สัมภาษณ์ "อั้ม-เนโกะ" 1ปี สาวโหนรูปปั้น "ปรีดี" กับประเด็น "โซตัส - ชื่อใหม่ มธ."

สัมภาษณ์ "อั้ม-เนโกะ" 1ปี สาวโหนรูปปั้น "ปรีดี" กับประเด็น "โซตัส - ชื่อใหม่ มธ."

สัมภาษณ์ "อั้ม-เนโกะ" 1ปี สาวโหนรูปปั้น "ปรีดี" กับประเด็น "โซตัส - ชื่อใหม่ มธ."
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สัมภาษณ์ โดย
ฟ้ารุ่ง ศรีขาว
ทสิตา สุพัฒนรังสรรค์

วันที่ 11 พฤษภาคมของทุกปีเป็น "วันปรีดี พนมยงค์" และ "วันแรกพบ" ที่สมาชิกใหม่ หรือ เพื่อนใหม่แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะเข้ามาพบกันทั้งรุ่นเดียวกันและรุ่นพี่ ที่ มธ.พระจันทร์

"วันแรกพบ" เมื่อปีที่แล้วโลกออนไลน์ได้รู้จักกับ "อั้ม เนโกะ" หรือ "สาวโหนรูปปั้นปรีดี" ที่ได้กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์โดยเฉพาะในประชาคมธรรมศาสตร์ ทั้งศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และคณาจารย์

บ้างวิจารณ์เธอว่า "ลบหลู่อาจารย์/ก้าวร้าว" แต่เธอก็ได้ตอบคำถามนั้นว่า เจตนาที่แท้ของการ "โหน" รูปปั้นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เพื่อแสดงให้เห็นว่า ปรีดี ก็เป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมเหมือนกับทุกคน ซึ่งความเท่าเทียมนี้ก็คือ เป้าหมายของปรีดีที่ตั้ง "มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง" ขึ้นมา เพื่อให้ทุกคนเท่าเทียมกันในแง่การศึกษา ขณะที่ผ่านมา รูปปั้นปรีดี กลายเป็นรูปเคารพบนบานขอเกรด ซึ่งดูจะย้อนแย้งกัน

และเธอก็ได้ยืนยันกับ "มติชนออนไลน์" เมื่อปีที่แล้วว่า เพราะอาจารย์ปรีดี และ "เสรีภาพทุกตารางนิ้ว" รวมไปถึง "ความเสมอภาค" คือสิ่งที่ทำให้เธอเลือกเรียนที่ "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" จากก่อนหน้านี้เธอเคยเป็น "นิสิตใหม่" คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาก่อน

มาในปีนี้ "อั้ม เนโกะ" ก็ยังคงเรียนอยู่ที่ธรรมศาสตร์ ขึ้นชั้นปีที่ 2 คณะศิลปศาสตร์

"มติชนออนไลน์" พูดคุยกับเธอ ในวันครบรอบ 1 ปี ของ "การโหนรูปปั้นปรีดี"

มาดูกันว่า ปีนี้ "อั้ม เนโกะ" ไม่โหนรูปปั้นปรีดี แล้ว เธอจะโหนหรือขบถต่อสิ่งใด ?


@ ครบรอบ 1 ปีวันนี้ มีใครทักเรื่องนี้หรือเปล่า

มีบ้าง เป็นเพื่อนในเฟซบุคและ ในคณะที่ใกล้ชิดกัน วันนี้มาวันแรกพบ ที่ท่าพระจันทร์ ไปฟัง เสวนา เรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจ ที่ตึกโดม เจออาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล มาเซอร์ไพร์ส ว่า นี่ดีใจด้วยคุณครบรอบ 1 ปีแล้ว อาจารย์บอกว่า วันนี้เป็นวันพิเศษ คิดว่าวันอะไร เป็นวันครบรอบ 1 ปีที่คุณโหน (รูปปั้นอาจารย์ปรีดี)

