เนติวิทย์ ซัดระบบการศึกษาไทยล้าหลัง วันไหว้ครูต้องหมอบคลานเข้าไปเหมือนสิงสาราสัตว์

เนติวิทย์ ซัดระบบการศึกษาไทยล้าหลัง วันไหว้ครูต้องหมอบคลานเข้าไปเหมือนสิงสาราสัตว์

เนติวิทย์ ซัดระบบการศึกษาไทยล้าหลัง วันไหว้ครูต้องหมอบคลานเข้าไปเหมือนสิงสาราสัตว์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล โพสต์เฟซบุ๊กซัดระบบการศึกษาไทย ปลูกฝังความเป็นไทยที่เป็นเพียงนามธรรม ล้าหลัง พอถึงวันไหว้ครูก็ต้องหมอบคลานเข้าไปเหมือนสิงสาราสัตว์

เป็นที่ผู้ถึงตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมาสำหรับ นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เลขาธิการสมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทย นักเรียนโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ที่ได้ออกมาเสนอให้ประเทศไทยยกเลิกความเป็นไทย ล่าสุดเกิดกระแสฮือฮาอีกครั้งเมื่อพบข้อความในเฟซบุ๊ก Netiwit Ntw โดยข้อความดังกล่าวนายเนติวิทย์ โพสต์ลงวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา สำหรับข้อความที่นายเนติวิทย์โพสต์ได้ยกคำพูดของตนเองจากงานเสวนาอุษาคเนย์ "ความเป็นไทย ตั้งแต่หัวจรดตีน" เมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา มาลงไว้ โดยมีเนื้อหาในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษาของไทย

ความเป็นไทยตั้งแต่หัวจรดตีน - ผ่านระบบการศึกษาไทย

เป็นเรื่องยากพอสมควรที่จะพูดถึงความเป็นไทย โดยส่วนตัวแล้วผมไม่ค่อยมีความสนใจในความเป็นไทยสักเท่าไหร่ เหมือนคนทั่วไปที่ไม่สนใจความเป็นไทย แต่แน่ละ ผมคิดว่าที่คนส่วนใหญ่ไม่สนใจอะไรคือความเป็นไทย ก็เป็นส่วนหนึ่งของวิธีคิดของความเป็นไทย ที่ไม่ต้องการให้มีการสืบค้น คิดตั้งคำถาม แล้วชีวิตของพวกเราก็วนเวียนกับเรื่องความเป็นไทย โดยส่วนสำคัญในการปลูกฝังนี้ก็คือสถาบันการศึกษา

ตั้งแต่เราเข้ามาในรั้วโรงเรียน ความเป็นไทยก็ถูกนำเข้ามา ผ่านอย่างแรกคือระเบียบวินัยเลย กฎก็คือ จะต้องรักษาความเป็นไทย แล้วความเป็นไทยคืออะไร ไม่ต้องถาม สิ่งที่เป็นไทยคือสิ่งที่มันดำรงอยู่แล้ว เช่น การตัดผมทรงเกรียน-ติ่งหู (คราวที่ผมไปออกช่อง3 ก็มีผู้หญิงพูดเรื่องนี้อยู่) การใส่เครื่องแบบนักเรียน เป็นต้น ถ้าคุณไม่ทำตามระเบียบ คุณก็ไม่ใช่คนที่มีความเป็นไทยเพราะความเป็นไทยคือสิ่งที่เหมือนๆกันและเล่าต่อกันมา เป็นความเชื่อที่เป็นสัจพจน์ ไม่จำเป็นต้องสืบหาให้ปวดหัว แน่ล่ะ แม้เราจะมีความทันสมัยอย่างรวดเร็วเพียงใด หรือจะเข้าสู่สากลโลกปานไหนก็ตาม เราก็ถูกฝึกสอนจากโรงเรียนที่พร้อมจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนด้วยนโยบายที่สวยหรู World Class Standard School ให้คงความเป็นไทยเอาไว้ แนวความคิดของไทยไม่เหมือนชาติใดในโลก หรืออะเมซิ่งไทยแลนด์ถูกปลูกฝังเข้ามา เราจึงเห็นเพจประชาคมอาเซียน ที่แอดมินคนไทยบอกว่า ระบบโซตัส เป็นสิ่งที่พิเศษสำหรับประเทศแห่งนี้ ความคิดการจัดวางลำดับชั้นต่ำสูง ระบบอาวุโส ระบบอุปถัมภ์ ครู - นักเรียน แบบพ้นยุคพ้นสมัย จึงเป็นสิ่งสำคัญ นักเรียนก็ไม่เท่าเทียมกับครู ปัญหาการโต้เถียงถกเถียงครูอาจารย์ในสังคมไทยบางทีก็เป็นเรื่องรับไม่ได้ นักเรียนคิดแย้งก็มีน้อยและส่วนมากไม่กล้า เพราะสภาพที่กดดันและอำนาจนิยม แม้ครูกับครูเองก็มีปัญหา คือผู้บริหารคิดว่าตัวเองวิเศษ สูงส่งกว่าครูธรรมดา ครูก็มีหน้าที่รับฟัง เชื่อฟัง ขัดแย้งไม่ได้ แม้มีคนขัดแย้งก็หาพวกรวมกลุ่มกันได้ยาก เพราะครูเองก็เคยเป็นนักเรียนถูกหลอมผ่านระบบการศึกษาที่เห็นระบบอาวุโส เป็นของดี วันไหว้ครูก็ต้องหมอบคลานเข้าไปเหมือนสิงสาราสัตว์ แล้วก็อ้างว่า เป็นของไทย น้ำตาจะไหลเพราะซึ้งจัด

ทีนี้ขอพูดถึงตำราเรียน เน้นไปเฉพาะวิชาสังคมศึกษา หมวดประวัติศาสตร์ ตั้งแต่จำความที่เรียนมาได้ ป. 1 ไปถึง ม. 4 พวกอาณาจักรโบราณ สุโขทัย อยุธยา เป็นสิ่งที่ถูกเน้นมากที่สุด กรุงธนบุรีก็นิดๆ ให้มีข้อสงสัยเรื่องพระเจ้าตากสิน แล้วก็ผ่านไปรวดเร็วที่กรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเรืองรองรุ่งโรจน์มีเขตแดนไพศาลกว่าปัจจุบันมาก ทั้งลาว พม่า กัมพูชาบางส่วน ฯลฯ ก่อนที่จะถูกพวกฝรั่งมังค่าเอาไป ที่ผมจำได้คือ 14 ครั้ง นี่ถูกสอนครั้งแล้วครั้งเล่า จากวิดีโอ บรรยายฉายภาพพร้อมเพลงปลุกใจไปด้วย ผมคิดว่าถ้าใครดูแล้ว นักเรียนส่วนมากต้องเกิดสำนึกชาตินิยมขึ้นมา รู้สึกหวงแหนดินแดน แล้วเห็นว่าพวกดินแดนนั้นเป็นของไทยจริงๆ ซึ่งในความเป็นจริงมันไม่ใช่ อาการเหยียดเพื่อนบ้านก็ย่อมมี มีการรำ มีแหล่เรื่องเสียดินแดน 14 ครั้ง ในโรงเรียนด้วย แสดงว่าเราจะเข้าประชาคมอาเซียนแบบดูถูกเพื่อนบ้าน ไม่เป็นเรื่องที่ฉลาดเลย แล้วก็มาถึงยุคเสด็จพ่อร.5 ปฏิรูปรวมศูนย์อำนาจ สมัยล้นเกล้ายรัชกาลที่6 ก็เฟื่องฟูด้วยวรรณคดี วรรณกรรม พอสมัยทูลกระหม่อมประชาธิปก (รัชกาลที่7) มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็จบไปรวดเร็ว ความขัดแย้งทางความคิดในสมัยนั้นก็ไม่มี ไม่ต้องสอน เสรีไทยก็ไม่ต้องสอน สอนนิดนึงพอ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าคนสำคัญ พวก 14 ตุลา หรือ 6 ตุลาคม เราได้บทเรียนอะไรไม่มี ประวัติศาสตร์ของเราที่สอนๆกัน เน้นไปเมื่อ 100 - 700 ปีที่แล้ว ดังนั้นคนในประเทศเราไม่แปลกที่มีความคิดแบบ หนึ่งร้อยปีก่อน ความเป็นไทยในจินตนาการเยาวชนคือยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ยุคอยุธยา สุโขทัย 2475 ไม่ใช่พวกนี้ เป็นของแปลกปลอม ก็ไม่แปลกที่คนรุ่นใหม่ไม่รู้จักนายปรีดี นายป๋วย หากสงสัยเหมือนกันว่าที่เราเรียนๆกันมานี้ จะหาเยาวชนไทยรู้จักสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ก็น้อย สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ พระบิดาประวัติศาสตร์ไทย หลวงวิจิตรวาทการ หรือหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งพวกนี้มีส่วนในการสร้างความเป็นไทยที่เป็นกระแสหลักก็ไม่มีใครรู้จัก คือประวัติศาสตร์เราแคบมาก เน้นการท่องจำจนเกินไป แบบไม่มีความสุข ไม่ให้ศึกษาวิเคราะห์ ซ้ำร้ายที่สุดคือชุดความคิดที่พวกเขาสร้างประดิษฐ์กรรมขึ้นมา ซึ่งซึมเข้าสู่สังคมจนสังคมเป็นแบบที่เราเห็น ไม่มีการเรียนการสอน การศึกษาอดีตของเราจึงเป็นของปลอม ไม่ให้คนมีความลึกซึ้ง คนที่อยากจะเรียนรู้จึงหวังพึ่งตำราเรียนไม่ได้

