สหกิจศึกษาบุกอาเซียนพลัส ยกระดับบัณฑิตทำงานทั่วโลก

สหกิจศึกษาบุกอาเซียนพลัส ยกระดับบัณฑิตทำงานทั่วโลก

สหกิจศึกษาบุกอาเซียนพลัส ยกระดับบัณฑิตทำงานทั่วโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผ่านไปไม่นานกับ "วันสหกิจศึกษาไทย" ประจำปี 2556 ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สมาคมสหกิจศึกษาไทย และ 9 เครือข่ายของสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ร่วมกันผนึกกำลังจัดตั้งให้สหกิจศึกษาเป็นวันสำคัญสำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างสถาบันและสถานประกอบการขึ้นเป็นประจำทุกปี

โดยในปีนี้ได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 ดำเนินงานภายใต้แนวคิด "สหกิจศึกษาไทย กลไกสู่การพัฒนาประชาคมอาเซียนพลัส" ซึ่งงานนี้จะเน้นการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาความร่วมมือกับนานาประเทศในประชาคมอาเซียนพลัส ทั้งในด้านองค์ความรู้ ตลอดจนวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีระหว่างกัน มากกว่านั้นคือจุดมุ่งหมายในการผลิตบัณฑิตที่มีสมรรถนะวิชาชีพเป็นสากลและสามารถทำงานได้ทั่วโลก

ปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาไทยมีการจัดสหกิจศึกษานานาชาติไม่น้อยกว่า 97 สถาบัน รวม 891 หลักสูตร ใน 376 สาขาวิชาที่อยู่ในโครงการสหกิจศึกษา โดยมีจำนวนนักศึกษาเข้าร่วมโครงการกว่า 27,000 คน ผ่านสถานประกอบการ 12,200 องค์กร จากความร่วมมือที่เกิดขึ้นในประเทศไทยกำลังจะส่งต่อไปสู่ความร่วมมือระหว่างนานาประเทศเพื่อให้เกิดอาเซียนพลัส

"ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน" นายกสมาคมสหกิจศึกษาไทย บอกว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ สกอ.และสมาคมสหกิจศึกษาไทยได้เริ่มขยายผลการดำเนินงานสหกิจศึกษาไปสู่นานาชาติมากขึ้น ที่ผ่านมามีการจัดการประชุมนานาชาติ ICCW 2011 และได้มีการลงนามความร่วมมือกับสมาคมสหกิจศึกษาแอฟริกาใต้ หรือ SASCE และการสำรวจสถานภาพการดำเนินงานสหกิจศึกษาในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อนำไปสู่การสร้างเครือข่ายความร่วมมือสหกิจศึกษานานาชาติ ASEAN Co-op Network รวมไปถึงการจัดตั้งสำนักงานย่อยของสมาคมสหกิจศึกษาโลก หรือ WACE ISO@SUT ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อขับเคลื่อนระบบสหกิจศึกษาของประเทศ

"จากการดำเนินงานในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับการชมเชยและยกย่องจากสมาคม

สหกิจศึกษาโลก ในการจัดงานวันสหกิจศึกษาไทยในครั้งนี้จึงต้องการพัฒนาไปสู่การจัดสหกิจศึกษาในระดับนานาชาติ

ให้มากยิ่งขึ้น โดยเน้นการแลกเปลี่ยนนักศึกษาสหกิจศึกษากับสถาบันอุดมศึกษาในประเทศกลุ่มอาเซียนพลัสก่อน แล้วจึงขยายผลไปยังสถาบันประชาคมโลกตามลำดับ"

ศ.ดร.วิจิตรยังบอกด้วยว่า สิ่งที่ต้องทำจากนี้คือการส่งเสริมการสร้างความรู้ที่ถูกต้องในการแลกเปลี่ยนนักศึกษาสหกิจศึกษาในระดับนานาชาติให้กับสถาบันอุดมศึกษา และสิ่งสำคัญที่จะช่วยประเมินศักยภาพของนักศึกษาไทยได้ ทางสถาบันจะต้องนำผลการประเมินสหกิจศึกษาไปปรับใช้ในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้เกิดประโยชน์ ซึ่งจะเป็นอีกกลไกหนึ่งที่จะสามารถช่วยประเมินคุณภาพของนักศึกษาในขณะอยู่ที่สถานประกอบการได้อย่างดีที่สุด

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการชื่นชมและยกย่องการดำเนินการสหกิจศึกษาประจำปี จึงมีการประกาศมอบรางวัล "สหกิจศึกษาดีเด่นระดับชาติ" ในหลากหลายประเภทด้วยกัน แบ่งเป็น ประเภทสถานศึกษา รางวัลสถานศึกษาดำเนินงานสหกิจศึกษาดีเด่น ได้แก่ มหาวิทยาลัยศรีปทุม, รางวัลสถานศึกษาดาวรุ่งด้านการดำเนินงาน

สหกิจศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ, รางวัลสถานศึกษาดำเนินการสหกิจศึกษานานาชาติดีเด่น ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

ประเภทสถานประกอบการสหกิจศึกษาดีเด่น สำหรับสถานประกอบการขนาดใหญ่ ได้แก่ บริษัท ไอบีเอ็ม โซลูชั่นส์ ดิลิเวอรี่ จำกัด และสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ได้แก่ บริษัท เฟดเดอรัล อีเลคตริค จำกัด และผู้ปฏิบัติงาน

สหกิจศึกษาดีเด่นในสถานประกอบการ ได้แก่ นายธีรศักดิ์ สงวนมานะศักดิ์ บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล (ประเทศไทย)

ประเภทโครงการสหกิจศึกษาดีเด่น ได้แก่ การออกแบบเครื่องหยอดกาวแกนหม้อแปลงไฟฟ้าอัตโนมัติ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (วิทยาเขตขอนแก่น), การศึกษาประโยคที่ไม่สมบูรณ์ในการเขียน จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, การพัฒนา m-Commerce Application บน IOS จากมหาวิทยาลัยนเรศวร และสรุปกฎหมายแรงงานของรัฐสุลต่านโอมานและวิจัยสถานการณ์แรงงานไทยในรัฐสุลต่านโอมาน จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (วิทยาเขตปัตตานี)

การมอบรางวัลเชิดชูเกียรติดีเด่นระดับชาติครั้งนี้จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นว่า การจัดวันสหกิจศึกษานานาชาติครั้งต่อ ๆ ไป จะเห็นบัณฑิตไทยมีความรู้และความสามารถในระดับสากลมากยิ่งขึ้นจากความร่วมมือกันของทุกส่วน ที่สำคัญยังจะเป็นผลดีกับประเทศและนักศึกษาที่จะยกระดับสู่การเป็นแรงงานที่มีประสิทธิภาพ ในตลาดอาเซียนด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook