แต่ละคณะ...เรียนอะไร??? (ตอนที่1)
แต่ละคณะ...เรียนอะไร??? (ตอนที่1)
เลือกเรียนคณะในฝันอย่างชาญฉลาด
ด้วยหลักสูตรที่หลากหลายจากหลายๆ สถาบันการศึกษาที่จัดการเรียนการสอน เพื่อให้นักเรียนได้เลือกเข้าไปศึกษาต่อในด้านที่สนใจชื่นชอบ และด้านที่ถนัด ซึ่งคณะและสาขาในสถาบันอุดมศึกษานั้นจะมีบางคณะวิชาที่จัดการเรียนการสอนเหมือนหรือคล้ายคลึงกัน แต่ใช้ชื่อแตกต่างกัน ดังนั้น ก็คงไม่น่าแปลกที่อาจมีน้องๆ หลายๆ คนยังรู้สึกสับสนหรือยังเข้าใจผิดอยู่บ้าง ว่าแต่ละคณะเรียนอะไรกันบ้าง...
ทางหนึ่งที่จะช่วยให้น้องๆ เลือกเรียนได้ตรงคณะ ตรงใจ และสามารถที่จะเดินไปตามเส้นทางฝันได้ก็คือการรู้และเข้าใจข้อมูลเบื้องต้นของแต่ละคณะว่าเรียนอะไรบ้าง และมีแนวทางในการประกอบอาชีพในอนาคตอย่างไรบ้าง ซึ่งนับว่าเป็นความจำเป็นที่น้องๆ ต้องเข้าใจอย่างถูกต้อง และการตัดสินใจอย่างชาญฉลาดเพื่อเข้าเรียนในคณะและมหาวิทยาลัยในฝันนั้นก็มีองค์ประกอบง่ายๆ โดยอันดับแรกต้องเริ่มจากการสำรวจตัวเองว่า ชอบวิชาไหน ไม่ชอบวิชาไหน รวมทั้งทบทวนบุคลิกภาพตัวเองว่าเหมาะสมหรือไม่...จากนั้นก็ต้องศึกษาข้อมูลของแต่ละคณะว่าเป็นอย่างไร
เพื่อให้การตัดสินใจของน้องๆ ในการเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาเป็นไปอย่างชาญฉลาด เรามาศึกษาข้อมูลเบื้องต้นของแต่ละคณะไปพร้อมๆ กันเลย...
เริ่มต้นกันที่คณะที่หลายๆ คนใฝ่ฝัน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเรียนได้ เพราะเป็นคณะที่ต้องใช้ความพยายามและต้องมีคะแนนที่สูงลิ่วถึงจะมีสิทธิ์ได้เข้าเรียนอย่าง "คณะแพทยศาสตร์"
คณะแพทยศาสตร์ : แพทย์ เป็นวิชาชีพที่กระทำต่อมนุษย์ เกี่ยวกับการตรวจโรค วินิจฉัยโรค การบำบัดโรค การป้องกันโรค การผดุงครรภ์ การปรับสายตาด้วยเลนส์สัมผัส การแทงเข็ม หรือการฝังเข็มเพื่อการบำบัดโรค หรือเพื่อระงับความรู้สึก และหมายรวมถึง การทำทางศัลยกรรม การใช้รังสี การฉีดยาหรือสาร การสอดใส่วัตถุใด ๆ เข้าไปในร่างกาย การเสริมสวย หรือการบำรุงร่างกาย แพทย์ที่จบการศึกษาตามหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต จะเป็นแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถที่จะปฏิบัติงานทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่มุ่งให้ประชาชนในขาติมีคุณภาพชีวิตที่ดีถ้วนหน้า
นอกจากนั้น ยังต้องสามารถวางแนวทางในการป้องกันและแก้ปัญหาสุขภาพของชุมชนใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม ตามความจำเป็นของผู้ป่วย และสังคม มีมนุษยสัมพันธ์ และทักษะในการสื่อสารตลอดจนมีคุณธรรม และความรับผิดชอบต่อหน้าที่คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา โดยคนที่จะเรียนคณะนี้ต้องเป็นผู้ที่จบมัธยมศึกษาตอนปลายสายวิทยาศาสตร์ และมีคุณสมบัติที่จะเข้ารับราชการได้หลังจากจบการศึกษาแล้ว สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือ ต้องเป็นคนที่รักและชอบที่จะให้ความช่วยเหลือแก่เพื่อนมนุษย์
สำหรับแนวทางในการประกอบอาชีพของน้องๆ ที่เรียนแพทย์ ซึ่งการศึกษาในคณะแพทยศาสตร์ ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐนั้น รัฐต้องมีค่าใช้จ่ายโดยตรงต่อนิสิต - นักศึกษา แต่ละคนในอัตราที่สูงมาก ดังนั้นจึงถือว่าผู้ที่เข้าศึกษาในคณะแพทยศาสตร์ เป็นผู้ที่ได้รับทุนการศึกษาตั้งแต่เริ่มเข้าเรียน และจะต้องทำสัญญาที่จะปฏิบัติงานตามความต้องการของทางราชการเป็นเวลา 3 ปี (ยกเว้นผู้เข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของเอกชน) เข้าใจง่ายๆ คือเหมือนทำงานชดใช้ทุนที่ใช้ในตอนที่เรียน และหลังจากปฏิบัติงานตามความต้องการของทางราชการแล้ว แพทย์ที่สนใจสามารถกลับเข้าศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นทั้งทางด้านวิชาการและวิชาชีพ เช่น หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต หลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต หรือเข้ารับการฝึกอบรมในสาขาวิชาชีพหลักสูตร 3 ปี เพื่อวุฒบัตรแพทย์เฉพาะทางของแพทยสภา...ขึ้นชื่อว่า "แพทยศาสตร์" เรียบจบแล้วก็คงหนีไม่พ้นวงการแพทย์อย่างแน่นอน...
