4 พฤติกรรมน่าห่วงโจ๋ไทย "ใช้ยาลดอ้วน-ยานอนหลับ-ติดสารเสพติด"

4 พฤติกรรมน่าห่วงโจ๋ไทย "ใช้ยาลดอ้วน-ยานอนหลับ-ติดสารเสพติด"

4 พฤติกรรมน่าห่วงโจ๋ไทย "ใช้ยาลดอ้วน-ยานอนหลับ-ติดสารเสพติด"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พบวัยรุ่นไทย มีพฤติกรรมน่าห่วงใช้ยาไม่ถูกต้อง กินยาลดความอ้วน และยานอนหลับ ติดสารเสพติด ไม่กินอาหารเช้าร้อยละ 65 เร่งปลูกฝังความรู้เรื่องสุขภาพที่ถูกต้อง

เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในงาน เปิดอบรมหลักสูตรยุวอาสาสมัครสาธารณสุข หรือยุว อสม. ประจำปี 2556 เป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาจำนวน 9,514 คน รวมทั้งครูสอนสุขศึกษา อนามัย และพลศึกษาจากโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ 174 แห่ง เพื่อพัฒนาให้เป็นต้นแบบสุขภาพ เป็นนักจัดการสุขภาพในโรงเรียน พร้อมทั้งเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ ว่า ปี 2552 ได้มีการสำรวจกลุ่มเยาวชนอายุ 15-29 ปี พบว่าอยู่ในเกณฑ์น่าห่วงเป็นอย่างยิ่ง 4 เรื่อง ได้แก่ 1. พฤติกรรมใช้ยาไม่ถูกต้อง พบว่าวัยรุ่นกินยาลดความอ้วนร้อยละ 5 กินยานอนหลับเป็นประจำเกือบร้อยละ 2 ทั้งที่มีและไม่มีอาการเครียดก็ตาม

2. พฤติกรรมการใช้สารเสพติด พบว่านักเรียนชายเริ่มสูบบุหรี่อายุ 16 ปี เริ่มดื่มเหล้าเมื่ออายุเฉลี่ย 16.2 ปี ส่วนนักเรียนหญิงเริ่มสูบบุหรี่อายุเฉลี่ย 16.7 ปี เริ่มดื่มเหล้าอายุเฉลี่ย 17.8 ปี ซึ่ง 2 เรื่องนี้จะนำไปสู่สิ่งเสพติดอื่นๆ หรือพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศง่ายขึ้น

3. พฤติกรรมการกินอาหาร พบว่าวัยรุ่นไม่กินอาหารเช้าถึงร้อยละ 65 และกินอาหารไม่ครบ 3 มื้อมากที่สุดถึงร้อยละ 72 เพิ่มความเสี่ยงให้วัยรุ่นอ้วน จากการกินจุกกินจิกอาหารอื่น ผลสำรวจในปี 2551 พบนักเรียนระดับมัธยมเป็นโรคอ้วนแล้ว 1.4 ล้านคน อีกร้อยละ 10 มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน เติบโตเป็นผู้ใหญ่ จะมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือดสูงกว่าเด็กปกติ

4. การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจร พบว่าเกิดในวัยรุ่นมากถึง 1 ใน 10 จึงจำเป็นต้องเร่งแก้ไขป้องกัน ปลูกฝังความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพให้ถูกต้อง

"ได้มอบนโยบายให้กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เร่งสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ โดยพัฒนาให้เป็นยุว อสม.ในโรงเรียน ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพขั้นต้นในโรงเรียนทั้งรัฐและเอกชนทั่วประเทศ คล้ายกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และจะพัฒนาให้เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านตามความสนใจของเยาวชน เช่น การป้องกันยาเสพติด การเฝ้าระวังความปลอดภัยอาหาร หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตต่อไป มั่นใจว่าจะช่วยแก้ปัญหาในเยาวชนและป้องกันปัญหาสุขภาพในอนาคต เนื่องจากเยาวชนส่วนใหญ่หากมีปัญหามักจะปรึกษาเพื่อนมากกว่าผู้ปกครอง และโครงการยุว อสม.นี้ จะช่วยป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังของไทย เช่นเบาหวาน ให้บรรลุผลสำเร็จง่ายขึ้น"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook