"เรียน-เล่น" สำเร็จแบบญี่ปุ่น ทางเลือกการศึกษา "เด็กปฐมวัย"
โดย นันทิชา ป้องเขตต์
"เด็กวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า"
เป็นคำเชยๆ ที่หลายคนคุ้นชิน ไม่ว่าจะจากคำปราศรัยของนักการเมือง การอบรมหน้าเสาธงของอาจารย์ใหญ่ หรือแม้กระทั่งปรากฏตามป้ายงานเกี่ยวกับเด็ก
และไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลย หากสภาพสังคมเรากลับเดินสวนกระแสกับคำคำนี้ที่หวังอยากเห็น "ผู้ใหญ่" ที่มีคุณภาพในวันข้างหน้า โดยเราพบเห็นเหตุการณ์ปล้น ฆ่า หรือกระทำการเพื่อผลประโยชน์ของตนเป็นหลัก ปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์แทบทุกวัน
เหล่านี้เป็นตัวสะท้อนว่าสังคมเรามีปัญหาในเรื่องของการสร้างคน
ท่ามกลางหยาดฝนโปรยปรายตลอดวัน ได้เกิดปฏิกิริยากระตุ้นสังคมดีๆ จากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย (WPORT) จัดเสวนาพิเศษภายใต้หัวข้อ "สอนเด็กไทยอย่างไรให้มีคุณภาพ?"
พร้อมเผยผลวิจัยเรื่อง "การศึกษาเปรียบเทียบการจัดการศึกษาปฐมวัย ในบริบทของประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น" ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังการเสวนาถึงขั้นต้องเพิ่มเก้าอี้เสริมเพื่อรองรับ
บรรยากาศในงานเข้มขึ้นทันที เมื่อ วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ อาจารย์สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าโครงการวิจัยตั้งคำถามต่อปรากฏการณ์หนึ่ง
"เห็นข่าวเหตุการณ์รถปลาคว่ำ แล้วคนก็กรูกันไปเก็บปลาที่มันดิ้นๆ อยู่บนถนน เรารู้สึกว่า ถ้ามีเหตุการณ์หนักๆ อย่างสึนามิ เกิดขึ้นที่ประเทศเราบ้าง มันคงจะมีอารมณ์เหยียบกันตาย เพื่อแย่งอะไรบางอย่างแบบนี้หรือเปล่า ถ้ารถปลาคว่ำแล้วคนยังไม่มีสำนึก เข้าไปหยิบปลากลับมาเป็นของตัวเองได้ แสดงว่าเกิดอะไรขึ้นกับสังคมนี้
"นี่คือโจทย์ที่เรียบง่ายมากว่า ทำไมคนของญี่ปุ่นเขาสร้างของเค้าได้ แล้วทำไมเราถึงสร้างไม่ได้"
วิมลทิพย์เผยถึงสาเหตุที่เลือกศึกษาประเทศญี่ปุ่นและโจทย์ของการทำวิจัยเรื่องนี้ว่า เห็นความแตกต่างของคนทั้งสองชาติในช่วงที่เกิดภาวะคับขัน ประเทศไทยเลือกที่จะเอาตัวรอด ขณะที่ญี่ปุ่นเลือกที่จะช่วยเหลือตนเองและเพื่อนบ้านไปพร้อมๆ กัน อีกทั้งประเทศญี่ปุ่นมีระบบการจัดการการศึกษาปฐมวัยที่เน้นการเรียนรู้ตามความสนใจของวัยนั้นๆ
โดยวัยที่เหมาะสมแก่การปลูกฝังการมีจิตสาธารณะ คือ ช่วงประถมวัยคือช่วงอายุ 0-6 ขวบ หรือก่อนที่จะเรียน ป.1 หรือชั้นอนุบาลนั่นเอง
"มีงานวิจัยหลายชิ้นตรงกันว่าช่วงเด็กเล็กๆ นี้สำคัญ ′จินตนาการ′ หรือ ′ความคิดสร้างสรรค์′ อะไรต่างๆ เกิดขึ้นในช่วงนี้ทั้งหมด สามารถฟอร์มคนให้เป็นคนดีหรือไม่ดีได้ ด้วยช่วงนี้เลย เรียกว่า ′golden age′ เป็นวัยทอง แต่เราทำอะไรกับเด็กเราหรือเปล่า เด็กเราเรียนเอาเป็นตายในช่วงที่เขาไม่ควรเป็นอย่างนั้น เขาควรจะเล่นหรือทำอย่างอื่น" หัวหน้าโครงการวิจัยอธิบาย
พร้อมเปิดเผยงานวิจัยว่า ครูประถมวัยที่ญี่ปุ่นมีหน้าที่แค่ 3 อย่าง คือ 1.สร้างจากสภาพแวดล้อมให้เกิดการเรียนรู้ 2.ทำยังไงก็ได้ให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันเอง นี่เป็นความโดดเด่นของญี่ปุ่นคือ ′การทำงานเป็นทีม′
และ 3.ครูมีหน้าที่ในการเล่นบทบาทที่หลากหลาย เพื่อช่วยให้เด็กได้ปฏิสัมพันธ์กันเอง เช่น ให้เด็กคละวัยคละชั้นมาเล่นด้วยกัน โดยครูทำหน้าที่เป็นผู้คอยอำนวยความสนุกให้แก่เด็ก และเชื่อมั่นว่าช่วงวัยนี้ไม่ใช่วัยของวิชาการ วิชาการนั้นเป็นเรื่องของอนาคต เขาต้องการเตรียมคนเพื่อเรียน ไม่ใช่เพื่อสอบ
วิมลทิพย์เปรียบเทียบว่า การศึกษาเหมือนการวิ่งมาราธอนที่ค่อยๆ วิ่งไปแล้วจะต้องรู้สึกตลอดทางว่า ชมนกชมไม้ไปด้วย รู้สึกมีความสุขกับการวิ่งมาราธอนนั้น แต่หากเราทำเป็นเหมือนการวิ่งแข่ง 4x100 เร่งปุ๊บ เมื่อถึงจุดหนึ่งเราเริ่มไม่อยากเรียนแล้ว เบื่อ ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นได้ ญี่ปุ่นชัดเจนในจุดนี้ การศึกษาของเขาคือการวิ่งระยะยาว วิ่งมาราธอน เพราะฉะนั้น ปรัชญาของเขาชัดเจนว่าเน้นพัฒนาการตามวัย
"แก่นหลักสูตรของญี่ปุ่นก็จะมีสิ่งแวดล้อมศึกษา, ภาษา และการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น เวลาประเมินผลครูเขาจะประเมินผ่านเด็ก ว่ามีความสุขขึ้นไหม เรียนแล้วมีชีวิตที่ดี อยากไปโรงเรียนทุกวันไหม เด็กมีการช่วยเหลือตัวเองที่ดีขึ้น ถ้าเป็นเช่นนั้น ครูจะได้รับการประเมินผลที่ดี ไม่ใช่ประเมินผลจากวิทยฐานะที่เพิ่มขึ้นของครู
"สำหรับเขา ต่อให้ครูเรียนจบปริญญาโทก็ไม่ได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น หากนักเรียนไม่ได้มีพัฒนาการที่ดี" อาจารย์สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าว
ขณะที่การศึกษาของญี่ปุ่นเน้นพัฒนาการตามวัย ประเทศไทยกลับมีแนวทางที่แตกต่าง
นั่นคือการเพ่งเล็งกับเรื่องวิชาการอย่างหนักหน่วง เห็นได้จากการส่งบุตรหลานเข้าโรงเรียนกวดวิชาและหลักสูตรของเด็กปฐมวัยมีหลักสูตรการเรียนที่เข้มข้น
ท้ายสุดหัวหน้าโครงการวิจัยได้เสนอระบบการคิดใหม่
"ถ้าเราไม่ปรับระบบการคิดในหัวของเรา และปล่อยให้ความคิดนี้ดำเนินต่อไป แสดงว่าเรากำลังทำร้ายลูก ปัจจุบันเรากำลังมีการศึกษาที่หวังว่าลูกเราจะเป็นหมอ เป็นวิศวะ แต่จริงๆ แล้วไอ้เด็กหลังห้องที่เขาอาจจะไม่เก่งเลย แต่เขาทำอาหารอร่อยที่สุดในโลก คือมีอีกหลายอาชีพเป็นร้อยเป็นหมื่น ทำไมต้องเป็นหมอ เป็นวิศวะ คือโลกมันเปลี่ยนแล้ว" วิมลทิพย์ปิดท้ายอย่างน่าคิด
อนาคต คงไม่สามารถทราบได้ว่าวงการการศึกษาบ้านเราจะมีแนวโน้มไปในทิศทางใด แต่เราทุกคนในฐานะผู้ใหญ่ในวันนี้ มีหน้าที่ที่จะปลูกฝังและบ่มเพาะความมีจิตอาสาให้แก่เด็กๆ เชื่อว่าเป้าหมายที่เราวางไว้อย่างสวยหรูจะเกิดขึ้นได้จริงในวันหน้าอย่างแน่นอน
หน้า 21,มติชนรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน 2556