ตั้งโจทย์ที่ถูกเพื่อก้าวต่อไป ระบบการศึกษาไทย (จบ)

ตั้งโจทย์ที่ถูกเพื่อก้าวต่อไป ระบบการศึกษาไทย (จบ)

ตั้งโจทย์ที่ถูกเพื่อก้าวต่อไป ระบบการศึกษาไทย (จบ)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คราวก่อนเราพูดถึงเรื่องการตั้งโจทย์การศึกษา โดยการปรับเทียบกับโจทย์ทางธุรกิจที่มี 3 ข้อด้วยกัน ซึ่งโจทย์ข้อแรกเราเทียบกับปรัชญาของการศึกษากับปรัชญาของการทำธุรกิจว่าทุกคนมองเห็นเป็นภาพเดียวกันหรือไม่ และอีก 2 ข้อที่จะพูดถึงในครั้งนี้

2) เวลาทำธุรกิจ เราต้องมีที่ปรึกษาในเรื่องที่บริษัทต้องการคำแนะนำเฉพาะทาง หรือต้องการคำตอบในเชิงกลยุทธ์สำหรับปัญหาที่ซับซ้อน ภาคธุรกิจเข้าใจดีว่าควรจะลงทุนเพื่อก้าวต่ออย่างมีกลยุทธ์ ดีกว่าเสียเวลาจะมานั่งคิดเองคนเดียวในเรื่องที่ต้องการความเห็นที่รอบด้าน ดังนั้นการมีที่ปรึกษาที่ช่วยวางกลยุทธ์ จะเป็นแต้มต่อที่สามารถพลิกเกมทางธุรกิจได้ ที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์จะช่วยบริษัทในการคิดวิเคราะห์สภาพปัญหาธุรกิจ และช่วยระบุฟันเฟืองสำคัญในการหมุนระบบทั้งหมดของธุรกิจให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เปรียบเทียบกับเรื่องการศึกษา เราเห็นปัญหาการศึกษาของเราอย่างไร ใครควรจะเป็นที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ในการแก้ปัญหาเชิงระบบ และกระบวนการสร้างกลยุทธ์เพื่อแก้ปัญหาควรเป็นอย่างไร

3) แน่นอนว่าในบริษัทหนึ่ง ๆ CEO นับเป็นบุคคลสำคัญที่ต้องเป็นผู้นำ (Leader) ขององค์กร เพราะมีส่วนโดยตรงในการกำหนดอนาคตของบริษัทว่าจะรุ่งโรจน์โชติช่วง หรือดำดิ่งลงเหว หากเปรียบเทียบกับโรงเรียนแต่ละแห่ง ครูใหญ่หรือผู้อำนวยการโรงเรียนก็เสมือนกับ CEO เหล่านั้น เมื่อธุรกิจประสบผลสำเร็จ สิ่งแรกที่ต้องให้เครดิต คือความสามารถ วิสัยทัศน์ และความเป็นผู้นำของ CEO บริษัทนั้น ภาคธุรกิจจึงให้ความสำคัญมากในการสรรหาและคัดเลือก CEO ที่มีผลโดยตรงต่อความก้าวหน้าและอนาคตบริษัท เปรียบเทียบกับโรงเรียน เราให้ความสำคัญกับครูใหญ่ และการสรรหาครูใหญ่เหล่านี้มากน้อยเพียงใด อย่าลืมนะครับ อนาคตของโรงเรียนและนักเรียนจะเป็นอย่างไร ก็ขึ้นกับผู้นำเหล่านี้

ผมยังจำได้เสมอ ถึงคำกล่าวย้ำของศาสตราจารย์ ดร.ฮันเนเล นีเอมี ผู้ทรงคุณวุฒิ จากมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ที่ว่า การพัฒนาการศึกษาของฟินแลนด์ ไม่ใช่สิ่งที่เป็นปาฏิหาริย์ แต่เป็นกระบวนการที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบัน บางทีผมก็ลองนึกถึงการศึกษาไทย คงไม่มีปาฏิหาริย์สำหรับเราเช่นกัน !!!

ฟินแลนด์ให้ความสำคัญกับครุศึกษาในฐานะแหล่งบ่มเพาะครูใหม่ พัฒนาครูประจำการ จนถึงการเชื่อมโยงถึงคุณภาพของนักเรียนในสังคม ฟันเฟืองสำคัญในการหมุนระบบการศึกษาไทย จะอยู่ที่ครุศึกษานี่ ใช่หรือไม่ ผมก็ไม่แน่ใจ เราคงต้องตั้งคำถามกันมากขึ้นสำหรับก้าวต่อไป และนี่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำถามทั้งหมด เป็นคำถามที่ตั้งจากความห่วงใยและใส่ใจในอนาคตของประเทศชาติร่วมกัน

อย่าเร่งด่วนมุ่งหาว่าคำตอบคืออะไร...ตราบใดที่เรายังตั้งคำถามที่ถูกทางไม่ได้ เราก็ไม่ได้ก้าวไปที่ใดเลย เพราะคำถามที่ถูกทางเท่านั้นที่จะพาเราแสวงหาคำตอบที่ถูกทิศ และในที่สุดจะได้คำตอบที่แก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง

คอลัมน์ Education Ideas

โดย ศีลชัย เกียรติภาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าท่บริหาร บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook