"กังหันลม" กับ "นกอินทรี" เรื่องที่ต้องแลก ??
กังหันลมผลิตไฟฟ้า ถือเป็นอีกหนึ่งพลังงานทางเลือกที่หลายแห่งเลือกใช้ แต่ภัยแฝงร้ายแรงที่มากับกังหันลม คือการสูญเสียชีวิตของบรรดานก ที่บินมาชนเข้ากับกังหัน
รายงานของวารสาร วายด์ไลฟ์ โซไซตี้ บุลเลติน ฉบับเดือนมีนาคมระบุว่า เฉพาะในสหรัฐอเมริกา แต่ละปีมีนกกว่า 573,000 ตัว ที่ต้องตายเพราะกังหันลมเหล่านี้ รวมทั้งบรรดานกนักล่าทั้งหลาย อย่างเช่น เหยี่ยว และนกอินทรี ที่ต้องตายเพราะกังหันลมมากถึงปีละ 83,000 ตัว
แม้ว่านกนักล่าเหล่านี้จะเป็นสัตว์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย แต่รัฐบาลสหรัฐก็ไม่เคยดำเนินคดีหรือปรับเงินกับบรรดาผู้ที่ทำให้นกนักล่าเหล่านี้ตายแต่อย่างใด
ทั้งๆ ที่การตายของสัตว์คุ้มครองถือเป็นการก่ออาชญากรรมตามกฎหมายแห่งรัฐบาลกลางสหรัฐ ที่ใช้ในการดำเนินคดีกับบริษัทน้ำมันทั้งหลายที่ทำให้เกิดการรั่วไหลของน้ำมันและทำให้บรรดานกได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมัน เช่นเดียวกับบริษัทผลิตไฟฟ้าที่ทำให้นกต้องตายเพราะสายไฟฟ้าของบริษัท
แต่ยังไม่มีบริษัทพลังงานลมใดๆ ถูกดำเนินคดีจากการทำให้นกตายแต่อย่างใด แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ทั้งนี้ พลังงานลม เป็นพลังงานที่ปลอดมลพิษ ที่จะช่วยลดภาวะโลกร้อนลงได้ และเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักสำคัญด้านนโยบายพลังงานของรัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐ และยังได้ประกาศลดภาษีให้แก่อุตสาหกรรมกังหันลมในช่วงเทอมแรกของการรับตำแหน่งด้วย
ทอม ดักเฮอร์ตี้ นักสิ่งแวดล้อมเก่าแก่ซึ่งทำงานให้กับสหพันธ์สัตว์ป่าแห่งชาติมานานเกือบ 20 ปี กล่าวว่า มันเป็นเหตุเป็นผลที่เราจะต้องกำจัดก๊าซคาร์บอน แล้วยอมให้ทำอะไรก็ได้ แต่ความสูญเสียมันมากเกินไป
โดยในรายงานที่สำนักข่าวเอพีได้รับมา ระบุว่า มีการตายของนกเพราะกังหันลม ทั้งในแคลิฟอร์เนีย นิวเม็กซิโก โอเรกอน วอชิงตัน เนวาดา และที่ที่มีนกอินทรีตายมากที่สุด คือที่รัฐไวโอมิง ที่ซึ่งรัฐบาลกลางสหรัฐระบุว่า ทุ่งกังหันลมได้ทำให้นกอินทรีตายไปมากกว่า 40 ตัวนับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่แน่นอนของนกที่ตายเพราะกังหันลมนั้น อาจจะไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ เพราะไม่ได้มีกฎหมายระบุให้มีการเปิดเผย และแม้ว่าจะมีการเปิดเผย ก็อาจจะไม่ได้เป็นตัวเลขที่แท้จริงแต่อย่างใด ขณะที่บริษัทบางบริษัทสมัครใจที่จะเปิดเผยตัวเลข แต่หลายกรณีที่รัฐบาลของโอบามาก็ปฏิเสธที่จะเปิดเผยต่อสาธารณะ
และตอนนี้ ยังไม่มีคำตอบใดๆ จากทั้งรัฐบาลสหรัฐและบริษัทพลังงานลมทั้งหลายว่าจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร กับพลังที่ได้ แลกด้วยเลือดเนื้อที่โบยบินอยู่บนฟากฟ้า
ที่มา : นสพ.มติชน