"ไบโอแมส" ดาวเทียมเพื่อโลก
องค์การอวกาศแห่งยุโรป (อีเอสเอ) เตรียมการเพื่อจัดส่งดาวเทียมสำหรับใช้เพื่อการสำรวจโลกขึ้นสู่วงโคจรในปี 2020 ที่จะถึงนี้ เพื่อให้ทำหน้าที่สำรวจและจัดทำ "แผนที่ป่าไม้" ของโลกทั้งใบให้ละเอียดและครบถ้วนให้มากที่สุด
ดาวเทียมที่ว่านี้ถูกขนานนามเอาไว้ว่า "ไบโอแมส" ตัวดาวเทียมจะติดตั้ง "เรดาร์วิถีไกล" ที่สามารถยิงสัญญาณทะลุเมฆหนาๆ ลงมาเพื่อสำรวจและเก็บข้อมูลพื้นที่ป่าซึ่งไม่สามารถเข้าไปสำรวจทางภาคพื้นดินได้ อย่างเช่น พื้นที่ป่าทึบ บอเรียล ในรัสเซีย หรือพื้นที่ป่าฝน อะเมซอน ในอเมริกาใต้ เป็นต้น ข้อมูลที่ได้จะนำมาใช้เป็นฐานข้อมูลในการสร้างแผนที่ 3 มิติ ของพื้นที่ป่าอย่างละเอียดและครบถ้วน สำหรับให้นักวิจัยใช้เพื่อวัดปริมาณคาร์บอนที่กักเก็บเอาไว้ในพื้นที่ป่าเหล่านั้น ทำให้สามารถเข้าใจได้มากขึ้นว่า การตัดไม้ทำลายป่าจะสร้างความเสียหายให้กับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกอย่างไร มากหรือน้อยกว่าที่ประมาณการกันอยู่ในเวลานี้ และช่วยให้การกำหนดพื้นที่สำหรับการปลูกป่า การฟื้นฟูสภาพป่าเพื่อชะลอภาวะโลกร้อนดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แฮงค์ ชูการ์ท นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา หนึ่งในคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการนี้เชื่อว่าโครงการมูลค่า 525 ล้านดอลลาร์นี้ จะยังประโยชน์ที่หาค่าไม่ได้ในการกำหนดนโยบายเพื่อสิ่งแวดล้อมโลก ที่เกี่ยวกับวัฏจักรคาร์บอนและภาวะโลกร้อนนั่้นเอง