@ 1 ปีที่ผ่านมา เป็นที่รู้จัก จากการเป็น "สาวโหนปรีดี" มีผลกระทบต่อตัวเองอย่างไร

ไม่มีผลเรื่องเรียน และก็มีบ้างที่เพื่อนนักศึกษามาทักบอกว่าเห็นรูปอยู่ในหนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัย ไม่เคยเจอการขู่ตรงๆ มีแต่นักเลงคีย์บอร์ด ปากดีในเฟซบุค แต่หลายคนบอกว่า พอได้เจอตัวจริงก็คุยสนุกบางคนก็กลายเป็นเพื่อนสนิท จากที่ตอนแรกที่ตั้งคำถามว่าทำแบบนั้นทำไม ได้แลกเปลี่ยนมุมมมองกัน จากเดิมถูกจินตนาการเป็นนางร้ายด่าจิก ด่ากราด

ส่วนที่เจอหนักสุด คือมีคนมาสาดน้ำใส่ แต่ไม่โดน ตอนนั้น ไปเป็นวิทยากรให้สภานักศึกษาที่ มธ.ศูนย์รังสิต พูดหัวข้อ "80 ปี ประชาธิปไตย ชนชั้นนำหรือชั้นล่างที่ไม่พร้อม" อาจเป็นเพราะเราพูดถึงชนชั้นนำ ก่อน 2475 แล้วไม่ถูกหูคนฟัง มีคนเดินเข้ามาถามว่าพูดมีหลักฐานหรือเปล่า ตอนแรกก็ตกใจ เพราะเขาถามแล้วก็ดึงกระดาษจากมือเราไป อีกคนสาดน้ำแต่ไม่โดน

@ ปีนี้ คิดว่าอยากรณรงค์เรื่องอะไร

เรื่องการปฏิรูปการรับเพื่อนใหม่ในมหาวิทยาลัย เพราะ มีคนเห็นดีเห็นงามกับระบบโซตัส ทั้งที่ การรับเพื่อนใหม่ มีการเปิดวีดิทัศน์ ประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่รุ่นพี่ มธ.ได้ทำ เพื่อให้เห้นการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ แต่ พอไปใช้ชีวิตจริง กลับถูกจำกัดด้วยการรับน้องนอกสถานที่ หลายๆ คณะแม้กระทั่งคณะด้านสังคมศาสตร์มีโซตัสเต็มรูปแบบด้วยซ้ำ เราแปลกใจที่การศึกษาประวัติศาสตร์ การเมือง สังคมไทย กลับไม่ทำให้ตระหนักสิ่งที่รุ่นพี่ต่อสู้มา ไม่เข้าใจจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ กลับเห็นชอบอำนาจเผด็จการที่มาจากระบบโซตัส ซึ่งเป็นการผลิตซ้ำความรุนแรง พร้อมๆ กับการพยามจะพูดเรื่องจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ เสมอภาค เสรีภาพทุกตารางนิ้ว

มองว่านักศึกษากำลังเชิดชูบุญเก่า และกลับรื้อระบบที่ ไม่สมเหตุสมผล แม้จะอ้างว่าไม่ได้รับน้องในมหาลัย แต่มีการรับน้องโต๊ะ

วันแรกพบเพื่อน และวันปรีดี ที่ มธ.ซึ่งมีการบังคับให้ถอดเสื้อ
ภาพและคำอธิบายจากเพจ "anti-sotus"

@ คิดว่าระบบโซตัส มีข้อดีหรือไม่

ไม่เห็นข้อดี เพราะ มีแต่อารมณ์ความรู้สึก เป็นเรื่องการตัดสินคุณค่าให้มีความรักสามัคคี ทั้งที่จริงแล้ว ความรัก บังคับกันไม่ได้ จะให้คนรักสามัคคี คิดแนวทางเดียวกันเป็นเรื่องยาก ความจริงแล้วควรจะคิดว่า ถ้าเขาไม่รัก เขาก็อยู่กับเราได้ ไม่จำเป็นต้องรัก สังคมเปิดกว้างมากพอ ไม่งั้นไม่ต่างจากสลิ่ม ที่อยากให้ต้องรักกันเท่านั้น ความรักบังคับไม่ได้เป็นเรื่องบุคคล

@ มองกระบวนรับน้อง หรือรับเพื่อนใหม่ ปัจจุบันเป็นอย่างไร

เอาจิตใจของน้องมาเป็นเครื่องมือ มาไซโค แสดงละคร หลอกลวงจนน้องร้องไห้รู้สึกผิด ใส่น้ำเสียงดุดัน
ส่วนตัวปีที่แล้ว โดนปิดตาให้กลิ้งทับกันเอง หนูลุกขึ้นบอกว่า ขอไม่กลิ้ง และเห็นว่า กระบวนการที่สร้างสรรค์และดีที่จะทำให้รักกันมีอีกเยอะ แต่สิ่งเหล่านี้ ไม่ชอบธรรม

@ ข้ออ้างหนึ่งที่ถูกใช้มาก คือ "ระบบโซตัสดี แต่คนใช้ไม่ดี"

ตัวระบบโซตัสมันอาจแล้วแต่คนชอบ แต่ในความเห็น มองว่า มันไม่ make sense เพราะทำให้คนอยู่ในวิธีคิดแบบเดียว อยู่ในระเบียบวินัย เคารพผู้อาวุโส ฉะนั้น จึงขอวิพากษ์ที่แก่นของแก่ความเป็นโซตัส ซึ่งไม่สมเหตุผล


Seniority - การเคารพผู้อาวุโส
Order - การปฏิบัติตามระเบียบวินัย
Tradition - การปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณี
Unity - การเป็นหนึ่งเดียว
Spirit - การมีน้ำใจ

ทั้งหมดนี้ โซตัส มันผิดกับวิสัยที่คิดว่ามนุษย์มีสิทธิเลือกเชื่อในสิ่งที่หลากหลาย มากกว่าความเป็นเอกภาพเดียว

สุดท้ายก็เหมือนกับการหลอกล่อโดยเล่นกับจิตใจของรุ่นน้อง/เพื่อนที่เข้ามาใหม่หลอกล่อ ใช้อำนาจกับเค้าก่อน รับน้องโหดบ้างไม่โหดบ้าง แต่สุดท้ายก็จะบอกให้เคารพ ซึ่งมองว่ามันไม่ถูกไม่ควร เพราะคนควรมีเสรีภาพที่จะเลือกที่รัก

@ เคยตั้งข้อสังเกตไหม ว่าทำไม ระบบโซตัสที่ใช้กับ "ระบบทหาร" ถึงมาอยู่ใน "ระบบการศึกษา"?

อ้างจากคำพูดของ ส.ศิวลักษณ์ หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลา หลังจาก มธ. ถูกลดอำนาจทางการเมือง นักศึกษาถูกลดบทบาทลง ทหารเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะสมัยรัฐบาลธานินทร์ รัฐบาลเปรม ระบบอาวุโสกลับมาเข้ามามีบทบาทอีกครั้งหนึ่ง รัฐบาลทหารเข้ามามีอำนาจและกลายเป็นความคุ้นชิน ในที่สุดระบบที่ถูกยกเลิกในสมัย 6 ตุลา 2519 ก็ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่ง match กับสังคมของวัฒณธรรมไทยขณะนั้น

ระบบอาวุโส จึงถูกใช้ในแง่ การเคารพในอำนาจผู้ใหญ่ ซึ่งถูกตีความในแง่ "เด็กไม่มีสิทธิเถียงหรือตั้งคำถาม" ยุคหลัง 2519 จึงเป็นยุคที่ผู้คนอยู่ภายใต้ระเบียบวินัย สอดคล้องกับระบบการศึกษาของวัฒนธรรมไทย

"โซตัส" ก็เป็นอีกหนึ่งในเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมไทยแบบจารีตเดิม แม้ตอนนี้จะมีการตีความในมุมมองที่ต่างไป แต่โซตัสก็เป็นภาพใหญ่ของมโนทัศน์แบบสังคมไทย มีมานานมาก

@ เมื่อ "โซตัส" ฝังรากอยู่ใน "วัฒนธรรมไทย" แล้วจะแก้อย่างไร ถึงแก่นเลยหรือเปล่า

ต้องแก้วิธีคิดของคนไทย คือเคารพก็เคารพไป แต่ต้องเคารพในหลักเหตุผล ไม่ใช่เพราะเพราะเขามาก่อนหรือเกิดก่อน ต้องเคารพในความคิดและการเคารพนั้นต้องสามารถแลกเปลี่ยนหรือโต้เถียงได้ และต้องเป็นความเคารพที่อยู่ในหลักมนุษยธรรม ไม่ใช่ความอาวุโส