การสอนนั้นยังไงเราก็ต้องมีการสอนกันต่อไป แต่การสอนมี 2 แบบ คือ 1)สอนให้โง่ กับ 2)สอนให้ฉลาด เวลานี้ดูเหมือนเราสอนให้โง่ ถ้าสอนให้ฉลาดต้องสอนให้มีการตั้งคำถาม ตรวจสอบกับอดีตซึ่งมีผลกับปัจจุบันทั้งนั้น เหตุใด ทำไมจึงเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ นี่ไม่มี การสอนแบบนี้คือสอนให้โง่

ในสุดท้ายแม้เราจะไม่รู้หรอกว่าความเป็นไทยคืออะไร ถามครู ถามนักเรียน ถามใครๆหาคำตอบที่ชัดเจนไม่ได้ แต่เราก็ยังยินดีอุทิศตัวให้กับนามธรรมแบบนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชนชั้นปกครองเห็นว่าเป็นของดี เพราะถ้าคุณถาม อำนาจของพวกเขาก็สั่นคลอน ความเป็นไทยที่ครอบงำสมอง ทรงผม เครื่องแบบ จากหัวจรดตีน ก็จะพินาศไป ผมอยากให้เราไปพ้นความเป็นไทย ที่มี ย ซึ่งความเป็นไทยแบบนี้คือความเป็นทาสที่ไม่ต้องล่ามโซ่พันธนาการก็ยินดีกับความเป็นทาส ฉีกกรอบไปหาความเป็นไท ที่อิสรเสรี แล้วคิดว่านักเรียนเวลานี้ก็ตื่นตัวกันมากแล้วที่จะเป็นไท

ในงานเสวนาอุษาคเนย์ "ความเป็นไทย ตั้งแต่หัวจรดตีน"

ณ ห้องศศ.201 คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ท่าพระจันทร์)

วันเสาร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ.2556

นำไปตีพิมพ์ลงนิตยสารยุววิทย์(มาจอย) ปีที่1 ฉบับที่3

ขอขอบคุณพี่ต่อศักดิ์ สุขศรี นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพี่จตุชัย แซ่ซือ นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ช่วยให้คำปรึกษา มา ณ ที่นี้ครับ

* ร่างดัีงกล่าว ร่างไปไม่ตรงกับหัวข้อจริงๆ จึงไม่ได้พูดตามนี้

(คลิปสัมภาษณ์รายการ The Daily Dose ออกอากาศทางช่อง VoiceTV)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook