เจาะเทรนด์คณะยอดฮิต โดนใจ"เด็กเจเนอเรชั่นZ"
เสร็จสิ้นไปแล้วสำหรับการประกาศผลการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือแอดมิสชั่นส์ ประจำปีการศึกษา 2556 โดยปีนี้มีน้องๆ ผ่านการคัดเลือกและมีสิทธิสอบสัมภาษณ์ 83,955 คน จากที่นั่ง 148,059 ที่นั่ง เหลือที่ว่าง 64,104 ที่นั่ง ใครพลาดหวัง สามารถติดต่อมหาวิทยาลัยรัฐ มหาวิทยาลัยเอกชน ตลอดจนมหาวิทยาลัยเปิด ซึ่งยังมีที่นั่งรองรับจำนวนมาก
ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ คือ 10 คณะ/สาขา ยอดฮิต ซึ่งหลายชื่อฟังแล้วน่าสนใจว่า ทำไมเด็กถึงสนใจและจบแล้วทำงานอะไรได้บ้าง ซึ่ง 10 อันดับที่เด็กเลือกมากที่สุด มีดังนี้
อันดับที่ 1 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) รับ 28 คน ผู้สมัคร 1,597 คน อัตราส่วนการแข่งขัน 1:57
อันดับที่ 2 วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ. 4 ปี) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) รับ 35 คน สมัคร 1,829 คน อัตราการแข่งขัน 1:52
อันดับที่ 3 คณะพยาบาลศาสตร์ หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยพะเยา (มพ.) รับ 10 คน สมัคร 523 คน อัตราการแข่งขัน 1:52
อันดับที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) รับ 25 คน สมัคร 1,249 คน อัตราการแข่งขัน 1:50
อันดับที่ 5 คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาสื่อสารมวลชน มก. รับ 10 คน สมัคร 471 คน อัตราการแข่งขัน 1:47
อันดับที่ 6 คณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาการสอนภาษาไทย (หลักสูตร 5 ปี) มหาวิทยาลัยบูรพา (ม.บ.) รับ 30 คน สมัคร 1,341 คน อัตราส่วนการแข่งขัน 1:45
อันดับที่ 7 คณะศึกษาศาสตร์ หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย(หลักสูตร 5 ปี) มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) รับ 27 คน สมัคร 1,212 คน อัตราการแข่งขัน 1:45
อันดับที่ 8 คณะเศรษฐศาสตร์ สาขาธุรกิจการเกษตร มก. รับ 35 คน สมัคร 1,514 คน อัตราการแข่งขัน 1:43
อันดับที่ 9 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มสด.) รับ 20 คน สมัคร 820 คน อัตราการแข่งขัน 1:41
อันดับที่ 10 คณะสหเวชศาสตร์ สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ ม.บ. รับ 20 คน สมัคร 812 คน อัตราการแข่งขัน 1:41
"สมคิด เลิศไพฑูรย์" อธิการบดี มธ. ในฐานะนายก สอท. และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) บอกว่า การที่คณะเภสัชศาสตร์ มธ. เป็นคณะยอดฮิตอันดับ 1 ของปีนี้ เหตุผลหนึ่งเพราะเป็นคณะที่เปิดใหม่ ยังไม่มีคะแนนเปรียบเทียบ นักเรียนอาจจะคิดว่าคนจะมาสมัครไม่มาก มีโอกาสเข้าเรียนสูง ขณะเดียวกันส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะชื่อเสียงของ มธ.เองด้วย จึงทำให้มีนักเรียนเลือกจำนวนมาก ดังนั้น ปีนี้คณะเภสัชศาสตร์ มธ. คงต้องทำงานหนัก เพื่อรักษามาตรฐาน และคุณภาพของความเป็น มธ.เอาไว้ เพื่อให้จำนวนเด็กที่เลือกเข้าเรียนคงที่
