มหากาพย์การจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้ง
โดย คำไห แก่นหอม
จากปัญหาการกระจายโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะในจังหวัดที่ไม่มีมหาวิทยาลัย หรือมี แต่อาจไม่มีหลักสูตรที่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียนในพื้นที่ จึงทำให้มหาวิทยาลัยต้องออกมาเปิดศูนย์การศึกษานอกสถานที่ตั้งกันมาก โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ที่มักเปิดศูนย์ฯ ตามต่างจังหวัด หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคเองก็เปิดศูนย์ฯ ในจังหวัดใกล้เคียง เรื่องนี้เมื่อมองอย่างผิวเผินเป็นเรื่องที่ดีเนื่องจากเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษา แต่เมื่อมองให้ลึกลงไปจะพบว่าการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งอาจนำมาซึ่งปัญหาคุณภาพการศึกษา เนื่องจากบางศูนย์ฯ เปิดขึ้นเพียงเพื่อซื้อขายปริญญาหรือหารายได้เข้ากระเป๋าเพียงอย่างเดียว โดยไม่สนใจเรื่องคุณภาพ เป็นธุรกิจการศึกษาที่ขาดความรับผิดชอบและขาดจรรยาบรรณอย่างร้ายแรง ดังนั้น ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2552 จึงได้มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาหรือการเป็นการคุมกำเนิดการจัดการเรียนการสอนมหาวิทยาลัยห้องแถว
คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เองก็ได้อาศัยประกาศดังกล่าวในการประกาศหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการพิจารณาประเมินคุณภาพการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2552 โดยระบุว่า สถาบันการศึกษาที่จะจัดการเรียนการสอนนอกสถานที่ตั้งจะต้องเสนอข้อมูลและหลักฐานต่างๆ ไปยังสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เช่น เหตุผล ความจำเป็น และวัตถุประสงค์ของโครงการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้ง ข้อมูลของอาจารย์ประจำหลักสูตร/อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรที่จัดการเรียนการสอนนอกสถานที่ตั้ง และการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งต้องผ่านความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัย และ สกอ. ยังได้มีการตรวจเยี่ยมศูนย์การศึกษานอกสถานที่ตั้งเพื่อประเมินคุณภาพการจัดการศึกษา แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชนเป็นจำนวนมากที่เปิดสอนนอกสถานที่ตั้ง และไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว จนกลายมาเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อนักศึกษาจำนวนมาก เช่น กรณีของมหาวิทยาลัยอีสานที่เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่ถูกสั่งปิดในวันที่ 31 ตุลาคม 2555 ทั้งด้วยเหตุผลจากการซื้อขายปริญญาบัตร ประกาศนียบัตรวิชาชีพครู และจากปัญหาการเปิดสอนหลักสูตรนอกที่ตั้งโดยไม่ผ่านความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัยถึง 120 ศูนย์
นอกจากนี้ ยังมีกรณีของมหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดังย่านฝั่งธนบุรี โดยพบว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้มีการเปิดศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งเกือบ 200 ศูนย์ทั่วประเทศ (เหมือนสาขาร้านสะดวกซื้อเลย) วิธีการเรียนการสอนก็ทำง่ายๆ คือ เอาใครก็ได้แถวๆ นั้น โดยเฉพาะกลุ่มครูประถม-มัธยมที่พึ่งจะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท-เอกใหม่ๆ ถอดด้ามทั้งหลาย มาเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตร จึงเป็นไปได้ยากหากจะอ้างถึงคุณภาพตามมาตรฐาน
ภาครัฐเองก็มีความพยายามในการแก้ปัญหาคุณภาพการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้ง โดย สกอ. ได้ส่งบันทึกไปยังมหาวิทยาลัยที่ยังไม่ได้ส่งข้อมูลการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งหลายครั้ง ล่าสุด สกอ. ได้มีบันทึกข้อความในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 แจ้งว่าสถาบันอุดมศึกษาใดที่ไม่แจ้งเรื่องสถานภาพการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้ง สกอ. จะจัดให้สถาบันนั้นอยู่ในกลุ่มที่ไม่มีการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้ง ซึ่งในที่สุดแล้วมีด้วยกันทั้งหมด 10 สถาบัน ทั้งของรัฐและเอกชน (ดูเอกสารได้ที่ www.mua.go.th/users/bhes/front_home/off-campus/index.htm)
แต่มีกรณีที่น่าสนใจ คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐและควรต้องปฏิบัติตามคำสั่งของ สกอ. แต่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีกลับเพิกเฉยไม่ได้ส่งข้อมูลใดๆ กลับไปให้ สกอ. ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ซึ่งมีสถานที่ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ได้มีการจัดการเรียนการสอนนอกสถานที่ตั้ง ณ จังหวัดบึงกาฬ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 เมื่อครั้งยังเป็นอำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย โดยมีสถานที่ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำโลก "กุดทิง" ซึ่งกำลังเป็นประเด็นปัญหาอยู่ว่าอาจจะบุกรุกหรือไม่ มีการรับนักศึกษาหลายหลักสูตร
ประกอบด้วย หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย สาขาวิชาสังคมศึกษา สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ศึกษา หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานิติศาสตร์ และหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ (ดูเอกสารได้ที่ http://school.obec.go.th/bungkan/file/detail.pdf) และมีการรับสมัครพนักงานมหาวิทยาลัย (สายวิชาการ) ตำแหน่งอาจารย์ เพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ ณ ศูนย์การศึกษาบึงกาฬ (ดูเอกสารได้ที่ http://www.jobthaiweb.com/attachgov/index2.php?doc=15806)
ไม่น่าเชื่อว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยไม่ได้แจ้งหลักฐานการมีตัวตนและข้อมูลสำคัญอื่นๆ ของศูนย์การศึกษาบึงกาฬ ทั้งๆ ที่ได้จัดการเรียนการสอนไปแล้วสิบกว่าปี เป็น มหากาพย์การศึกษานอกสถานที่ตั้งอันเร้นลับ อย่างแท้จริง ความพยายามปกปิดการมีตัวตนของศูนย์การศึกษาบึงกาฬ อาจจะเป็นการให้ข้อมูลเท็จที่ส่งผลกระทบกับนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่จำนวนมาก เนื่องจากศูนย์ฯ บึงกาฬอาจถูกปิดตัวลงเพราะไม่ได้ผ่านการประเมินคุณภาพจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) และการตรวจประเมินการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งจาก สกอ. หรือแม้แต่นักศึกษาที่จบการศึกษาไปแล้วก็อาจถูกถอดถอนปริญญาบัตรได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น สกอ. ที่มีหน้าที่ตามกฎหมายในการกำกับดูแลการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา และมีพันธกิจในการตรวจสอบติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา ต้องมีการตรวจสอบโดยเร่งด่วน เพื่อไม่ให้นักศึกษาของศูนย์การศึกษาบึงกาฬได้รับผลกระทบ เฉกเช่นกรณีของมหาวิทยาลัยอีสาน