ส่องรับตรงหลังAdmission หาที่เรียนให้คนพลาดสอบกลาง
Admission 56
วันที่ 9 พ.ค. 2556 อาจเป็นวันธรรมดาของใครหลายคน แต่สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่เพิ่งจบหมาด ๆ และเสร็จสิ้นจากการสมัครสอบแอดมิสชั่นเมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา คงไม่สามารถอยู่เฉยได้ เพราะวันดังกล่าวเป็นวันประกาศผลแอดมิสชั่นที่จะทำให้รู้ว่าเส้นทางชีวิตระดับอุดมศึกษาของพวกเขาจะดำเนินไปในทิศทางไหน
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันย่อมมีทั้งคนที่สมหวังและผิดหวัง สำหรับคนที่สอบติดอาจมีระดับความสมหวังมากน้อยต่างกันไป ถ้าสามารถติดมหาวิทยาลัยที่ตนเลือกเป็นอันดับ 1 ก็สมหวังมากหน่อย หากติดอันดับรองลงมา ระดับความสมหวังอาจลดลงเล็กน้อย แต่คนที่พลาดทุกอันดับที่ได้เลือกไว้ ย่อมผิดหวังมาก และอาจสับสนว่า แล้วจะทำอย่างไรต่อไปดี ? จะเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยไหนได้บ้าง ?
"ประชาชาติธุรกิจ" จึงได้รวบรวมข้อมูลคณะ/วิทยาลัยที่มีโครงการรับตรง เปิดภาคพิเศษของมหาวิทยาลัยรัฐที่มีระยะเวลาการเปิดรับสมัครไปถึงหลังการประกาศผลแอดมิสชั่น รวมถึงข้อมูลการรับสมัครจากมหาวิทยาลัยเอกชน และมหาวิทยาลัยเปิด เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับคนที่อาจตัดสินใจอยากสำรองที่นั่งเรียนก่อน
มหาลัยรัฐเปิดภาคพิเศษเพียบ
เริ่มต้นด้วยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งปีนี้มีการนำหลักสูตรเก่าที่เคยเปิดแล้วหยุดไป มาปัดฝุ่นเปิดใหม่อีกครั้ง กับหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ (เดิมเป็นหลักสูตรธรรมศาสตรบัณฑิต) ภายใต้สังกัดวิทยาลัยสหวิทยาการ ซึ่งจะได้เรียนรู้การบูรณาการองค์ความรู้ของศาสตร์
ต่าง ๆ ทำให้เข้าใจสภาวะของโลกยุคปัจจุบัน นอกจากนี้ สำหรับคนที่สนใจเรียนด้านสังคม ยังมีโครงการพิเศษของสาขาวิชาการวิจัยทางสังคม คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ให้เลือกเรียน
หันมามองด้านสายวิทยาศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์มีการเปิดภาคพิเศษในคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีถึง 3 สาขา ได้แก่ สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ สาขาวิชาคณิตศาสตร์ และสาขาวิชาสถิติ ถ้าได้วางเส้นทางอนาคตที่จะศึกษาต่อด้านนี้อย่างต่อเนื่อง ก็มีหลักสูตรปริญญาตรีควบโทของสาขาคณิตศาสตร์การจัดการ เป็นหลักสูตรสองภาษา ทำการเรียนการสอน 5 ปีการศึกษา
โดยหลักสูตรนี้เป็นความร่วมมือระหว่างภาควิชาคณิตศาสตร์และสถิติ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และภาควิชาเทคโนโลยีการจัดการ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร ดังนั้น ผู้เรียนจะได้ศึกษาการจัดการการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ ผสมผสานระหว่างความรู้ทางการวิจัยดำเนินการที่ใช้วิธีการทางคณิตศาสตร์ กับความรู้ทางเทคโนโลยีการจัดการ ซึ่งเน้นหลักพื้นฐานทางวิทยาการการจัดการ
และดูเหมือนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์น่าจะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอย่างมาก เพราะมหาวิทยาลัยศิลปากรมีโครงการรับนักศึกษาวิทยาศาสตร์เพิ่มพิเศษ จำนวน 210 คน ใน 10 สาขาวิชา อาทิ คณิตศาสตร์ประยุกต์, ฟิสิกส์, จุลชีววิทยา, วิทยาการคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
และยังมีอีกหนึ่งหลักสูตรของ ม.ศิลปากร ที่ระยะเวลารับสมัครหลังวันประกาศผลแอดมิสชั่น คือสาขาเอเชียศึกษา คณะอักษรศาสตร์ ที่รับนักศึกษาใหม่ จำนวน 200 คน ขณะที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีคณะสังคมศาสตร์เปิดภาคพิเศษ ในสาขาจิตวิทยา, สาขาภูมิศาสตร์ และสาขานิติศาสตร์
เอกชนอัดโปรโมชั่น-ให้ทุน
ข้ามฝั่งมาดูข้อมูลของมหาวิทยาลัยเอกชน อย่างมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นอกจากจะมีการแจกไอแพดเป็นประจำทุกปีให้กับนักศึกษาใหม่แล้ว ยังมีทุนส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาเรียนฟรีตลอด 4 ปี จำนวน 200 ทุน แบ่งเป็น 3 ทุนใหญ่ คือ 1.ทุนความสามารถพิเศษ 2.ทุนทายาทเกษตรกร 3.ทุนทายาท SMEs
ยิ่งกว่านั้น ปีนี้ ม.หอการค้าไทยได้งัดไม้เด็ดออกมาดึงดูดเด็กจบใหม่ ด้วยการปล่อยทุนแจ้งเกิด ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าจะทำให้วัยโจ๋หันมาสนใจได้ไม่ยาก เพราะนอกจากเกณฑ์การรับสมัครที่ไม่จำกัดเกรดเฉลี่ยสะสม ไม่พิจารณาจากคะแนนที่ใช้ในการสอบแอดมิสชั่นแล้ว ยังกำหนดเพียงแค่ผู้สมัครมีความสามารถพิเศษด้านใดด้านหนึ่ง มีความคิดสร้างสรรค์ และกล้าแสดงออก
อีกทั้งสิทธิประโยชน์ของทุนก็เยอะและแปลกใหม่ อาทิ ฟรีค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายส่วนอื่น ๆ, รับเงินค่าใช้จ่ายรายเดือนระหว่างเรียนเดือนละ 2,000 บาท, ฟรี iPhone 5, ฟรีค่าเช่าหอพัก ค่าน้ำ ค่าไฟ, ฟรีค่ามอเตอร์ไซค์รับจ้างรับ-ส่งระหว่างหอพักกับมหาวิทยาลัย, ฟรีบัตรชมภาพยนตร์ เป็นต้น
ขณะที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ก็มีทุน BU Creative และทุนประกายเพชร ที่ส่งเสริมและช่วยเหลือนักศึกษา และถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีระยะเวลาเปิดรับสมัครค่อนข้างนาน ซึ่งรับนักศึกษาใหม่ถึงวันที่ 31 ก.ค. 2556
เรียนรู้ด้วยตัวเองกับมหาลัยเปิด
สำหรับคนที่ชีวิตมีเรื่องต้องบริหารจัดการมาก หรืออยากเรียนรู้ด้วยตัวเองมากกว่า มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะมีทั้งการเรียนในห้องเรียน และให้นักศึกษาเรียนรู้จากเอกสาร หรือผ่านทางอีเลิร์นนิ่ง ซึ่งมี 11 คณะให้เลือกเรียน และยังมีสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ หรือสาขาภูมิภาค ที่กระจายตัวอยู่ใน 23 จังหวัด
หรือหากอยากเรียนหลักสูตรอินเตอร์ ก็มีสถาบันการศึกษานานาชาติรองรับ กับหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (มีทั้งภาคภาษาอังกฤษและภาษาจีน), หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต มีทั้งสาขาเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน และสาขาภาษาอังกฤษ อย่างไรก็ดี หลักสูตรข้างต้นมีระบบ
การเรียนการสอนตามปกติ โดยมีค่าเล่าเรียนประมาณ 3 หมื่นบาทต่อภาคการศึกษา ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการเปิดรับสมัครรอบ 2 ถึงวันที่ 5 พ.ค.นี้
เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่มีระบบการสอนทางไกลแห่งเดียวในประเทศไทย ขณะที่นักศึกษาสามารถศึกษาความรู้ได้เองจากการอ่านเอกสารการเรียน โดยมหาวิทยาลัยนี้มีการเปิดสอน 11 สาขาวิชา และมีศูนย์วิทยพัฒนาบริการใน 10 จังหวัด ซึ่งกำลังจะเปิดรับสมัครนักศึกษารอบ 2 ในวันที่ 1 พ.ค.-20 มิ.ย. 2556
ทั้งหมดนี้เป็นหลักสูตรและคณะที่ยังอยู่ในระยะเวลาของการเปิดรับนักศึกษาใหม่ ดังนั้น นักเรียนที่เตรียมจะเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาต้องเฝ้าติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดหลังจากที่ประกาศผลแอดมิสชั่นแล้ว เพราะเมื่อถึงเวลานั้น จะมีอีกหลายมหาวิทยาลัยที่เปิดโครงการภาคพิเศษเข้ามาเก็บตกนักเรียนที่พลาดหวังจากการสมัครสอบจากส่วนกลาง
ซึ่งเป็นโอกาสและทางเลือกให้น้อง ๆ ได้พิจารณาถึงเส้นทางอนาคตของตัวเองอีกครั้ง !