KMITL ตอบรับนโยบายประเทศ เปิดหลักสูตรวิศวะขนส่งทางราง

KMITL ตอบรับนโยบายประเทศ เปิดหลักสูตรวิศวะขนส่งทางราง

KMITL ตอบรับนโยบายประเทศ เปิดหลักสูตรวิศวะขนส่งทางราง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คอลัมน์ คอร์สอินเทรนด์

การที่ประเทศจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมได้นั้น ต้องอาศัยบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจำนวนมาก สำหรับประเทศไทยแล้ว บุคลากรในสายงานดังกล่าวยังขาดแคลนและมีหลักสูตรการเรียนเฉพาะทางน้อยเกินไป ไม่สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) จึงกำหนดเป็นนโยบายของประเทศ ที่จะต้องผลิตกำลังคนในสายงานเทคโนโลยีชั้นสูง โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและองค์กรเอกชนเดินหน้าผลิตหลักสูตรแห่งอนาคตทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก อย่างเช่น หลักสูตรวิศวกรรมขนส่งทางราง (ระดับปริญญาตรี) ซึ่งขณะนี้คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) พร้อมรับสมัครนักศึกษารุ่นแรกแล้วเป็นจำนวน 40 คน

"ดร.รุ่งโรจน์ กมลเดชเดชา" ผู้เชี่ยวชาญนโยบายจาก สวทน. กล่าวถึงการพัฒนาหลักสูตรนี้ว่า เกิดจากความร่วมมือของหลายฝ่าย ทั้งมหาวิทยาลัยและองค์กรเอกชน

"สวทน.สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยดำเนินการเป็นเครือข่ายให้มหาวิทยาลัย 5 แห่ง คือ พระจอมเกล้าฯลาดกระบัง พระจอมเกล้าฯธนบุรี จุฬาฯ ม.มหิดล และ ม.ราชมงคลธัญบุรี ร่วมกันพัฒนา 12 รายวิชาที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมขนส่งทางราง ทั้งด้านเครื่องกล โยธา อุตสาหการ และ 12 รายวิชานี้จะพัฒนาเป็นคู่มือการสอน ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยจะนำไปสอนบางรายวิชาเท่านั้น มีเฉพาะพระจอมเกล้าฯลาดกระบังที่นำมาทำเป็นหลักสูตรเฉพาะทาง"

ด้านความพร้อมที่จะเปิดหลักสูตร "ดร.ณัฐวุฒิ หลิ่วพิริยะวงศ์" อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯลาดกระบัง ให้คำยืนยันว่า ทางภาควิชาได้มีการเชิญศาสตราจารย์จากสหรัฐอเมริกามาอบรมอาจารย์ด้านวิศวกรรมขนส่งทางรางโดยเฉพาะ

"และ สวทน.เองก็สนับสนุนให้อาจารย์ของเราได้ไปศึกษาในต่างประเทศ ทางลาดกระบังก็มีโครงการจะส่งอาจารย์ใหม่ที่มีคุณภาพสูงได้ไปเรียนโทและเอกในต่างประเทศ เพื่อกลับมาพัฒนาหลักสูตรของเราให้สมบูรณ์มากขึ้น"

"ด้านสำคัญของสายวิทยาศาสตร์ คือ แล็บปฏิบัติการ สำหรับแล็บวิศวกรรมขนส่งทางรางจะทำยากมาก ตอนนี้เราเลยติดต่อบริษัทที่ทำงานด้านนี้ ปรึกษาการออกแบบแล็บให้สมจริงมากที่สุด ใช้ซอฟต์แวร์ให้เหมือนกับในห้องคอนโทรลของ MRT เอาโมเดลรถไฟฟ้ามาศึกษาว่าสร้างอย่างไร สร้างสถานการณ์ว่าถ้าตกรางแล้วจะเขียนโปรแกรมควบคุมอย่างไร"

ขณะที่ "เรืองเดช มังกรเดชสกุล" เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม ยืนยันว่า แผนของรัฐบาลจะเกิดขึ้นจริงในอนาคต ประเทศไทยจะสร้างรถไฟความเร็วสูงอย่างน้อย 3 สาย รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯอีก 10 สาย ขยายเส้นทางรถไฟรางคู่อีกหลายสาย

"อนาคตภาครัฐก็ต้องการบุคลากรมากเช่นกัน ถ้าอยากทำงานด้านนโยบายก็มาทำงานกับเราได้ หน่วยงานราชการเองก็จะมีการจัดตั้งกรมขนส่งทางรางขึ้นมา"

ส่วนที่นั่งในบริษัทเอกชนก็ยังว่างอยู่อีกมาก ไม่ว่าจะเป็น "บริษัท บอมบาดิเอร์ จำกัด" ผู้ออกแบบระบบอาณัติสัญญาณการเดินรถไฟและรถไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ "บริษัท ซีเมนส์ จำกัด" ผู้ดูแลขบวนรถของรถไฟฟ้าทั้ง BTS, MRT และ Airport Link "บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด" หรือ BMCL "บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)" หรือ BTS

วิศวกรรมขนส่งทางรางจึงน่าจะเป็นโอกาสอันดีสำหรับนักเรียนมัธยมปลายที่สนใจด้านเทคโนโลยี เพราะเมื่อตลาดแรงงานต้องการ ค่าตอบแทนย่อมสูงแน่นอน !

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook