บิ๊ก ศธ.ออกโรงแจง งบ "แท็บเล็ต-รถตู้" ไม่แพง-แค่พลาด

บิ๊ก ศธ.ออกโรงแจง งบ "แท็บเล็ต-รถตู้" ไม่แพง-แค่พลาด

บิ๊ก ศธ.ออกโรงแจง งบ "แท็บเล็ต-รถตู้" ไม่แพง-แค่พลาด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หมายเหตุ - นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. และ น.ส.จรรยา อยู่โปร่ง ผอ.สำนักจัดทำงบประมาณด้านสังคม 1 สำนักงบประมาณ ร่วมแถลงข่าวการจัดซื้อรถตู้ 1,000 คัน และการจัดซื้อแท็บเล็ต เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน หลังถูกฝ่ายค้านท้วงติงในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2557

พงศ์เทพ เทพกาญจนา
รมว.ศึกษาธิการ

ราคากลางในการจัดซื้อรถตู้ 1,000 คันนั้น เป็นราคากลางที่สำนักงบประมาณกำหนดให้ใช้ในการจัดซื้อผลิตภัณฑ์เดียวกันทุกประเภท เพราะฉะนั้นจึงไม่เป็นราคาจัดซื้อที่สูงเกินจริง และไม่มีการล็อกสเปกกำหนดยี่ห้อรถ เปิดกว้างให้รถตู้ยี่ห้อต่างๆ สามารถเข้าร่วมแข่งขันได้

ส่วนที่มีผู้อภิปรายว่าสเปกของเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาหรือแท็บเล็ต ที่จะจัดซื้อจัดจ้างในปี 2556 มีสเปกต่ำกว่าปี 2555 แต่มีราคาสูงกว่าปี 2555 นั้น ยืนยันได้ว่าสเปกของแท็บเล็ต ปี 2556 สูงกว่า ปี 2555 โดยดูเปรียบเทียบสเปกของ ชั้น ป.1 ปี 2555 และปี 2556 ดังนี้ ชนิดของซีพียู ปี 2555 กำหนด 1 แกน ปี 2556 เพิ่มเป็น 2 แกน ซีพียู ปี 2555 จำนวน 1 กิกะเฮิรตซ์ ปี 2556 เพิ่มเป็น 1.5 กิกะเฮิรตซ์ หน่วยความจำหลัก ปี 2555 จำนวน 512 เมกะไบต์ ปี 2556 เพิ่มเป็น 1 กิกะไบต์ ขนาดจอภาพทั้ง 2 ปี กำหนดไว้ที่ขนาด 7 นิ้ว กล้องหน้า ปี 2555 ชั้น ป.1 ไม่มีกำหนด ส่วนปี 2556 มีกล้องหน้าแบบวีจีเอ เช่นเดียวกับกล้องหลัง ที่ปี 2555 ไม่มีกำหนด และเพิ่มขึ้นมาในปี 2556 ความละเอียดของภาพอยู่ที่ 1.3 ล้านพิกเซล แบตเตอรี่สแตนด์บายได้ 6 ชั่วโมงเท่ากัน

แต่ปี 2556 มีความจุมากกว่าปี 2555 ขณะที่ระบบปฏิบัติการ ในปี 2555 กำหนดให้ใช้ระบบ Android (แอนดรอยด์) เพียงระบบเดียว แต่ปี 2556 กำหนดให้สามารถใช้ระบบ Android /IOS และ Windows การดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น กำหนดให้มีในเครื่องแท็บเล็ตปี 2556 แต่ปี 2555 ไม่มีกำหนด และในปี 2556 ผู้ประมูลได้ จะต้องจัดส่งเครื่องให้ด้วย จากเดิมที่จัดส่งให้แค่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ

ส่วนเรื่องราคาที่มีการตั้งประเด็นว่าราคาของปี 2556 สูงกว่าปี 2555 สามารถอธิบายได้ดังนี้ ปี 2555 เป็นการจัดซื้อโดยตรงจากประเทศจีน เป็นการสั่งซื้อแบบทำสัญญาบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ซึ่งทางประเทศจีนให้บริษัท เสิ่นเจิ้น สโคป ไซแอนทิฟิก ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินการในราคาเครื่องละ 82 เหรียญสหรัฐต่อเครื่อง ขณะนั้นราคาอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 2,624 บาทต่อเครื่อง ไม่ใช่ราคา 2,400 บาทต่อเครื่อง ตามที่มีการอภิปรายในสภา

ขณะเดียวกัน งบประมาณปี 2556 มีการพิจารณาในสภา เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2555 ก่อนที่ผมจะเข้ามาดำรงตำแหน่ง ในขณะนั้นสำนักงบประมาณใช้วิธีคำนวณเครื่องละ 82 เหรียญสหรัฐ อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ต้องคูณภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าไปอีก 7% รวมออกมาเป็นเงินที่จัดซื้อแท็บเล็ต จำนวน 2,720 บาทต่อเครื่อง ขณะนี้ สพฐ.กำลังดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างด้วยการเปิดประมูลแบบอีออคชั่น มีบริษัทมาซื้อแบบฟอร์มยื่นประมูลไปแล้ว 18 บริษัท

สำหรับงบประมาณปี 2557 ที่เสนอซื้อแท็บเล็ตที่อยู่ในการพิจารณาของสภาในขณะนี้ ก็เป็นราคาเดียวกันที่กำหนดในปี 2556 คือ เครื่องละ 2,720 บาท แต่สเปกของปี 2557 ก็ต้องสูงกว่าปี 2556 แน่นอน

ทั้งนี้ งบประมาณที่กำหนดถือเป็นวงเงินขั้นสูงสุด เวลาเปิดประมูลจัดซื้อจัดจ้าง ต้องต่ำกว่าราคางบประมาณอยู่แล้ว บริษัทไหนให้ราคาดีที่สุดคณะกรรมการก็อนุมัติ และคราวนี้มีการเปิดให้ประมูลจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบพัสดุ น่าจะได้ราคาที่เหมาะสม

เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช
รมช.ศึกษาธิการ

ที่ส.ส.ฝ่ายค้านอภิปรายว่าการจัดซื้อรถโดยสารขนาด 12 ที่นั่ง เครื่องดีเซล จำนวน 1,000 คัน วงเงินรวมสูงถึง 2,158,864,000 บาท เฉลี่ยราคาจัดซื้อคันละ 2 ล้านบาท ขณะที่ราคาท้องตลาดแค่ 956,000 บาทนั้น ศธ.ขอยืนยันอีกครั้งว่างบประมาณจัดซื้อรถตู้ 1,000 คัน ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แค่ 1,232,400,000 บาทเท่านั้น เอกสารประกอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 มีความผิดพลาด จึงทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อน ราคาจัดซื้อที่ถูกต้องเฉลี่ยคันละประมาณ 1.2 ล้านบาท วงเงินนี้เป็นราคากลางที่กำหนดโดยสำนักงบประมาณ ที่ส่วนราชการต่างๆ ต้องปฏิบัติตามเคร่งครัด

ส่วนที่วิจารณ์ว่าการจัดซื้อมีการล็อกสเปกจงใจซื้อรถตู้ขนาด 12 ที่นั่ง ไม่ยอมจัดซื้อรถตู้ขนาด 16 ที่นั่ง ซึ่งได้ประโยชน์มากกว่านั้น ขอชี้แจงว่า ศธ.ดำเนินการตามระเบียบกรมการขนส่งทางบกว่าด้วยการขออนุญาตและการอนุญาตให้ใช้รถในการรับจ้างรับส่งนักเรียน พ.ศ.2547 กำหนดให้รถรับส่งนักเรียนมีขนาดไม่เกิน 12 ที่นั่ง เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องกำหนดสเปกรถตู้ขนาด 12 ที่นั่ง ให้สอดคล้องกับระเบียบดังกล่าว นอกจากนั้น สำนักงานงบประมาณก็ไม่เคยจัดทำราคากลางของรถตู้ขนาด 16 ที่นั่งไว้ด้วย มีแต่ทำราคากลางรถตู้ขนาด 12 ที่นั่งไว้

ทั้งนี้ รถตู้ที่จัดซื้อมา 1,000 คันนั้น จะจัดสรรไปให้โครงการ "โรงเรียนดีศรีตำบล" จำนวน 850 คัน ที่เหลืออีก 150 คันนั้น ใช้สำหรับการนำร่องการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กในปี 2557 นอกจากจะนำรถตู้ไปใช้รับส่งนักเรียนแล้ว ยังใช้รับส่งครูเก่งหมุนเวียนไปสอนตามโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่ รวมทั้งใช้ในกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียน เช่น กิจกรรมกีฬา รวมถึงใช้สนับสนุนชุมชน

การจัดซื้อรถตู้มาใช้รับส่งนักเรียนจากโรงเรียนขนาดเล็กมาเรียนรวมกัน หรือไปเรียนในโครงการโรงเรียนดีศรีตำบลนั้น เป็นแนวทางการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กที่ สพฐ.ศึกษาแล้วว่า มีความเหมาะสม ปัจจุบันมีโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนต่ำกว่า 120 คนลงมาถึง 14,816 โรง คิดเป็นจำนวนเกือบครึ่งของโรงเรียนที่มีอยู่ทั้งหมด ส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องคุณภาพเพราะขาดครูและสื่อการเรียนการสอน

ตั้งแต่ปี 2536 สพฐ.พยายามคิดค้นรูปแบบการจัดการเรียนการสอนต่างๆ เพื่อเพิ่มคุณภาพ การควบรวมโรงเรียน นำนักเรียนมาเรียนรวมกัน พร้อมจัดรถรับส่ง ก็เป็นวิธีหนึ่งที่สามารถเพิ่มคุณภาพการจัดการเรียนการสอนได้ นอกจากนั้น พบว่าที่โรงเรียนเอกชนมีเด็กมาเข้าเรียนจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเพราะเขามีรถรับส่งนักเรียน ทำให้ผู้ปกครองมีความสบายใจที่จะส่งบุตรหลานมาเข้าเรียน

ส่วนการจัดจ้างครูเพิ่มนั้น ถ้าจะทำจริงจะต้องจ้างเพิ่มถึง 70,000 คน ใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี แพงกว่าการจัดซื้อรถตู้ซึ่งจัดซื้อทีเดียวใช้ได้เป็นสิบปี เสียค่าน้ำมันและคนขับแค่ปีละ 150 ล้านบาทเท่านั้น

จรรยา อยู่โปร่ง
ผู้แทนจากสำนักงบประมาณ

เดิม สพฐ.ขอจัดซื้อรถตู้ 2,000 คัน วงเงิน 2,539,840,000 บาท แยกเป็น 1.จัดซื้อรถตู้ดีเซล 1,600 คัน วงเงินรวม 1,971,840,000 บาท และ 2.รถตู้เบนซินพร้อมติดตั้งอุปกรณ์เอ็นจีวี จำนวน 400 คัน วงเงิน 568,000,000 บาท เป็นงบผูกพันปี 2557-2558 ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตัดเหลือรถตู้ดีเซล 1,000 คัน แต่เจ้าหน้าที่แก้เฉพาะตัวเลขงบประมาณของปี 2557 ลืมแก้ปี 2558 เมื่อรวมตัวเลขออกมาจึงเป็นตัวเลขที่ผิดพลาด อย่างไรก็ตาม สำนักงบประมาณได้ทำใบแก้คำผิดเตรียมไว้แล้ว แต่จะเสนอในขั้นการพิจารณาของกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญแปรญัตติ

สำหรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นยังไม่ถือว่าเจ้าหน้าที่ธุรการที่จัดทำเอกสาร มีความบกพร่องหรือมีความผิด เนื่องจากจะมีความผิดพลาดเช่นนี้ทุกปี เอกสารทั้งหมด 20 เล่มใหญ่ เป็นของ ศธ. 5 เล่ม เจ้าหน้าที่หนึ่งคนก็ทำเอกสารหลายหน่วยงาน ดังนั้น จึงเกิดความผิดพลาดได้ เจ้าหน้าที่ที่ทำเอกสารดังกล่าวก็ยืนยันแล้วว่าได้เข้าไปแก้ไขข้อผิดพลาดแล้ว แต่พอเรียกข้อมูลออกมา เครื่องไม่แก้ให้เรา ดังนั้น จะต้องไปแก้ไขระบบของเรา

เอกสารที่สำนักงบประมาณทำเพื่อเสนอที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรนั้น มี 2 ฉบับ คือ ฉบับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณจริงที่ใช้เป็นตัวหลัก และมีฉบับเอกสารประกอบ จากการตรวจสอบตัวเลขในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ นั้นถูกต้องหมด แต่ฉบับเอกสารประกอบที่ฝ่ายค้านหยิบมาอภิปรายนั้นจะมีการแก้ไขตลอด ซึ่งสำนักงบประมาณก็แจกให้ฝ่ายค้านทั้ง 2 เล่ม แต่ในเอกสารประกอบ จะผิดตรงตัวเลขปี 2558 แต่จะมีแก้ไข โดยจะปรับในขั้น กมธ. ที่จะมีการประชุมในวันที่ 5 มิถุนายน หลังจากนั้นก็จะทำเป็นรายงานออกมาประกอบกับ พ.ร.บ.ที่จะประกาศใช้ และหลังจากที่ประกาศใช้แล้ว ก็จะมีรายงานของ กมธ. ที่แก้ไขยืนยันทุกอย่าง

นี่เป็นความผิดพลาดขั้นเอกสารประกอบของ พ.ร.บ. แต่เราจะมีการแก้ไขจริงๆ ในขั้น กมธ.อีก ที่สำคัญร่าง พ.ร.บ.ที่เราเสนอไปไม่ผิด ผิดแค่ร่างประกอบ พ.ร.บ.ที่เสนอควบคู่ไปกับร่าง พ.ร.บ. ดังนั้น จึงไม่ถือว่าใครมีความผิด แต่หากผิดในร่าง พ.ร.บ.จึงจะถือว่ามีความผิดร้ายแรง

ราคากลางในการจัดซื้อรถตู้คันละประมาณ 1.2 ล้านบาทนั้น จัดทำไว้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2555 และมีการปรับปรุงทุกปี ราคากลางปี 2556 อยู่ระหว่างปรับปรุง จะนำมาใช้ในขั้นตอนการพิจารณาของ กมธ. แต่เท่าที่ทำมา ราคากลางไม่เคยต่ำกว่าคันละ 1 ล้านบาท


ที่มา : นสพ.มติชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook