพลังงาน ในการอบรมเชิงปฏิบัติการภายใต้โครงการ "พลังงานเพื่อชีวิต ลดโลกร้อนด้วยวิถีพอเพียง" จัดโดยบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยมีเป้าหมายเดียวกันที่ต้องการผลักดันและส่งเสริม "ครูต้นแบบ" ที่มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องพลังงานและวิถีพอเพียง ให้เป็นผู้ถ่ายทอดการเรียนรู้วิถีพอเพียงในบริบทท้องถิ่นภายใต้การใช้พลังงานอย่างยั่งยืน
ดร.สกุล พจนารถ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายกลยุทธ์และบริหารสินทรัพย์ เอ็กโก กรุ๊ป เล่าว่า เป็นโครงการที่ต่อยอดมาจากโครงการลดโลกร้อน ด้วยวิถีพอเพียง ที่ดำเนินการต่อเนื่องมากว่า 4 ปี โดยยังคงเดินตามเส้นทางการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ ผ่าน "ครู" แต่เพิ่มมิติการเรียนรู้พลังงานอย่างรอบด้าน โดยมุ่งเปิดวงจรความคิดของเยาวชนไทยให้มีความรู้ความเข้าใจถึงที่มาและคุณค่าของพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้า นับตั้งแต่เชื้อเพลิง กระบวนการผลิตไฟฟ้า จนถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
การอบรมเชิงปฏิบัติการ จัดขึ้นเป็นเวลา 3 คืน 4 วัน โดยเก็บตัวเหล่าคณาจารย์กว่า 150 คน ที่มาจากหลากหลายท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาคให้มาเข้าคอร์สเรียนรู้ และร่วมกิจกรรมเวิร์กช็อปที่อัดแน่นไปด้วยความรู้เกี่ยวกับพลังงานเพื่อชีวิตจากกูรูด้านการศึกษา ด้านพลังงาน และด้านเศรษฐกิจพอเพียง ในหัวข้อต่างๆ อาทิ การจัดการชั้นเรียนเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้ได้ความรู้คู่สิ่งแวดล้อม พร้อมคุณธรรม เครื่องมือเพื่อการเรียนรู้พลังงานทางตรงและพลังงานแฝง เช่น วัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment : LCA) และเครื่องมือวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ทรัพยากรของโรงเรียน แผนที่สีเขียว (Green Map) สู่แผนที่วิถีพอเพียง (Sufficiency Map) และแผนการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ รวมถึงเวทีเสวนา "จับเข่าคุยกันฉันพี่น้อง แลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการจัดการเรียนรู้พลังงานเพื่อชีวิต ลดโลกร้อน ด้วยวิถีพอเพียง" ตลอดจนการศึกษาดูงาน พร้อมรับฟังสถานการณ์พลังงานและการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ณ ศูนย์การเรียนรู้ greeNEDucation โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลพบุรีโซลาร์ จ.ลพบุรี เป็นต้น
ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโสสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เล่าว่า เครื่องมือสำคัญที่นำมาแบ่งปันความรู้ให้กับคุณครู อาทิ การสร้างแผนที่วิถีพอเพียง หรือ Sufficiency Map (S Map) ซึ่งเป็นการจัดทำแผนที่กรีนแมป โดยการสำรวจชุมชนในมุมมองด้านสิ่งแวดล้อมและศิลปวัฒนธรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพของวิถีชุมชน ต่อยอดด้วยการน้อมนำพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ที่ประกอบด้วย 3 ห่วง 2 เงื่อนไข มาประยุกต์ใช้และสามารถนำไปสู่การบูรณาการในหลักสูตรการศึกษาท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเชื่อมโยงแผนที่ชุมชนสู่การจัดกระบวนการเรียนรู้ของท้องถิ่น และการพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสม
คุณครูนริสา ประจวบอิน จากโรงเรียนมัธยมวัดดอนตูม จ.ราชบุรี บอกว่า กิจกรรมหนึ่งที่ได้ประโยชน์มากคือ การที่ได้มีโอกาสไปดูงานที่ศูนย์การเรียนรู้ greeNEDucation โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลพบุรีโซลาร์ ทำให้ได้เรียนรู้ว่าประเทศไทยก็มีพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างดี เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ การที่เราใช้ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ เป็นอีกทางที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของโลกร้อนได้ด้วย ซึ่งตอบโจทย์ "พลังงานเพื่อชีวิต" ว่าทุกวันนี้เราต้องใช้พลังงานในทุกรูปแบบ
การมุ่งมั่นสร้างองค์ความรู้ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมให้แพร่หลายในแวดวงครูผู้สอนสิ่งแวดล้อม เชื่อว่าจะเป็นแรงผลักดันให้คุณครูผู้เป็นต้นทางของการพัฒนา มีเครื่องมือและเครือข่ายในการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนพลังความรู้นี้สู่เพื่อนครูด้วยกัน และที่สำคัญคือ ถ่ายทอดสู่เยาวชนเพื่อให้เกิดวิถีชีวิตแบบพอเพียงอย่างยั่งยืนต่อไป
ที่มา : นสพ.มติชน