หรือแม้กระทั่งระเบียบวินัย ที่บอกว่าจะต้องแต่งกายยังไง ก็ต้องแก้ ตั้งแต่โรงเรียน อย่างที่บอกว่า การยกเลิกหัวเกรียนเป็นเพียงพื้นฐาน ซึ่งจำเป็นต้องแก้ถึงการรู้จัก "ตั้งคำถาม" ว่าการแต่งกายภายในชุดของระเบียบวิยนัยนั้น สามารถวัดหรือตัดสินคุณค่าของความเป็นมนุษย์ได้หรือไม่ นี่คือสิ่งที่สังคมไทยต้องถาม

นอกจากนั้น ต้องมีเสรีภาพ/มีพื้นที่ ให้กับคนที่ไม่ชอบ หรือ คนที่เห็นต่างไป คือ คุณไม่สามารถใช้บรรทัดฐานเดียวตัดสินคนทั้งหมด และทำให้ทุกคนอยู่ระดับเดียวกันหรือเหมือนๆ กันได้

รวมทั้งอาวุโส ความเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งต่อให้เขาบอกว่าไม่รัก ก็ไม่ได้หมายความว่าเกลียด แต่สังคมไทยเรากลับ ยัดเยียดความรักเข้ามา อย่างเข้ามาก็จะมีเสื้อฉันรักธรรมศาสตร์ ฉันรักจุฬาฯ การใส่คำว่ารัก "โดยไม่รู้ความหมาย" มันทำให้ความหมายของความรักมันพร่าเลือนไปจากความเป็นจริง

การที่คุณสอบติดมหาวิทยาลัยนั้นๆ แล้วรักเลย ทำไมไม่ตั้งคำถามว่ารักในที่นั้นเพราะอะไร สุดท้ายสังคมไทยเป็นสังคมที่ยัดเยียดอารมณ์ความรู้สึก ฉะนั้น ต้องแก้ทั้งกระบวนการ เพราะมันเป็นระบบที่ยึดโยงกัน

@ ข้อเสนอของเรา คืออะไร การรับน้อง-โซตัส ควรปฏิรูปหรือยกเลิก

โซตัสควรยกเลิกไปเลย ส่วนกิจกรรม"รับเพื่อนใหม่" นั้นมีได้แต่ต้องไม่มีแก่นของโซตัส ต้องเคารพมนุษยธรรม เสรีภาพ

@ คิดอย่างไร มหาวิทยาลัยหลายแห่ง ปัดความรับผิดชอบ "การรับน้องนอกสถานที่"

อย่างใน มธ. มีประกาศระเบียบกิจกรรมรับเพื่อนใหม่ ที่ครอบคลุมการรับน้องนอกสถานที่ แต่คงเป็นไปไม่ได้ที่อาจารย์จะควบคุมไปถึงต่างจังหวัด แต่อย่างน้อยมหาวิทยาลัยก็ควรแสดงความรับผิดชอบ ซึ่งไม่ใช่แค่ มธ. แต่ควรเป็นทุกที่

อย่างรับน้องโต๊ะ/ชมรม ถ้าบอกว่าไปในนามสถานบันการศึกษานั้นต้องมีส่วนรับผิดชอบส่วนหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าให้เกียรติมหาลัย แต่ให้เกียตริความเป็นมนุษย์ของคนที่มาร่วมกิจกรรม ซึ่งถ้าเขาตาย/บาดเจ็บ สมมุติแล้วรับน้องในชื่อชมรม มธ. พ่อแม่ย่อมตั้งคำถามว่า ทำไมเกิดเหตุแบบนี้ซึ่งไม่เคารพมนุษย์ในระดับทั้งร่างกายและจิตใจ นี่คือ หนึ่งในความรับผิดชอบที่ต้องมี และมหาวิทยาลัยต้องเด็ดขาด ไม่ใช่ผลักว่าเป็นปัญหาภายนอก เพราะสุดท้ายกิจกรรมต่างๆ มันก็ผูกอยู่กับชื่อของมหาวิทยาลัย

@ ทราบว่าเคลื่อนไหวเรื่องนี้ตั้งแต่อยู่จุฬาฯ (ครุศาสตร์) พอมาอยู่ มธ. ก็ยังเคลื่อนไหวเรื่องนี้ ลองเปรียบเทียบ "แรงต้าน" ระหว่างสองสถาบันนี้

อย่างแรงต้านในจุฬาฯ เด็กจุฬาฯ ก็ยอมรับมาโต้งๆ ว่าเป็นอย่างนั้นจริง ซึ่งอาจจะดูล้าหลัง แต่แรงต้านใน มธ. มันร้ายลึกกว่ามาก และน่ากลัวจริงๆ เพราะมันเป็นวิวัฒนาการจาก การยอมรับแบบโต้งๆ เชยๆ แบบใน จุฬาฯ แต่ต่อมาก็มีการอ้างเสรีภาพ ใน มธ. คณะพวกสายวิทย์ก็จะออกมายอมรับโต้งๆ แต่ในคณะสายสังคมศาสตร์น่ากลัวมาก

คณะสายสังคม ส่วนมากเป็นการรับน้องโต๊ะ ซึ่งจะมีการอ้างว่าคุณมีเสรีภาพ เลือกได้ ว่าอยากอยู่หรือไม่อยาก ถ้าไม่อยากก็ออกไปจากโต๊ะ ลักษณะกิจกรรมก็เป็นการไซโค มีความรุนแรงถึงเนื้อถึงตัวบ้าง และมีสภาพคล้ายๆ กับห้องเชียร์ โดยคนที่ทำจะไม่รู้สึกผิด เพราะอ้างว่ามีเสรีภาพแล้ว แต่กิจกรรมเหล่านี้ก็ไม่ถูกต้องในแง่ของหลักการของการมีอยู่ เพราะมันไม่เคารพหลักสิทธิมนุษยชน คือ ก่อนเริ่มกิจกรรม น้องหลายคนมีภาพว่า เป็นกิจกรรมที่เฮฮา ซึ่งคนที่ทำกิจกรรมก็ไม่ได้บอกน้องตรงๆ ว่า มีการลงโทษ หรือยังไงต่อให้บอกมันก็ไม่ make sense คนที่ทำกิจกรรมนี้ ก็ทำโดยไม่รู้สึกผิด เพราะอ้างเสรีภาพแล้ว แม้จะมีการอ้างว่า ถ้าไม่เข้าร่วมก็จะไม่ได้รุ่นก็ตาม

@ เปรียบเทียบต่อ ระหว่าง "จุฬา-ธรรมศาสตร์" ที่ไหนอยู่ยากกว่ากันหากคุณไม่เข้าโต๊ะ/รับน้อง/ห้องเชียร์

เข้าหรือไม่เข้ากิจกรรมรับน้องจุฬาฯจะอยู่ยากกว่า จะโดนเยอะกว่าหน่อย แต่ใน มธ. มีตัวเลือกมากกว่า คือ ถึงไม่เข้าคุณก็อยู่ได้ แรงเสียดทานจากในคณะน้อย และมหาวิทยาลัยก็ไม่สนับสนุนกิจกรรมลักษณะนี้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่านักศึกษา มธ. จะอ้างถึงเสรีภาพ สิทธิ และเสมอภาค แต่ก็มีการผลิตซ้้ำความรุนแรงเชิงอำนาจที่ต้องการให้มี "รุ่นน้อง" จึงเหมือนกับว่า มธ.เองไม่มีเสรีภาพทุกตาตาางนิ้ว

ทุกวันนี้ กลายเป็นว่า นักศึกษามธ. กินบุญเก่า บางคนอ้างหลัก 6 ประการของคณะราษฎร์ แต่กลับใช้วิธีการที่ย้อนแย้งในตัวเองด้วยระบบโซตัส โดยเฉพาะในสายสังคมมักมีข้ออ้างเรื่องเสรีภาพเยอะกว่า และกลายเป็นวาทกรรมไปแล้ว