"แอดมิสชั่นส์ 4 ปีที่ผ่านมา การเลือกคณะ/สาขา ของนักเรียนค่อนข้างแกว่ง อย่างปีที่ผ่านมาคณะพยาบาลศาสตร์ ของวิทยาลัยพยาบาลตำรวจ เป็นม้ามืดที่ครองแชมป์คณะยอดฮิตอันดับ 1 แต่ปีนี้ก็ไม่ติด ซึ่งปีหน้าก็ยังวิเคราะห์ไม่ได้ว่าเทรนด์ของเด็กจะเป็นไปในทิศทางใด แต่ มธ.ก็ต้องรักษามาตรฐานเพื่อให้ความนิยมคงที่ แต่ในส่วนของ มธ.ไม่ค่อยห่วงคณะที่คนนิยมมากนัก แต่จะไปห่วง คณะ/สาขา ที่คนนิยมลดลงมากกว่า ต้องมาวิเคราะห์ว่า เกิดจากอะไร เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้ได้มาตรฐาน โดยขณะนี้ได้ขอให้ฝ่ายวิชาการไปรวบรวมข้อมูลการเข้าเรียนของนักเรียนทุกคณะใน มธ.แล้ว" อธิการบดี มธ.กล่าว
"เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ" อธิการบดี มศว บอกว่า วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม เปิดสอนมา 5 ปี และเพิ่งมีนักศึกษาจบเพียงรุ่นเดียว โดยสาเหตุที่นักเรียนเลือกแอดมิสชั่นส์คณะนี้จำนวนมาก เพราะการเรียนการสอนของคณะนี้ตรงกับเทรนด์ของเด็กเจเนอเรชั่น Z ที่ไม่ยึดติดกับกรอบวิธีคิด แต่ชอบการครีเอทีฟ สร้างสรรค์ ขณะเดียวกันยังมีอิทธิพลมาจากรุ่นพี่ที่เพิ่งจบออกไป เพราะได้งานทำ 100% รวมถึงยังมีนักแสดงที่มีชื่อเสียงจำนวนมากเข้ามาเรียนในคณะดังกล่าวด้วย ดังนั้น การที่เด็กเลือกเรียนเยอะ ก็อาจจะเป็นผลจากการบอกกันปากต่อปาก รวมถึงผลงานของรุ่นพี่ที่จบไปแล้วด้วย
"หากเปรียบเทียบวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิตของ มศว จะเหมือนกับคณะนิเทศศาสตร์ หรือสื่อสารมวลชน แต่จะแตกต่างตรงที่ของ มศว จะเน้นให้นักศึกษาได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ในรูปแบบแอนิเมชั่น เพื่อรองรับโลกอนาคต ที่จะมีดิจิตอลทีวี และการสื่อสารทางโลกไซเบอร์ที่มากขึ้น ขณะที่คณะนิเทศศาสตร์/สื่อสารมวลชนปัจจุบัน จะเน้นสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ ทีวี เป็นหลัก เชื่อว่าต่อไปคณะ/สาขาประเภทนี้จะได้รับความนิยมสูงขึ้นในอนาคต"
"สุขุม เฉลยทรัพย์" ประธานที่ปรึกษาอธิการบดี มสด. มองว่า เด็กเลือกสาขาภาษาอังกฤษ อาจเพราะปัจจัยประชาคมอาเซียน ทำให้สนใจเรียนภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาอื่นๆ มากขึ้น แต่ที่เลือกมาเรียนที่ มสด.มาก อาจเพราะการประชาสัมพันธ์ กิจกรรม ตลอดจนความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยออสเตรเลีย อังกฤษ และอเมริกา ที่เด็กสามารถไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยดังกล่าวด้วยซึ่งจบแล้วได้ปริญญา 2 ที่ นอกจากนี้ 3 ปีที่ผ่านมา สาขาวิชาภาษาอังกฤษของ มสด. มีอาจารย์วุฒิปริญญาเอกที่จบใหม่และมีเทคนิคการสอนที่น่าสนใจมากมาย อาจารย์เหล่านี้ทำการตลาดเก่งเพื่อให้พ่อแม่ ผู้ปกครองและนักเรียนรู้จัก สาขาภาษาอังกฤษไม่ใช่อัตลักษณ์ของ มสด. ซึ่งมี 4 อย่าง คือ อนุบาล อาหาร ธุรกิจบริการ และพยาบาล เมื่อภาษาอังกฤษไม่ได้เป็นอัตลักษณ์ ทำให้อาจารย์ต้องทำการตลาดอย่างหนัก เพื่อให้เด็กสนใจสมัครเข้าเรียน ประกอบกับแรงกดดันจากที่ มสด.ลดจำนวนรับนักศึกษาปี 1 ในปีนี้เหลือแค่ 2,500 คน จากเดิมรับอยู่ที่ 5,000 คน เพื่อเน้นคุณภาพ ทำให้อาจารย์สาขานี้ต้องทำงานเชิงรุกเพื่อว่าเมื่อเด็กสมัครเรียนมากขึ้น จะได้เจรจาต่อรองกับมหาวิทยาลัยให้เปิดสอนเพิ่มเป็น 2 ห้องเรียนในปีหน้าได้
"นอกจากนี้เรารุกเรื่องการแนะแนวด้วย โดยนำนักศึกษารุ่นปัจจุบันไปร่วมแนะนำ ให้ข้อมูลกับน้องๆ โรงเรียนเดิมว่าเข้ามาแล้ว เรียนอะไรบ้าง มีกิจกรรมอะไรที่น่าสนใจ และจบแล้วทำงานอะไร เชื่อว่าการบอกปากต่อปาก ตลอดจนกิจกรรมที่ประชาสัมพันธ์ และการแข่งขันต่างๆ ที่นักศึกษาเราสามารถไปคว้ารางวัลมาได้ อาทิ นางงามผิวสวยในการประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2013 ทำให้เด็กๆ เห็นโอกาสที่จะได้ทำกิจกรรม เห็นโอกาสที่จะได้ทำงานที่ชอบ ทันสมัยและตรงกับความต้องการของวัยรุ่น เด็กรุ่นใหม่ ไม่ได้ดูแค่คู่แข่ง แต่มองถึงตลาดแรงงานที่จะรองรับ ฉะนั้นไม่สามารถหลอกได้ด้วยการตั้งชื่อคณะ/สาขาแปลกๆ แล้ว เพราะสมัยนี้เด็กจะมองลึกลงไปว่าเปิดสอนสาขาอะไรบ้าง ใครสอน จบออกมาแล้วทำอะไรหรือต่อยอดอะไรได้บ้าง"
"มสด.พยายามเปิดสาขาใหม่ๆ เพื่อรองรับความต้องการของตลาด เช่น เลขานุการการแพทย์ จบแล้วเป็นเลขานุการของแพทย์ ที่ผ่านมาหมอจะดึงพยาบาลมาเป็นเลขานุการ ก็ไม่มีความรู้ทางด้านเลขานุการ แต่ถ้าจะดึงคนที่จบเลขานุการมาโดยตรง ก็ไม่มีความรู้พื้นฐานทางการแพทย์อีก ดังนั้น เราจึงเปิดสาขานี้ โดยรับคนที่จบสายวิทยาศาสตร์ มาเรียนด้านเลขานุการและเรียนความรู้พื้นฐานทางด้านการแพทย์ ปรากฏว่าได้รับความสนใจมาก คนสมัครล้น และโรงพยาบาลเอกชนจองตัวไปเป็นประชาสัมพันธ์ของโรงพยาบาล อีกทั้งปัจจัยที่มีส่วนต่อการตัดสินใจเลือกคณะ/สาขาของเด็ก คือ รายการทางทีวี เช่น รายการแข่งขัน Junior Master Chef ทำให้สาขาอาหาร ได้รับความสนใจอย่างมาก นอกจากนี้ผู้ประกอบการและผู้ปกครอง เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยเปิดสอนเลขานุการด้านการสื่อสาร ที่เป็นสาขาเฉพาะทาง เพื่อรองรับการทำงานทีวีดิจิตอลต่างๆ ด้วย"
"พงษ์อินทร์ รักอริยะธรรม" ประธานคณะทำงานแอดมิสชั่นส์ฟอรั่ม ของ ทปอ.วิเคราะห์ว่า คณะ/สาขาที่มีสัดส่วนการแข่งขันสูงดังกล่าว เด็กเลือกจากอาชีพที่จะทำในอนาคต โดยเปรียบเทียบผลคะแนนที่ผ่านมา กับคะแนนของตนเองว่าสามารถเข้าเรียนได้หรือไม่ เห็นได้ชัดจากคณะเภสัชศาสตร์ มธ. ที่นักเรียนเลือกเป็นอันดับ 1 มีปัจจัยมาจากโอกาสในการเข้าเรียนเป็นหลัก เพราะเป็นคณะเปิดใหม่ และยังไม่มีคะแนนเปรียบเทียบ รวมถึงยังเป็นคณะที่เปิดในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอย่าง มธ.ด้วย ส่วนอันดับที่ 2 คือ วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม เป็น
เทรนด์ของอาชีพ ที่เด็กยังคงให้ความสนใจที่จะทำงานด้านสื่อสารมวลชนอยู่ แต่คะแนนอาจยังไม่ถึงคณะนิเทศศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยดังๆ เพราะค่อนข้างสูง จึงเลือกคณะที่รองลงมา อย่างวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคมจบแล้วทำงานด้านสื่อสารมวลชนที่ตัวเองอยากทำได้เช่นกัน ส่วนคณะศึกษาศาสตร์ 2-3 ปีที่ผ่านมา คนเลือกเยอะอยู่แล้ว เท่าที่วิเคราะห์ จะอยู่ในโซนมหาวิทยาลัยต่างจังหวัดมากขึ้น ซึ่งก็เกี่ยวเนื่องกับคะแนนและเด็กอาจจะอยากเรียนใกล้บ้าน ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยเรื่องการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนด้วย เพราะจะเห็นว่าภาษาอังกฤษ และภาษาจีนยังเป็นที่นิยมอยู่เช่นกัน
เห็นเด็กรุ่น "เจเนอเรชั่น Z" ปรับแนวคิดการศึกษา แต่ไม่รู้คนในวงการศึกษาไทยปรับตัวทันเด็กแล้วหรือยัง ....