สัมผัส...ค่าย 5 มหา"ลัยดัง ติว"ว่าที่หมอ"รับมือภัยพิบัติ
จบไปแล้ว สำหรับค่ายอบรมนิสิต นักศึกษา จัดโดยหน่วยสัตวแพทย์ฉุกเฉินในภาวะภัยพิบัติ หรือ "Veterinary Emergency Response Unit" (VERU) ขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (WSPA) ครั้งที่ 5 จัดที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ปีนี้เน้นการฝึกปฏิบัติในภาวะวิกฤตเมื่อชุมชนและสัตว์ประสบภัยพิบัติทางน้ำ
ปีนี้ มข.รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพและได้ชวนมหาวิทยาลัยชื่อดัง 4 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เพื่อส่งนิสิตนักศึกษาเข้าร่วมการฝึกอบรม กว่า 60 คน
นายวีรพล ทวีนันท์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะสัตวแพทยศาสตร์ มข. บอกว่า กิจกรรมนี้ส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายการทำงานทั้งในระดับสถาบัน คณาจารย์และนักศึกษา ที่สำคัญแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ได้เป็นอย่างดี ในการดูแลสัตว์โดยเฉพาะ เมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติขึ้น ค่ายครั้งนี้ยังได้นำนักศึกษาออกค่ายบูรณาการในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ เพื่อช่วยตรวจสุขภาพและฉีดวัคซีนให้กับปศุสัตว์ของชาวบ้าน
นสพ.ณฤทธิ์ศร ผลเพิ่ม นายสัตวแพทย์ฝ่ายการจัดการด้านภัยพิบัติ WSPA ระบุว่า เป็นครั้งแรกที่เพิ่มเติมการฝึกอบรมการ
เตรียม ความปลอดภัยทางน้ำเชิงปฏิบัติ ณ สระว่ายน้ำ มข. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกให้ผู้เข้าอบรมได้ทราบถึงวิธีการใช้อุปกรณ์ช่วย ชีวิตทางน้ำ เช่น การใช้เสื้อชูชีพพิเศษสำหรับการช่วยเหลือคนในกระแสน้ำเชี่ยว วิธีการโยนเชือก การไต่เชือกข้ามลำธารในกระแสน้ำเชี่ยว การช่วยผู้ประสบภัยตกน้ำ เทคนิคการข้ามลำน้ำ การลอยตัวในน้ำ และการตรวจสอบความสามารถของตนเองในการว่ายน้ำข้ามลำน้ำ
ทั้งนี้ การอบรมครั้งนี้ ได้สร้างโจทย์ซีมูเลเตอร์ภัยแล้งใน 8 จังหวัด คือ ขอนแก่น มหาสารคาม ยโสธร อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ สุรินทร์ โคราช กาฬสินธุ์ โดยจังหวัดเหล่านี้ได้รับรายงานว่ามีการประกาศเขตภัยแล้งรุนแรงจริง คือมีพื้นที่มากกว่า 50% ของจังหวัด ประสบปัญหาภัยแล้ง มีการแบ่งกลุ่มนักศึกษาให้สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์พื้นที่ที่ประสบ ภัยแล้งในจังหวัดที่ได้รับมอบหมาย เช่น ผลกระทบต่อสัตว์จากสภาพภัยแล้งในพื้นที่นั้นๆ ประเภทและจำนวนของสัตว์ในพื้นที่ มาตรการการให้ความช่วยเหลือที่สำนักงานปศุสัตว์แต่ละจังหวัดจะดำเนินการ เป็นต้น
นายอัมรินทร์ ฤทธิพรเลิศรักษ์ นักศึกษาคณะสัตวแพทยศาสตร์ ปี 5 มช. บอกว่า ได้ฝึกฝนให้เกิดการคิดการวางแผน การวิเคราะห์สถานการณ์ และการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ เช่น ที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่จะเกิดน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี แต่จะเป็นรูปแบบน้ำท่วมที่จะท่วมแค่ไม่กี่วัน ดังนั้น ก็จะวางแผนว่าจะให้ความรู้แก่คนที่ทำปศุสัตว์ว่าจะต้องจัดการกับสัตว์อย่าง ไรเพื่อคงไว้ซึ่งสวัสดิภาพ และเนื่องจากยังเป็นนักศึกษาอยู่คงจะยังไปช่วยอะไรไม่ได้มาก ดังนั้น พร้อมที่จะช่วยเหลือในด้านการเป็นอาสาสมัคร ออกหน่วยกับคณะสัตวแพทย์ ช่วยระดมทุน ระดมอาหารเพื่อช่วยเหลือสัตว์
น.ส.สิรีกร ฉายศิลป์รุ่งเรือง นิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 5 บอกว่า รู้สึกดีมาก ได้ให้โอกาสเด็กได้รับรู้ถึงการทำงานแนวนี้ เนื่องจากเมื่อก่อนจะเห็นแค่จากโทรทัศน์เกี่ยวกับการช่วยเหลือคนในภาวะภัย พิบัติ แต่พอได้เข้ามาฝึกอบรมจริงๆ แล้วได้รู้ว่าจะต้องปฏิบัติงานอย่างไร ต้องมีการวางแผนคิดและวิเคราะห์อย่างไร ซึ่งไม่มีเรื่องเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติในการเรียนการสอนทั่วๆ ไป ทำให้เกิดความคิดว่าสัตวแพทย์ไม่ได้มีหน้าที่แค่การรักษาสัตว์ แต่ยังมีหน้าที่ในการช่วยเหลือส่วนรวมและสังคม ทำให้อยากมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสัตว์และผู้ประสบภัยเวลาเหตุการณ์เกิด ขึ้นจริง และปศุสัตว์เป็นวิถีชีวิตและแหล่งรายได้ของชาวบ้าน ดังนั้น ถ้าช่วยเหลือสัตว์ที่ประสบภัย ก็เหมือนช่วยสัตว์และช่วยเศรษฐกิจในสังคมนั้นด้วย
เป็นอีกหนึ่งโครงการ ที่ติวเข้มนักศึกษาและว่าที่หมอ ให้พร้อมที่จะรับมือและช่วยเหลือหากในอนาคตเกิดภัยพิบัติขึ้น