@ คนที่ออกมา "ตั้งคำถาม" ต่อระบบโซตัส/การรับน้อง ตอนนี้มีเยอะขึ้นไหม

คนที่คิดแบบนี้เยอะขึ้นนะ เหมือนเราไปทำให้เค้าเริ่มตั้งคำถาม มีการเปลี่ยนแปลง คนที่อยู่ในระบบโซตัสเองก็เริ่มตั้งคำถาม เช่น พี่เชียร์ พี่วินัย แต่ที่เยอะมากนั้น ก็อาจเป็นแค่ในพวก แอคติวิสต์ หรือนักศึกษาที่ทำกิจกรรม

นอกจากนั้น มธ. ตอนนี้ก็ไม่ใช่ที่ซึ่งคนจะมาคาดหวังได้เหมือนแต่ก่อน เพราะนักศึกษาที่นี่ยังกินบุญเก่า และยังมีจริตของคนชั้นกลางอยู่มาก คือ อยู่ไปวันๆ มากกว่า ซึ่งก็ถือว่ามีจำนวนมาก

@ ธรรมศาสตร์ มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว

เสรีภาพทุกตารางนิ้ว ที่พูดมา ตอแหลทั้งนั้น เพราะ 2 เทอมที่ผ่านมา ได้เชิญชวนให้ ไม่ต้องใส่ชุดนักศึกษาเข้าสอบ แต่ตามกฎระเบียบก็ยังบังคับให้ใส่ชุดนักศึกษาเข้าสอบ จึงตั้งคำถามว่า เรามีเสรีภาพหรือไม่ แต่มีอาจารย์บางท่าน เช่น อจ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เห็นด้วยว่า ไม่จำเป็นต้องบังคับให้นักศึกษาแต่งชุดนักศึกษาเข้าสอบ

เรื่องนี้ โยงกับรับน้อง โซตัส สิทธิเหนือร่างกาย ไม่งั้น มหาวิทยาลัยต่างประเทศ ไม่แต่งชุดนักศึกษา เกี่ยวกับคุณภาพการศึกษาหรือแปลว่าไม่รักสถาบันหรือไม่

นอกจากนั้น ประเด็น มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ แม้จะมีการสอบถาม แต่ไม่มีการรวบรวมความเห็นว่า มีการเห็นพ้องกันหรือไม่

@ คิดอย่างไร กรณีชื่อของมหาวิทยาลัยอาจมีการเปลี่ยนแปลง

ส่วนตัวอยากให้ใช้ชื่อ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะ ถ้าเปลี่ยนกลับไปใช้ชื่อที่ตั้งเมื่อปี 2477 ก็อับอายรุ่นพี่ก่อนหน้านี้ เพราะเดิมธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยเปิด เปรียบประดุจบ่อน้ำ แต่ตอนนี้ ถ้าไม่มีเงิน ก็เรียนไม่ได้ เป็นยุคสายลมแสงแดด ถ้าเราจะกลับไปใช้ชื่อเดิม ก็ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ทุกวันนี้ สิ่งที่เป็นอยู่ไม่เหมือนเดิม มีโซตัส ให้แต่งกายถูกระเบียบ จากเดิม ไม่มีชุดนักศึกษา

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะเปลี่ยนจริงๆ ก็ขอว่า อย่าตัดคำว่า "วิชา" ออกไป เพราะ ชื่อเดิมครอบคลุมทุกศาสตร์ เรื่องจริยศาสตร์ (moral) ต้องเป็น "มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง " ไม่ใช่ "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง"

ภาพนี้ "อั้ม เนโกะ" เธอบอกกับเราว่า ทำเพราะ "ประชด" เนื่องจากท่า "โหนรูปปั้นปรีดี" ทำแล้ว คนไม่พอใจ

แต่เธอก็ย้ำว่า ที่บอกประชดเพราะ ไม่อยากให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือเติมความเป็นเจ้าพ่อ

เพราะท้ายที่สุดแล้ว อาจารย์ปรีดี ก็คือ คนคนหนึ่ง และเราควรสืบสานความเป็นวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองมากกว่า

เปิดใจ "ว่าที่เฟรชชี่มธ." ผู้กล้ายั่วล้อรูปปั้น "ปรีดี" ทำไมเธอทำเช่นนั้น? เธอมีอะไรฝากถึงอ.สมคิด?



แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook