ตามไปดู "ฉะเชิงเทราโมเดล" ต้นแบบความสำเร็จการศึกษาไทย
อย่างที่ทราบกันว่าที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้พยายามปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาเด็กไทย รวมถึงทุกโรงเรียนได้คิดค้นรูปแบบการเรียนการสอนของตนเองให้มีคุณภาพสูงมาหลายต่อหลายครั้งแล้ว แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เมื่อเร็วๆ นี้มีโอกาสตามคณะปิโก ไทยแลนด์ เดินทางไปยังพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราเพื่อย้อนรอยดูความสำเร็จของการศึกษาไทยในอดีต
หลังจากทางคณะเดินทางถึง จ.ฉะเชิงเทรา จึงไม่รีรอมุ่งหน้าไปยังวัดคู่บ้านคู่เมือง เพื่อกราบนมัสการหลวงพ่อพุทธโสธร วัดโสธรวรารามวรวิหาร แม้อากาศวันนี้จะร้อนอบอ้าวบ้างแต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคที่จะได้สัมผัสบรรยากาศของโรงเรียนต่างๆ ที่ได้รับเลือกเป็น "โรงเรียนนำร่องในการพัฒนาตามโครงการฉะเชิงเทราโมเดล" เริ่มตั้งแต่โรงเรียนวัดจุกเฌอ กลายเป็นแหล่งดูงานยอดนิยม รวมถึงโรงเรียนวัดสัมปทวน (นอก) ที่เป็นแหล่งบ่มเพาะความรู้วัยเยาว์ของบุคคลสำคัญทางการศึกษา ตลอดจนโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฏิ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนแห่งแรกของประเทศไทยได้รับการปรับปรุงหลักสูตรมัธยมวิชาสามัญแบบประสม และโรงเรียนวัดดอนทอง ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ แต่ได้นำโครงการมาประยุกต์ใช้จนทำให้โรงเรียนเล็กๆ ที่อยู่ไกลจากชนบทพลิกโฉมเป็นโรงเรียนดีเด่นของจังหวัด จะเห็นได้ว่าโรงเรียนที่อยู่ในโครงการฉะเชิงเทราโมเดลต่างก็ประสบความสำเร็จมาจนถึงปัจจุบัน แต่ก็ยังมีบางโรงที่จำนวนนักเรียนลดน้อยลงบ้างตามกาลเวลา
ระหว่างทางที่ตระเวนเยือนโรงเรียนต่างๆ นั้น มีโอกาสพูดคุยกับ น.ส.นิภาพร กุลสมบูรณ์ ตัวแทนบริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) ถึงความเป็นมาของฉะเชิงเทราโมเดล ว่า โครงการดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือระหว่างองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) กับรัฐบาลไทยเข้ามาช่วยกันพัฒนาแนวทางจัดการศึกษา โดยเลือกโรงเรียนในจังหวัดฉะเชิงเทรานำร่อง 10 โรงเรียน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2494-2502 ในการจัดตั้ง โครงการปรับปรุงส่งเสริมการศึกษาฉะเชิงเทรา หรือเรียกว่าฉะเชิงเทราโมเดล
"เรื่องราวประวัติศาสตร์การศึกษาเมื่อกว่า 60 ปีก่อน ที่สะท้อนถึงแนวทางจัดการศึกษาของไทยที่ได้รับความช่วยเหลือจากยูเนสโก ที่จะเข้ามาเน้นให้ครูจัดการเรียนการสอนให้เด็กลงมือปฏิบัติและใช้สื่อการเรียนการสอนที่หลากหลาย ทำให้นักเรียนตื่นตาตื่นใจกับความรู้ครั้งใหม่ที่เรียกได้ว่าทันสมัยที่สุดในยุคนั้น" น.ส.นิภาพรกล่าว
จนในช่วงเวลานั้น จ.ฉะเชิงเทรา ได้กลายเป็นยุคทองของการศึกษาไทย มีทั้งผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศแวะมาเยี่ยมเยียนอย่างไม่ขาดสาย อีกทั้งมีคณะผู้บริหารโรงเรียนจากจังหวัดอื่นๆ มาดูงาน ทำให้ครูและนักเรียนในยุคนั้นมีความมุ่งมั่นและความตั้งใจในการจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ เน้นให้เด็กลงมือปฏิบัติจริงและมีส่วนร่วมในชั้นเรียนมากขึ้น
หลังเยี่ยมชมโรงเรียนในโครงการฉะเชิงเทราแล้ว มีโอกาสพูดคุยกับ นายสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) อดีตนักเรียนโครงการนี้ในระดับชั้นประถมที่โรงเรียนวัดดอนทอง และชั้นมัธยมที่โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฏิ์ เล่าว่า สมัยเรียนไม่รู้ว่ามียูเนสโกเข้ามา จำได้ว่าเรียนที่โรงเรียนวัดดอนทองมีความสุขและปลอดภัยทุกครั้งที่อยู่ในรั้วโรงเรียน ครูทุกคนดูแลเอาใจใส่เราเหมือนพ่อแม่อีกคน ไม่เหมือนสมัยนี้ที่ผู้อำนวยการไม่ค่อยอยู่กับสถานศึกษาและเด็ก นับว่าเป็นความโชคดีที่ทำให้เด็กแปดริ้วในสมัยนั้นได้รับความรู้ใหม่ๆ และความตั้งใจสอนของครู
"การศึกษาไทยในปัจจุบันนั้นยังขาดการปฏิบัติที่จริงจัง ฉะนั้น ต้องให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทในด้านการศึกษามากขึ้น จะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับเหล่านักการศึกษาต้องคิดนำเอาบทเรียนที่มีอยู่ไปพัฒนาต่อไป" นายสมหวังกล่าว
ขณะที่ นายเอนก เทพสุภรณ์กุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ (มรร.) ซึ่งเคยเรียนโรงเรียนวัดสัมปทวนและต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฏิ์ เล่าย้อนถึงภาพความทรงจำ ว่า ตอนนั้นไม่รู้หรอกว่ามีโครงการอะไร เห็นฝรั่งเข้ามาเต็มไปหมด ดูแลสุขภาพอนามัย เช่น การปลูกฝี ฉีดวัคซีน นำนมถั่วเหลืองมาให้เราดื่ม และจัดมุมหนังสือเล็กๆ มีตำราภาษาอังกฤษ หนังสือเกี่ยวกับแผนที่โลก ซึ่งไม่มีในประเทศไทยให้อ่านอีกด้วย
นายเอนก เล่าอีกว่า ครูจะให้ความสำคัญกับลูกศิษย์เป็นอย่างมาก ครูหนึ่งคนจะช่วยบูรณาการองค์ความรู้ในขณะเดียวกันหลายๆ เรื่อง สิ่งสำคัญในการเรียนจะเน้นความเข้าใจไม่ใช่ท่องจำเพียงอย่างเดียว
ในห้วงเวลาที่ทุกฝ่ายกำลังคิดค้นระบบมาพัฒนาแวดวงการศึกษานั้น ฉะเชิงเทราโมเดล น่าจะเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ ศธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปศึกษาข้อดีโมเดลนี้ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการปฏิรูประบบการศึกษาได้
คอลัมน์ เลาะรั้วสถาบัน โดย พชรอร ชินทะวัน มติชน 15 มิถุนายน 2556