เคล็ด (ไม่) ลับเก่งอังกฤษจาก Tutor สุด Trendy ลูกกอล์ฟ-คณาธิป สุนทรรักษ์

เคล็ด (ไม่) ลับเก่งอังกฤษจาก Tutor สุด Trendy ลูกกอล์ฟ-คณาธิป สุนทรรักษ์

เคล็ด (ไม่) ลับเก่งอังกฤษจาก Tutor สุด Trendy ลูกกอล์ฟ-คณาธิป สุนทรรักษ์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เปลี่ยนทัศนคติ เลิกคิดว่ากระแดะ และเริ่มเดี๋ยวนี้

          นาทีนี้ถ้าเอ่ยถึงติวเตอร์ที่ Trendy ที่สุดในเมืองไทย ใครๆ ก็คงต้องนึกถึงติวเตอร์ลูกกอล์ฟ-คณาธิป สุนทรรักษ์ เจ้าของสถาบันกวดวิชาสุด classy ชื่อ Angkriz ผู้มีผลงานการสอนภาษาอังกฤษผ่านสื่อออนไลน์ออกมาอย่างต่อเนื่อง และไม่นานมานี้ลูกกอล์ฟก็เพิ่งมีผลงานหนังสือชื่อ "อังกฤษอย่าคิดเยอะ" ซึ่งเขียนขึ้นจากประสบการณ์การสอนและการเรียน
ภาษาอังกฤษของเขาเองที่พบว่าหลายคนลงทุนกับการเรียนภาษาอังกฤษไปไม่น้อย แต่ก็ไม่ถึงฝั่งฝันเสียที ฉบับนี้ I Get English ขอพาคุณผู้อ่านมาพบกับติวเตอร์เปรี้ยวจี๊ดแห่งยุคคนนี้และเราจะมาหาคำ ตอบไปพร้อมๆ กันว่าสาเหตุที่เราเรียนเยอะแต่พูดภาษาอังกฤษไม่คล่องนั้นเป็นเพราะอะไร และควรจะแก้ไขอย่างไร
         ลูกกอล์ฟเริ่มต้นบทสนทนาด้วยความสดใสร่าเริงตามสไตล์ตัวเองว่า เขาเป็นเด็กต่างจังหวัดคนหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองเล็กๆ ที่หาดใหญ่ จบมัธยมจากโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย สายศิลป์-คำ นวณ จากนั้นเข้ามาศึกษาต่อระดับปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเอกสื่อสารการแสดง แล้วไปเรียนต่อปริญญาโทสาขาการกำ กับการแสดงที่ East 15 Acting School, University of Essex กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จนกระทั่ง ตอนนี้เป็นเจ้าของสถาบันสอนภาษาชื่อ Angkriz

ลูกกอล์ฟเข้ามาเริ่มต้นงานสอนภาษาอังกฤษได้อย่างไรคะ
ลูกกอล์ฟเคยเป็นพี่ติวตั้งแต่ตอนปี 1 เทอม 2 ทีแรกเกิดจากการหารายได้พิเศษ จนกระทั่งปีสามก็อยากยึดเป็นอาชีพ เพราะรู้สึกว่าเราไม่เหมาะกับสายงานทางนิเทศศาสตร์ที่เรียนมา แต่พอได้มาสอนรู้สึกว่าได้ใช้ทักษะด้านนิเทศศาสตร์คือการสื่อสารทั้งหมดเลย แต่เราเป็นตัวของตัวเอง ไม่ต้องมีโปรดิวเซอร์ ลูกกอล์ฟได้อยู่กับนักเรียนแล้วมีความสุข ชอบที่จะเห็นคนฉลาดขึ้น

แสดงว่าลูกกอล์ฟไม่ได้มีแค่ทักษะทางนิเทศศาสตร์อย่างเดียว แต่ต้องมีทักษะภาษาอังกฤษอยู่แล้วด้วย
ลูกกอล์ฟเขียนเอาไว้ในหนังสือ "อังกฤษอย่าคิดเยอะ" ว่าลูกกอล์ฟไม่ได้เก่งอังกฤษตั้งแต่เด็ก แต่เริ่มสนใจตั้งแต่ช่วงม. 3 จากนั้นพยายามศึกษาด้วยตนเองตลอด ทำให้ภาษาอังกฤษค่อนข้างแข็งแรงตอน ม. ปลาย แล้วก็ใช้มันในการสอบเอ็นทรานซ์ จนสอบติดได้เข้ามาเรียนที่นิเทศฯ จุฬาฯ

ศึกษาด้วยตัวเองอย่างไรคะ
เริ่มด้วยการบอกคุณแม่ให้ติด UBC แล้วก็ดูทุกรายการที่เป็นภาษาอังกฤษ ตอนนั้นอยู่ ม. 3 ฟังออกน้อยมากๆ มาเริ่มฟังออกตอน ม. 6 มีช่วงหนึ่งลูกกอล์ฟไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศเยอรมนี ก็ได้ใช้แต่ภาษาเยอรมัน ถึงแม้จะเป็นประเทศที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษ ลูกกอล์ฟก็ได้ใช้พอประมาณ เพราะคิดว่าเราต้องพยายามใช้ก็ใช้ไปจนเราชินกับมันและไม่ค่อยแคร์กับข้อผิดพลาด พอกลับมาเมืองไทยก็ทำซ้ำไปเรื่อยๆดูหนัง ฟังเพลง อ่านนิยาย ตอน ม. 6 ก็อ่าน Harry Potter ฉบับภาษาอังกฤษจบ เท่านี้เราก็ว่ามันจ๊าบแล้วนะ


ความแตกต่างของ Angkriz
ตอนตั้งโรงเรียนไม่ได้คิดว่าจะต่างจากโรงเรียนอื่นๆ ยังไงเลย แค่คิดว่าเราชอบอะไร เราอยากอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน Angkriz เกิดจากความชอบของลูกกอล์ฟที่ชอบแฟชั่นประมาณหนึ่งก็เลยดึงมาเป็น gimmick เล็กๆ ชอบห้องเรียนที่สบายไม่แออัด คอร์สที่สอนส่วนใหญ่เป็น ม. 4-6 แก่นของโรงเรียนเราคือ เราเชื่อว่าเด็กไทยรู้ภาษาอังกฤษเยอะแต่ใช้มันไม่ได้ในเชิงของ speaking, listening หรือ writing รู้ศัพท์ตัวใหญ่ๆ เต็มไปหมด แต่เวลาต้องมาพูดอะไรง่ายๆ มันล้มเหลวไปหมด เราจึงเน้นส่งเสริมให้เด็กๆ ใช้ภาษาอังกฤษให้ถูกต้องและนี่คือเหตุผลที่เราสอนสดเพราะต้องการจะดูด้าน speaking ด้วยตัวเอง นักเรียนที่นี่แทบทุกคอร์สจะต้องทำการบ้าน เขียนงานเป็นภาษาอังกฤษส่ง คนที่ตรวจคือแฟนของลูกกอล์ฟซึ่งจบอักษรศาสตร์จาก Oxford มา เด็กที่เรียนจะรู้ว่าละเอียดมากเพราะเราต้องการให้เด็กเขียนเป็นจริงๆ แล้วก็มีงานให้ฟังเยอะมาก เราไม่ศรัทธาที่เด็กเอ็นท์ติดหรือได้คะแนน TOEIC สูง แต่ใช้ภาษาอังกฤษไม่เป็น


จากที่ได้คลุกคลีกับน้องๆ ลูกกอล์ฟคิดว่าเด็กไทยสนใจภาษาอังกฤษมากน้อยแค่ไหน
เราว่าเด็กไทยสนใจภาษาอังกฤษตลอดมานะ คือภาษามันเปิดโลกน่ะ เราต้องเรียนภาษาอังกฤษเพื่อให้รู้ทันโลกมีหลายสิ่งที่ยังไม่ได้ถูกแปลเป็นภาษาไทย เราเรียนเพื่อให้ทันผู้คน ไม่ได้เรียนเพื่อให้รู้สึกว่าฉันโก้เก๋ที่พูดมันได้ เด็กไทยสนใจมากขึ้นอยู่แล้ว เพียงแต่มันมีกรอบเยอะมากที่หยุดการเรียนรู้ หยุดการออกเสียงที่ถูก ด้วยความคิดที่ว่าเป็นการเยอะเกินไป กระแดะเกินไป เด็กไทยไม่ค่อยได้รับการสนับสนุน

อะไรคือสิ่งที่เด็กไทยเข้าใจผิดเกี่ยวกับภาษาอังกฤษ
คิดว่าเป็นการไม่เข้าใจความต่างของภาษามากกว่า คนไทยชอบเข้าใจว่าภาษาอังกฤษมี accent อยู่ 2 แบบ คืออังกฤษกับอเมริกัน ที่จริงมันมีเยอะมาก แต่สิ่งที่ยึดให้คนเข้าใจกันคือการออกเสียงเบื้องต้นให้เป็นภาษาอังกฤษ เช่น เสียง v, เสียง th หรือการพูดคศัพท์ เช่น คำว่า wash กับ fight (ออกเสียงที่ถูกต้องให้ฟัง) แต่บางคนคิดว่าออกเสียงแบบนี้มันเยอะมันกระแดะ เพราะครูไม่ได้ถ่ายทอดว่านี่คือสิ่งที่ถูก แต่ลูกกอล์ฟมองว่าแล้วเราจะเรียนสิ่งที่ผิดไปทำไม พอพูดประเด็นนี้จะมีคนแย้งทันทีว่า ภาษาอังกฤษมีหลายสำเนียงและสำเนียงไทยเป็นสำเนียงที่ไม่ผิด แล้วลูกกอล์ฟก็จะบอกว่าสำเนียงไทยมันไม่ผิด มันไม่เคยผิด แต่มันฟังยากมากเลย การที่คนพูดว่า "เอฟวีติง ลูดเซด อิด อิมพ้อทั่น." (Everything loses its importance.) ฟังยากมากเลยนะเพราะว่า เสียง th ใน everything มันหายไป, คำว่า losesก็เสียงเพี้ยน, คำว่า its เสียงท้ายหายไป, คำว่า importanceอ่านว่า "อิมพ้อทั่น" เราก็ไม่แน่ใจว่ามันมาจาก important หรือ importance คือเจ้าของภาษาเขาฟังออกถ้าพยายามแต่เหตุผลที่เราลงทุนเรียนพิเศษ ลงทุนเรียนโรงเรียนเอกชนก็เพราะเราต้องการพัฒนาภาษาอังกฤษของเราไม่ใช่หรือ


