เตรียมเด็กสู่อาเซียน สร้าง ′ทัศนคติที่ดี′ ต่อเพื่อนบ้าน
อีกเพียง 2 ปีกว่าๆ ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การรวมตัวเป็น "ประชาคมอาเซียน" ซึ่งสิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมมากที่สุด คือ "เตรียมคน" โดยเฉพาะ "เด็กเยาวชน" ให้มีความพร้อมในทุกๆ ด้าน
คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการ เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา จัดงานสัมมนาเรื่อง "ยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อมเด็กไทยสู่เวทีอาเซียน" ที่ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ 306-308 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2 โดยได้นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มาปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ การเตรียมความพร้อมทางการศึกษาของเด็กไทยสู่เวทีอาเซียน
นายพงศ์เทพกล่าวว่า ที่ผ่านมาจากประสบการณ์ของหลายชาติในโลกปัจจุบัน เห็นได้ชัดว่าการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ถือเป็นเรื่องที่มีความ สำคัญมาก อาทิ ประเทศสิงคโปร์ ที่ไม่มีทรัพยากรอื่นๆ แต่เน้นพัฒนาคนจนก้าวขึ้นมาเป็นประเทศแนวหน้าของโลก ขณะที่ประเทศไทยต้องยอมรับว่า แม้จะลงทุนเรื่องการศึกษามาก แต่คุณภาพกลับไม่เป็นที่พอใจ ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะนโยบายด้านการศึกษาที่ผ่านมาดำเนินมาผิดทาง ซึ่งหากต้องการให้ประสบความสำเร็จมากกว่านี้ อาจต้องทบทวนว่าอยากได้คนแบบไหนในอนาคตระหว่างคนที่เรียนด้วยการท่องจำหรือ การคิดวิเคราะห์
"อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญสำหรับเด็กคือภาษา หากเด็กไม่รู้ภาษาอังกฤษถือว่าเสียเปรียบ นอกจากนี้ การมีภาษาที่ 3 จะยิ่งได้เปรียบในอนาคตได้ นอกจากนี้ ยังต้องกระตุ้นให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องของอาเซียนมากขึ้น ทั้งในเชิงวัฒนธรรมและทัศนคติ รวมถึงสร้างคุณธรรม จริยธรรม และจิตสำนึกประชาธิปไตย ที่ต้องปลูกฝังตั้งแต่เล็กๆ ให้เป็นค่านิยม เพราะหากปล่อยให้เข้าโรงเรียนแล้วมากล่อมเกลา อาจจะช้าเกินไป"
ภายในงานเดียวกันได้มีการอภิปรายเรื่องยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อมเด็กไทยสู่เวที อาเซียน ดร.สายสุรี จุติกุล รองประธานคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัย กล่าวว่า ที่ผ่านมานโยบายด้านการพัฒนาเด็กของไทยดีมาก มีเอกสารของแต่ละหน่วยงานชัดเจน แต่ไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง เห็นได้ชัดว่าปัญหาเด็กไม่ได้เปลี่ยนแปลง ยังเป็นปัญหาเดิมๆ ซึ่งบรรจุในหลายฉบับ ก็แก้ปัญหาไม่ได้สักที
"ทางแก้ไขจึงต้องรู้จัก ปรับยุทธศาสตร์ต่างๆ ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น และต้องเริ่มปรับที่ตัวผู้ใหญ่เอง เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เด็ก เช่น อยากให้เด็กมีจิตสำนึกด้านประชาธิปไตยและเคารพสิทธิผู้อื่น ก็จำเป็นจะต้องทำตัวให้เป็นแบบอย่างเสียก่อน รวมถึงผลักดันให้เด็กรู้จักเพิ่มคุณค่าให้เด็กเองจากภายในด้วย"
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือครูหยุย เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก กล่าวว่า การเตรียมเด็กเข้าสู่อาเซียนจำเป็นต้องสร้างฐานความเป็นไทยในใจเด็ก เพื่อหาตัวตนให้กับเด็ก ปัจจุบันเด็กไทยบางคนยังพูดภาษาไทยได้ไม่ถูกต้อง และไม่รู้จักภูมิปัญญาของไทย จึงต้องเร่งสร้างอัตลักษณ์ให้แก่เด็ก ไม่ว่าจะจับเรื่องใดก็ตามขอให้ชัดเจนในการสร้างตัวตนให้แก่เด็ก รวมทั้งต้องสร้างความเข้าใจเรื่องอาเซียนให้แก่เด็ก ศึกษาภาษาต่างๆ ของประเทศเพื่อนบ้าน มิใช่เพียงภาษาอังกฤษ ง่ายๆ คือ ต้องรู้ฐานวัฒนธรรม รู้ว่าชนชาติใดไม่ชอบอะไรเพื่อจะไม่เป็นการเหยียดชาติอื่นโดยไม่รู้ตัว
"เด็กรุ่นใหม่จำเป็นจะต้องสร้างทัศนคติต่อเพื่อนบ้านในอาเซียนใหม่ เพราะเด็กไทยมีทัศนคติในการเหยียดชาติอื่นๆ สูงมาก มองตนเองว่าอยู่เหนือกว่าทั้งที่ไม่ใช่เรื่องจริง เวลาที่จำเป็นจะต้องรวมกลุ่มเพื่อหารือในประเด็นต่างๆ จึงไม่สามารถจับกลุ่มกับผู้อื่นได้"
เรื่องของอาเซียนไม่ใช่แค่ เรื่องเศรษฐกิจเท่านั้นที่สำคัญ หาก "คน" ในอาเซียนก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะคนเป็นผู้ขับเคลื่อนให้อาเซียนก้าวไปข้างหน้าได้