มาต่อกันที่คณะที่คะแนนสูงไล่ๆ กันมา แบบไม่มีใครยอมแพ้ใคร อย่าง "วิศวกรรมศาสตร์" อีกหนึ่งสาขาวิชาที่มีคนใฝ่ฝันที่จะเรียนและก้าวไปสู่อาชีพทางด้านวิศวกรจำนวนมาก...
คณะวิศวกรรมศาสตร์: วิศวกรรมศาสตร์ เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ ด้วยการใช้องค์ความรู้ต่างๆ เช่น คณิตศาสตร์ และประสบการณ์ เพื่อออกแบบอุปกรณ์และกระบวนการต่างๆ คนที่ทำงานด้านวิศวกรรมจะเรียกว่า วิศวกร (วิศวกรในบางสาขาจำเป็นจะต้องขึ้นทะเบียนเพื่อขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมจากสภาวิศวกรก่อน ถึงจะออกแบบและเซ็นรับรองแบบได้)
ถามว่า เด็กวิศวะ ทำอะไรได้บ้าง ตอบง่ายๆ คือ เรียนจบมาก็ต้องเป็นวิศวกรแน่นอน แต่ก็จะแตกต่างกันไปตามสาขา เช่น เป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์, วิศวกรไฟฟ้า, วิศวกรในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ, วิศวกรเคมี, วิศวกรระบบ, วิศวกรโยธา, วิศวกรอากาศยาน, เป็นต้น อาจารย์มหาวิทยาลัย, นักวิชาการ, นักวิจัย, พนักงานบริษัทต่างๆ เช่น บริษัทคอมพิวเตอร์, บริษัทรถยนต์, บริษัทน้ำมัน, เป็นต้น
น้องๆ คนไหนที่สนใจเรียนคณะนี้ ต้องรักและชื่นชอบการคำนวณ เลข ฟิสิกส์ เพราะใช้เป็นพื้นฐานในการคิดอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งของการเรียนวิศวะ และแน่นอนว่า การเรียนวิศวะ ซึ่งสอนให้คิดอย่างเป็นระบบ วิเคราะห์อย่างละเอียดรอบคอบนี้ ย่อมสร้างน้องๆ ให้เป็นคนที่มีความรอบคอบอย่างที่สุด...
คณะต่อไปที่เราจะมาศึกษาข้อมูลพร้อมๆ กัน ก็คือ คณะที่นับว่าเป็นศาสตร์แห่งการออกแบบทั้งหลาย "สถาปัตยกรรมศาสตร์"
สถาปัตยกรรม: เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการออกแบบกายภาพด้านต่างๆ เช่น การออกแบบอาคารสิ่งก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์การออกแบบภายใน ตลอดจนการปรุงแต่งสภาพแวดล้อมให้ได้ประโยชน์ใช้สอยที่ดีที่สุดแก่เจ้าของงาน และประชาชนที่เกี่ยวข้อง ในขณะเดียวกันก็เป็นการแสดงออกถึงคุณค่าแห่งศิลปะในสิ่งที่สร้างสรรค์ขึ้น นั้น นอกจากนี้ยังครอบคลุมถึงด้านการวางแผนและเคหการอีกด้วย
การศึกษาในคณะนี้มีสาขาให้เลือกศึกษาดังต่อไปนี้...
1.สาขาวิชาสถาปัตยกรรม ศึกษาการออกแบบสถาปัตยกรรมโดยคำนึงถึงสภาวะแวดล้อมการใช้วัสดุ วิธีการก่อสร้าง และความรู้ทางสาขาวิชาวิศวกรรมที่เกี่ยวข้อง คำนึงสภาพเศรษฐกิจ สังคม และศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนความงาม และความเป็นระเบียบเรียบร้อยทั้งส่วนของโครงการที่ปฏิบัติและผลกระทบต่อส่วน รวม ทั้งนี้จะเน้นปัจเจกภาพเฉพาะบุคคลเป็นสำคัญ
2.สาขาวิชาสถาปัตยกรรมไทย ศึกษาการออกแบบสถาปัตยกรรมไทย และศึกษาแหล่งที่มาอิทธิพลขององค์ประกอบสถาปัตยกรรมไทยศึกษา และฝึกหัดเขียนลายไทยชนิดต่าง ๆตั้งแต่ง่ายไปจนถึงการบบรจุลายลงบนส่วนประกอบสถาปัตยกรรมให้ถูกต้องตาม หน้าที่ และสามารถออกแบบสถาปัตยกรรมไทยให้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นและสังคมปัจจุบัน
3.สาขาวิชาการปัตยกรรมภายใน เป็นศาสตร์ที่ประสานกันระหว่างงานสถาปัตยกรรม และงานออกแบบภายใน เป็นวิชาชีพทางด้านการออกแบบที่เกี่ยวข้องกับงานสถาปัตยกรรมซึ่งเน้นการจัด ที่ว่างภายในอาคารเพื่อประโยชน์ใช้สอย และความงามโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมวัสดุและเทคโนโลยีในการก่อสร้างความรู้ทาง วิศกรรมที่เกี่ยวข้อง การประหยัดพลังงานและทรัพยากร สภาพเศรษฐกิจ สังคม และศิลปวัฒนธรรม เพื่อให้การใช้สอยภายในอาคารเกิดสภาพแวดล้อมที่ดีมีคุณภาพเหมาะสมแก่ผู้ใช้ อาคารทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
4.สาขาวิชาการออกแบบอุตสาหกรรม เน้นหนักการออกแบบ 5 สาขา คือ การออกแบบผลิตภัณฑ์ การออกแบบตกแต่งภายใน การออกแบบเลขะนิเทศ การออกแบบเครื่องเคลือบดินเผา และการออกแบบสิ่งทอ โดยจะต้องศึกษาพื้นฐานทั้ง 5 สาขา แล้วเลือกเน้นสาขาที่ตนถนัด และทำวิทยานิพนธ์ในสาขานั้น
5.สาขาวิชาภูมิสถาปัตยกรรม เน้นหนักด้านการปรุงแต่งสิ่งแวดล้อมของมนุษย์และธรรมชาติให้มีความสมดุลซึ่ง กันและกัน ศึกษาด้านสุนทรียภาพและการใช้สอยของเมืองและที่อยู่อาศัยของมนุษย์ รวมถึงออกแบบสวนสาธารณะ สวนสัตว์ การอนุรักษ์ธรรมชาติ ป่า ต้นน้ำ ตลอดจนการอนุรักษ์โบราณสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์
น้องๆ ที่จบการศึกษาตามหลักสูตรด้านการออกแบบสาขาต่างๆ ข้างต้นสามารถประกอบวิชาชีพอิสระ รับราชการ หรือทำงานบริษัทต่างๆ ได้อย่างกว้างขวางโดยเฉพาะด้านการพัฒนา เช่น การออกแบบการก่อสร้าง การอุตสาหกรรม การโฆษณา รวมทั้งการอนุรักษ์ด้านต่างๆ เช่น การอนุรักษ์ธรรมชาติ โบราณสถาน และสถาปัตยกรรม ฉะนั้นแล้วคนที่จะเรียนและประกอบอาชีพด้านสถาปัตยกรรมควรเป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีจินตนาการและทักษะในด้านทัศนศิลป์ที่สมดุลกับความรู้พื้นฐานทางด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เพราะวิชาการออกแบบเป็นวิชาศิลปประยุกต์ ผู้สมัครเข้าเรียนจะต้องสอบผ่านวิชาความถนัด ด้านการออกแบบ จึงจะมีสิทธิ์เข้าศึกษาในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ได้
เรียนรู้และทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กัน 3 คณะแล้ว...แต่ยังไม่หมดแค่นี้นะคะ ยังมีอีกหลากหลายคณะ ซึ่งเราจะมาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันในตอนต่อไป...น้องๆ คนไหน ฝันอยากเป็นอะไร ตั้งใจเรียนคณะไหน ต้องรอติดตามกันไปจนจบทุกๆ ตอน...สัญญานะคะว่าจะมาร่วมเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน เพื่อการตัดสินใจเรียนคณะในฝันอย่างชาญฉลาด...แล้วพบกันตอนหน้าค่ะ!
ภารดี วงค์เขียว
ศูนย์ข่าวการศึกษาไทย
อ้างอิง: http://www.act.ac.th/service/info/jib/page/jib01.html