น้องๆ ที่ไม่ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เรียนภาษาอังกฤษเลย แต่อยากเก่งอังกฤษ พี่ลูกกอล์ฟจะแนะนำเขายังไง
ก่อนอื่นต้องถามตัวเองก่อนว่า Do you really need English? ต้องใช้ไหม ถ้าต้องใช้ก็ต้องเริ่มปรับทัศนคติใหม่ คือ ครู-เพื่อนทัศนคติแย่ไม่เป็นไร แต่ถ้าตัวเราทัศนคติแย่ด้วยไม่ต้องเรียนเลยเพราะมันไปได้ไม่ไกล ลองเรียนด้วยวิธีที่ถูกต้องดู เริ่มที่การท่องศัพท์ใหม่ เอาศัพท์ที่รู้มาท่องให้เป็นภาษาอังกฤษที่ถูกต้อง เอาจากapp ฟรีก็ได้ แต่ถ้าไม่มี เราเชื่อว่าเด็กทุกบ้านมีอินเตอร์เน็ต กันดารแค่ไหนถ้าสนใจมันจะไปถึงเข้าไปที่ dictionary.com แล้วดูว่ามันอ่านยังไง คืออย่าอ่านผิดๆ เช่น คำว่า procedure อ่านว่า"เพอร์ซี้เจอะ" ไม่ใช่ "เพอร์ซีดัวร์" พอมีฐานคำศัพท์ประมาณหนึ่งก็ดูหนังฟังเพลงเยอะๆ เพื่อฝึกฟัง แต่เรื่องของการพูดต้องใช้เวลานานกว่าส่วนอื่นๆ เพราะเป็นเรื่องของความมั่นใจและความกล้า ถ้าไม่มีก็จบ แต่ความมั่นใจจะมาจากไหนมันก็มาจากการทำสิ่งที่ถูก เช่น เราพูดอะไรไปอย่างถูกต้องแล้วอีกฝ่ายเข้าใจ ความมั่นใจมันจะเริ่มเกิด
ส่วนการฝึกพูดขอมอบเป็นเทคนิคแล้วกันคือให้ดูข่าว ดูบทสัมภาษณ์ ดู YouTube แล้วพยายามดู structure (โครงสร้าง) ของประโยคที่เขาพูดแล้วดึงมาใช้ คนที่ทำได้หัวจะเร็ว เช่น ไปเจอผู้ให้สัมภาษณ์พูดว่า I'm fed up with mylife. ลูกกอล์ฟก็จะแยกจำเป็น ... to be fed up with ... หมายถึง "...เบื่อหน่ายกับ..." แล้วเปลี่ยนประธาน เปลี่ยนเรื่อง เช่น He is fed up with his career. หรือ Thai people are fed up with the weather. เราทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะผิดค่อนข้างน้อยเพราะเป็นสิ่งที่เจ้าของภาษาพูด ถ้าอยากเก่ง ต้องไม่คิดว่าตัวเองเก่ง ฝึกไปเรื่อยๆ ไม่ย่อท้อ สร้างความมั่นใจจากการทำสิ่งที่ถูกต้อง กล้าพูดกล้าออกเสียง ลองฝึกคิด เสพสื่อเยอะๆ เลิกหาข้ออ้างที่จะไม่ฝึก และ start now ต้องเริ่มเลย

ให้กำลังใจน้องๆ ที่กำลังตั้งใจฝึกฝนภาษาอังกฤษ
ถ้ารู้สึกว่าอยากเอาดีด้านภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาสากล จงมีความเชื่อว่าทุ่มเทกับมันแล้วมันจะพาเราไปสักที่ที่ดี เพราะมันพาพี่มาไกลมาก แล้วมันจะพาคนที่เก่งภาษาอังกฤษไปสักที่ที่ดีๆ เหมือนกัน ทุกครั้งที่ท้อต้องท่องว่านี่ไม่ใช่ภาษาของเราแต่เราห้ามหยุดฝึก เพราะถ้าจะเก่งในด้านไหนก็ตามต้องห้ามหยุดฝึก คนที่ give up เร็วเกินไปมันน่าเสียดาย เพราะบางทีอีกนิดเดียวจะเก่งแล้วแต่ดันเลิกไปก่อน จำไว้ว่าPractice makes perfect.

คอลัมน์ Interview
เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ I Get English Magazine

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook