มธบ.ผุด "วิทยาลัยการประปา" สร้างกำลังคนรับเออีซี
ถือว่าเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการก่อตั้ง "วิทยาลัยการประปา" ขึ้น ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, การประปานครหลวง, การประปาส่วนภูมิภาค, บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (จำกัด), กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยจัดการเรียนการสอนใน 2 หลักสูตรด้วยกัน ได้แก่ หลักสูตร
รัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารภาครัฐและเอกชน และหลักสูตรอุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาระบบงานประปา
ซึ่งทั้ง 2 หลักสูตรดังกล่าวเกิดจากการระดมสมองถึงสถานการณ์ความต้องการของตลาดแรงงาน นำมาสู่การร่างหลักสูตรและกำหนดคุณลักษณะของบัณฑิต
เพื่อให้ได้คนที่มีความรู้ทั้งระดับบริหารจัดการองค์กรและระดับปฏิบัติการ เรียกได้ว่าตอบโจทย์การทำงานอย่างแท้จริง
"รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ" อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวถึงความจำเป็นในการเปิด ว.การประปาว่า องค์ความรู้เรื่องการประปาของประเทศไทยมีอยู่มาก ที่ผ่านมามักถูกบรรจุอยู่ใน
ด้านวิศวกรรมศาสตร์ เช่น แหล่งน้ำ การป้องกันน้ำท่วม แต่ยังไม่มีการสอนความรู้เชิงลึกโดยตรง อย่างการลำเลียงน้ำใส่ท่อไปที่ต่าง ๆ หรือการเก็บเงิน
อย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด อีกทั้ง ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ยังตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับการประปานครหลวง จึงเป็นเรื่องของความสัมพันธ์และพันธมิตรที่ทำให้เกิดเป็นหลักสูตรขึ้นมา ซึ่งจะเปิดสอนในปีการศึกษา 2556
"เราต้องการให้คนที่ทำงานอยู่ในองค์กรด้านการประปากว่า 4 หมื่นคนที่กระจายอยู่กว่า 1 หมื่นแห่งในไทยมีโอกาสพัฒนาตัวเอง เพราะส่วนใหญ่คนที่ทำงานตรงนี้จบ ปวช.และ ปวส. หากเขามาเรียนก็
จะมีความรู้เพิ่มเติมและเป็นระบบมากขึ้น ขณะเดียวกัน เรายังเปิดกว้างให้กับนักเรียนที่จบ ม.6 และสนใจงานด้านนี้มาเรียนได้"
ทั้งนี้ อาจารย์ของ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์จะเป็นผู้ให้ความรู้พื้นฐาน เช่น ความรู้ด้านบริหารทั่วไป, ภาษาอังกฤษ, กฎหมาย เป็นต้น ส่วนองค์ความรู้เชิงลึกจะมีผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ด้านการบริหารและการผลิตจากการประปานครหลวง, การประปาส่วนภูมิภาค และบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (จำกัด) มาเป็นวิทยากร โดยแต่ละหลักสูตรมีค่าเล่าเรียนประมาณ 3 หมื่นบาทต่อภาคเรียน วางเป้าหมายผู้เรียนทั้ง 2 หลักสูตร ประมาณ 300 คน ซึ่งตอนนี้มีผู้มาสมัครเรียนแล้ว 56 คน
"รศ.ดร.วรากรณ์" บอกอีกว่า โอกาสการทำงานของผู้เรียนมีอยู่มาก เพราะไม่ได้จำกัดอยู่แค่การทำงานภายในกรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่ยังสามารถไปทำงานในเทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บางจังหวัดที่มีการผลิตน้ำประปาเอง เช่น จังหวัดนครราชสีมา ยิ่งกว่านั้นยังเป็นอาชีพที่ได้รับอานิสงส์จากการเปิดประชาคมอาเซียน เพราะประเทศเพื่อนบ้านของไทยยังมีปัญหาเรื่องการประปาอยู่
นอกจากนี้ วิทยาลัยการประปาจะมีการจัดอบรมให้ความรู้กับแรงงานอีกด้วย ทั้งด้านการประปาและเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ท่อ หรือธุรกิจโรงกลึง ซึ่งอาจมีการดำเนินงานผ่านกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่มีครูฝึกอยู่แล้ว และนำองค์ความรู้ไปเผยแพร่ต่อยัง อบต. ก็จะทำให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการมากขึ้น
กล่าวได้ว่า สร้างคนทางตรงด้วยการเปิดหลักสูตรใหม่ และพัฒนาคนทางอ้อมจากการอบรม เป็นการพัฒนาคนสองด้านที่จะช่วยกระจายองค์ความรู้ เพื่อให้เกิดคนที่มีศักยภาพรองรับตลาดแรงงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต
คอลัมน์ คอร์สอินเทรนด์