เปิดค่าเล่าเรียนคณะฮอตฮิต นักศึกษายังแห่เรียนไม่สนค่าเทอมขึ้น
จากยอดรวมการเข้าโปรแกรมประเมินโอกาสสอบติด EZPlus+ 2013 จากนักเรียนทั่วประเทศ หลังการประกาศผลคะแนน GAT/PAT ครั้งที่ 2/2556 ของ www.eduzone.com พบว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์, บริหารธุรกิจ, วารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ติด 5 อันดับแรกของคณะที่นักเรียนให้ความสนใจ และเลือกประเมินมากที่สุด
ขณะที่ผลการสำรวจอาชีพในฝันยอดฮิต 5 อันดับในใจของเด็กไทย ของ กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ ประเทศไทย พบว่าอาชีพนักธุรกิจติดโผอาชีพในฝันมาถึง 3 ปีซ้อน (2554-2556)
ข้อมูลข้างต้นไม่เพียงเป็นตัวชี้วัดให้เห็นว่า 3 คณะดังกล่าวยังเป็นที่นิยมของนักเรียนไทย เพราะเมื่อหันมามองทางฝั่งมหาวิทยาลัยจะเห็นว่ามีการเปิดหลักสูตร/สาขาวิชาขึ้นมารองรับกระแสตลาดแรงงานของประเทศ และความต้องการเรียนที่เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน ยิ่งกว่านั้นหากลงลึกไปดูข้อมูลเกี่ยวกับค่าเล่าเรียน พบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นตามลำดับ
เตรียมปรับค่าเรียนคณะวิศวะ
ในส่วนของคณะวิศวกรรมศาสตร์ หากมองแง่ของความเป็นเจ้าตลาดด้านหลักสูตร คงต้องยกให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีการเปิดสอนทั้งหมด 13 สาขาวิชา ตามมาด้วยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังที่มี 10 สาขาวิชา
อย่างไรก็ตาม คณะวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเอกชนก็โดดเด่นไม่แพ้กัน โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มีถึง 9 สาขาวิชาให้เลือกเรียน มีค่าเทอมเริ่มที่ประมาณ 8 หมื่นบาท สูงสุดอยู่ที่ 1.3 แสนบาทโดยประมาณ
"รศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์" คณบดีวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า ตอนนี้มีนักศึกษาใหม่ระดับปริญญาตรีประมาณ 1,300 คน ซึ่งพยายามลดจำนวนของนักศึกษาระดับปริญญาตรีลง เพื่อไปเพิ่มจำนวนนักศึกษาระดับปริญญาโทและเอกให้มากขึ้น โดยมีโครงการ 4+1 รองรับ คือเรียนปริญญาตรี 4 ปี และเรียนต่ออีก 1 ปี จะได้ปริญญาโท
"รศ.ดร.สุชัชวีร์" กล่าวเพิ่มเติมว่า ค่าเทอมของคณะอยู่ที่ 17,000 บาท ไม่ได้ปรับมากว่า 5 ปีแล้ว อย่างไรก็ตาม คิดว่ามีแนวโน้มที่จะปรับขึ้น
"ต้นทุนต่อหัวของนักศึกษาในบางสาขาเพิ่มขึ้น อย่างค่าเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่มีราคาสูง โดยจะค่อย ๆ ทยอยปรับค่าเทอมขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ"
นิเทศฯ ม.รัฐ ค่าเทอมพุ่ง
สำหรับคณะนิเทศศาสตร์ หรือวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน พบว่าในปีการศึกษา 2556 มีการปรับค่าเทอมขึ้นกันถ้วนหน้า ที่น่าสนใจคือคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากปกติที่ค่าเทอมอยู่ประมาณ 18,000 บาท แต่ในปีนี้ค่าเทอมเพิ่มขึ้นเป็น 21,000 บาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 3,000 บาท/เทอม ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าค่าเทอม 18,000 บาท มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปีการศึกษา 2550 และเพิ่งจะมาปรับอีกครั้งในปีการศึกษา 2556
เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ก่อนหน้านี้ค่อย ๆ ปรับขึ้นค่าหน่วยกิต โดยเมื่อย้อนหลังไปปีการศึกษา 2550-2553 ค่าหน่วยกิตอยู่ที่หน่วยกิตละ 300 บาท ขณะที่ปีการศึกษา 2554 ขึ้นค่าหน่วยกิตเป็น 400 บาท และในปี 2555 ม.ธรรมศาสตร์ได้ออกระเบียบว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาชั้นปริญญาตรีโครงการปกติแบบเหมาจ่าย ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2555 เป็นต้นไป ส่งผลให้ค่าเทอมขยับขึ้นมาอยู่ที่ 14,800 บาท
เมื่อเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยเอกชนแล้ว พบว่าค่าเทอมของคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอกชนสูงกว่าประมาณ 2 เท่า อย่างของคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพที่มีค่าเทอมเฉลี่ย 6 หมื่นบาท
แห่เรียนบริหารกว่า 2 พันคน
ด้านคณะบริหารธุรกิจ ซึ่งถือเป็นคณะยอดฮิตที่เกือบทุกมหาวิทยาลัยเปิดการเรียนการสอน และจำนวนผู้เรียนที่เลือกเรียนคณะนี้ก็เพิ่มขึ้นทุกปี โดยเรื่องนี้ "ผศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล" คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เล่าให้ฟังว่า ปีนี้มียอดนักศึกษาใหม่ระดับปริญญาตรีกว่า 2,000 คน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 15% และตามปกติจำนวนผู้เรียนคณะบริหารธุรกิจจะเพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละ 10%
"คณะบริหารธุรกิจยังคงเป็นที่ต้องการของนักเรียนอยู่ แต่ละมหาวิทยาลัยพยายามสร้างจุดแข็งที่แตกต่างกัน เหมือนของเรามีจุดยืนชัดเจนว่าเราจะสร้างนักศึกษาออกไปเป็นผู้ประกอบการที่มีความสามารถ มีลักษณะเฉพาะ"
ทั้งนี้ ปีการศึกษา 2556 คณะบริหารธุรกิจ ม.หอการค้าไทยมีค่าเทอมเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 7 หมื่นบาท เช่นเดียวกันกับของมหาวิทยาลัยรัฐที่ได้ขยับค่าเทอมมาเกือบแตะระดับ 2 หมื่นบาท
ทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงการปรับขึ้นของค่าเล่าเรียนใน 3 คณะที่คนนิยมเลือกเรียน ซึ่งเชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ต้องการเรียนเท่าใดนัก เพราะตราบใดที่ตลาดแรงงานยังมีช่องว่างและคนยังต้องการเรียน คณะเหล่านี้ก็จะมียอดผู้เรียนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างแน่นอน