เจาะใจ... ′จาตุรนต์ ฉายแสง′ "ผมไม่ใช่อัศวินม้าขาว"
กลับมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อีกครั้ง สำหรับ นายจาตุรนต์ ฉายแสง หลังจากถูกเว้นวรรคทางการเมืองไป 5 ปี ในตำแหน่งสุดท้ายคือรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ในปี 2549 แต่หลังจากพ้นโทษทางการเมือง ก็กลับมารับตำแหน่ง "รัฐมนตรีว่าการ ศธ." อีก เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ หรือ "ครม.ปู 5" ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่ผ่านมา
ด้วยความที่เป็นคนที่ได้รับการยอมรับจากคนในแวดวงการศึกษาไทย ทำให้เสียงตอบรับดังกระหึ่ม เพราะ "คาดหวัง" ให้นายจาตุรนต์เข้ามาสานต่องานต่างๆ ของ ศธ.ไม่ว่าจะเป็น "การปฏิรูปหลักสูตร" ที่กำลังดำเนินการอยู่ การสะสางปัญหาการทุจริตใน ศธ.โดยเฉพาะ "การทุจริตสอบครูผู้ช่วย กรณีมีความจำเป็น หรือเหตุพิเศษ ว12" ที่ส่งผลสะเทือนไปทั่ววงการ "แม่พิมพ์ไทย" เพื่อกอบกู้ภาพลักษณ์ของครู รวมถึง ปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย
แต่ด้วยความที่นายจาตุรนต์ถูกมองว่าเป็นคนทำงานเชื่องช้า ไม่กล้าตัดสินใจ และไม่เด็ดขาด ทำให้การขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาไปไม่ถึงไหน
"มติชน" จึงถือโอกาสนี้ สัมภาษณ์พิเศษเกี่ยวกับแนวนโยบาย และทิศทางงานด้านการศึกษา รวมถึง รูปแบบการทำงานในการหวนคืนตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ในครั้งนี้
@ หายจากวงการศึกษา 7 ปี กลับมาคราวนี้ต้องทำการบ้านอะไรบ้าง?
"การบ้านคงต้องทำ เพราะผมว่างเว้นจากการเป็นรัฐมนตรีมานาน และไปทำงานอื่น ทั้งการเมือง การผลักดันให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย ช่วยงานพรรคการเมืองด้วย ในช่วงหลังไม่ได้คิดเตรียมตัวเตรียมใจจะมาเป็นรัฐมนตรี เพราะคิดว่าหลังการเลือกตั้งทั่วไปอีก 2 ปี ค่อยไปว่ากันว่าจะได้เป็นรัฐมนตรี หรือไม่ได้เป็น แต่ได้มาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.คราวนี้ก็ปุบปับมาก รู้ล่วงหน้า 2 วันตอนที่นายกรัฐมนตรีแจ้ง หลังจากนั้น 3-4 วันทรงโปรดเกล้าฯ และวันรุ่งขึ้น (1 กรกฎาคม) ก็เข้ามาทำงานที่ ศธ.เลย
ถึงแม้ว่าจะมีทุนเดิมคือเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.มาก่อน หรือสนใจงานการศึกษาอยู่บ้าง แต่ก็ยังต้องทำความเข้าใจสภาพปัจจุบันอยู่มากพอสมควร เพราะมิฉะนั้นจะกลายเป็นเอาแต่ความคิดตัวเองที่คิดได้ เข้ามาบอกให้ทุกคนทำตาม ก็คงไม่ถูก โชคดีที่ได้มีโอกาสร่วมร่างนโยบายด้านการศึกษาของพรรคเพื่อไทย นโยบายของรัฐบาล จึงเข้าใจสาระของนโยบาย แต่เมื่อนำมาใช้แล้ว เรื่องต่างๆ อยู่ในสภาพอย่างไร คืบหน้าถึงไหน มีปัญหาอุปสรรคอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ และยังต้องคิดค้นว่าเรื่องสำคัญๆ ที่ควรจะเน้น ควรจะทำก่อนคือเรื่องอะไร เพื่อกำหนดเป็นนโยบายจากนี้ไป ให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และมีลักษณะสานต่อเรื่องเดิม และทำในเรื่องที่ยังขาด หรือเรื่องสำคัญๆ ที่ควรจะเน้นเป็นพิเศษคืออะไร ตอนนี้อยู่ระหว่างความพยายามสังเคราะห์โดยเริ่มจากการรับฟังมากๆ ก่อน"
@ มองบริบทของการศึกษาเมื่อ 6-7 ปีก่อน กับปัจจุบันอย่างไร?
"หลายเรื่องเป็นเรื่องต่อเนื่อง สำคัญว่าพัฒนาการเป็นไปอย่างไร มากน้อยแค่ไหน ถูกทิศทางหรือไม่ แล้วก็สภาพการณ์ของประเทศ หรือสภาพการณ์ของโลกภายนอกก็เปลี่ยนไปมาก การศึกษาได้พัฒนา หรือมีแนวโน้มจะพัฒนาที่จะเอื้ออำนวย หรือรองรับการที่ประเทศจะต้องพัฒนาให้สามารถจะอยู่ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะต้องมีทั้งความร่วมมือ และแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้หรือไม่ นี่เป็นโจทย์ข้อใหญ่ ซึ่งนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล ได้คิดเรื่องเหล่านี้มาแล้ว แต่ตอนนำมาประยุกต์ให้เข้ากับการทำงานใน ศธ.หรือการทำงานด้านการศึกษา ได้ประยุกต์กันไปมากน้อยแค่ไหน นำไปใช้แค่ไหน และใช้ได้ผลมากน้อยแค่ไหน กับอีกอย่างคือความเชื่อมโยงระหว่างเรื่องต่างๆ มิติต่างๆ ของการศึกษาในส่วนนี้ จะไม่อยู่ในนโยบาย เป็นเรื่องกระบวนการบริหารจัดการที่ต้องมาคิด
แล้วก็มีเรื่องสำคัญๆ ที่ต้องคิด และยกเครื่อง ที่ผมใช้คำว่ายกเครื่อง ไม่ได้หมายความว่าที่ทำมาแล้วไม่ดี อย่างนโบายล่าสุดของนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรัฐมนตรีว่าการ สธ.ได้กำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลหลายเรื่อง ก็ควรจะต้องส่งเสริมผลักดันต่อไป แต่ขณะเดียวกันผมคิดว่ามีจุดสำคัญๆ ที่ต้องมาเน้น มาเพิ่ม แล้วมาจัดลำดับความสำคัญ เลือกเรื่องที่ทำแล้วจะส่งผลกระทบต่อเรื่องอื่นมากๆ เพื่อให้ทั้งระบบขับเคลื่อนได้เร็ว คือประเทศเรากำลังต้องการการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพัฒนาในเรื่องการศึกษา และการพัฒนาคนค่อนข้างมากเพื่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และรองรับการที่เอเชียกำลังเป็นทวีปที่มีศักยภาพของโลก"
@ นโยบายเร่งด่วนคือปฏิรูปการเรียนรู้?
"ปฏิรูปการเรียนรู้ บางทีผมก็ชอบใช้คำว่าปฏิรูปการเรียนการสอน ความหมายเดียวกัน บางทีต้องพูดครอบคลุม เพราะเกี่ยวกับการสอน หรือบทบาทของครูอยู่ด้วย ถึงได้มีคำว่าการสอน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เคยทำ และขาดช่วงไป แต่ไม่เชิงที่จะเอาของเก่ามาเล่าใหม่ เพราะบริบทเปลี่ยนไป เวลานี้ ศธ.ประกาศไปแล้วว่าจะปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และจะมีผลใน 1-3 ปี ผมคิดว่าอาจจะต้องขอปรับกระบวนการด้วยการปฏิรูประบบการเรียนรู้ และการเรียนการสอนเสียเลย เตรียมการ และลงทำเพื่อให้ไปรับกับหลักสูตรใหม่ พอหลักสูตรใหม่ออกมา ก็จะมีพื้นที่ที่จะปรับการเรียนการสอนมากขึ้นไปอีก ซึ่งการปฏิรูปการเรียนรู้ และการเรียนการสอน จะเน้นเรื่องการคิดวิเคราะห์ ความเข้าใจ การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การสร้างคุณลักษณะของเด็ก หรือผู้เรียนที่พึงประสงค์
ทั้งนี้ ในยุคปัจจุบัน การเรียนรู้ และการเรียนการสอนในโลกยุคอินเตอร์เน็ตแพร่หลาย มีการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น มีความรู้อยู่ในระบบอินเตอร์เน็ตมากมายมหาศาล ฉะนั้น จะต้องกำหนดหลักสูตรว่าจะให้เด็กระดับไหนเรียนอะไร ควรเรียนอะไร เรียนอย่างไร สอนอย่างไร และในยุคที่มีเด็กเข้าสู่อินเตอร์เน็ตได้ จะเรียนอย่างไร สอนอย่างไร จะแนะนำผู้เรียนอย่างไร มันเป็นโจทย์ข้อใหญ่มาก เพราะจะพบปัญหาว่า ครูให้การบ้าน เด็กก็เข้าไปค้นหาในกูเกิล หรือยาฮู เสร็จแล้วก็ตัดแปะส่งอาจาจารย์ได้เลย ซึ่งก็มีเสียงบ่นว่าถ้าเป็นอย่างนี้ จะได้ผลอะไร โดยสิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าวิธีให้การบ้าน วิธีสอน บทบาทของครูในห้องเรียนต้องเปลี่ยน แทนที่จะถามนักเรียนว่าคำนี้คืออะไร ก็ไปค้นมา แต่ต้องเปลี่ยนเป็นหลังจากค้นหาคำนี้แล้ว ต้องให้เด็กตั้งคำถาม ให้เปรียบเทียบกับคำอื่นเพื่อให้โยงไปเรื่องอื่น ให้แสดงความเข้าใจ ให้รู้จักคิดในความรู้ที่เยอะแยะไปหมด ซึ่งครูต้องช่วยแนะนำเด็กว่าจะเรียนอะไร หาความรู้อะไร เพื่อโยงกับหลักสูตร นี่คือเรื่องใหม่ และต้องทำการปฏิรูปการเรียนรู้ และการเรียนการสอนด่วน"
@ มีแนวทางการพัฒนา และอบรมครูอย่างไร?
"การเรียนการสอนสำหรับหลักสูตรปัจจุบัน ในยุคการเรียนรู้สมัยใหม่นี้ บทบาทของครูต้องเปลี่ยนไป การอบรมพัฒนาครูต้องเกิดขึ้น เพื่อให้มีการเปลี่ยน ต้องมีกระบวนการใหม่ จะทำอย่างไรเพื่อทำให้ครูเรียนรู้ได้เร็ว และจะต้องเชื่อมโยงไปกับคอมพิวเตอร์แบบพกพา หรือแท็บเล็ตที่นำมาใช้ในการเรียนด้วย ซึ่งแท็บเล็ตเป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญเรื่องหนึ่ง จะต้องทำเนื้อหาที่ให้ได้มาตรฐาน และยังต้องมีวิธีเรียน วิธีสอนอยู่ในนั้น มีแบบฝึกหัด การทดสอบด้วย ทั้งนี้ ในส่วนของครูนั้น จะต้องหาวิธีจูงใจด้วยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกับการประเมินวิทยฐานะให้มากขึ้น ไม่ใช่ประเมินวิทยฐานะจากการพิจารณาเอกสารมากเกินไป ใครสอนดีก็ควรได้รับการเลื่อนวิทยฐานะง่ายขึ้น"
@ งานด้านอาชีวศึกษาเน้นนโยบายใดเป็นพิเศษ?
"ผมคิดว่ามีความพยายามทำในหลายเรื่องอยู่แล้ว และทิศทางก็น่าจะดี อย่างการเรียนแบบทวิภาคี การยกระดับพัฒนาคุณภาพ การแก้ปัญหาเรื่องผู้สอน การแก้ปัญหาคนนิยมเรียนอาชีวะน้อยลง ซึ่งเป็นทิศทางที่ถูก แต่ต้องมาประเมินว่า ระดับคุณภาพของเด็ก ความสอดคล้องกับตลาด ความต้องการของประเทศเป็นอย่างไร และกระบวนการที่จะผลิตคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศอยู่ในระดับไหน และน่าพอใจแค่ไหน รองรับการพัฒนาประเทศได้จริงหรือไม่ จะต้องหาวิธีประเมินทั้งในแง่หลักสูตรการเรียนการสอน ผลสัมฤทธิ์ของเด็ก ทั้งนี้ มีกลไกอันหนึ่งที่สร้างขึ้นแล้วยังไม่ได้ใช้ คือระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ที่ต้องการให้สร้างคุณสมบัติ คุณลักษณะของเด็กที่จะผลิตเพื่อไปตอบสนองความต้องการของตลาด หรือสังคม และให้เชื่อมโยงกับเงินเดือน หรือค่าตอบแทน หรือรายได้ ทำให้ผลิตเด็กได้ตรงความต้องการ และมีรายได้ที่ดี โดยไม่จำเป็นต้องจบปริญญา แต่ขณะนี้กลไกระบบคุณวุฒิวิชาชีพไม่ค่อยได้ใช้แล้ว แต่มีการพูดถึงการสอนระดับปริญญาตรีแทน ต่อไปจะกลายเป็นพยายามให้ได้ปริญญาตรี และจะได้เงินเดือนสูงขึ้น ซึ่งเป็นคนละแนวคิดกับกับคุณวุฒิวิชาชีพ ส่วนความร่วมมือกับเอกชน จะเปลี่ยนแปลงเรื่องคุณภาพได้มากกว่านี้หรือไม่ รวมทั้ง การเพิ่มความร่วมมือให้มากขึ้น
ส่วนการตั้งเป้าหมายให้เด็กเรียนอาชีวะมากขึ้นในสัดส่วน 50 : 50 เมื่อเทียบกับสายสามัญนั้น เห็นว่าจะมีวิธีช่วยค่าใช้จ่าย ซึ่งนั่นเป็นส่วนหนึ่ง แต่ที่สำคัญคือต้องทำให้อาชีวะมีคุณภาพขึ้นมากๆ ตรงกับความต้องการของตลาด เรียนแล้วมีอาชีพ และมีรายได้ที่ดี ต่อไปจะมีคนมาเรียนกันเยอะ อีกสิ่งหนึ่งที่ควรต้องทำคือการ Re-branding กันใหม่ ทำให้ภาพพจน์ให้คนมองมาที่อาชีวะ แล้วเห็นว่าเป็นการที่จะก้าวไปสู่การมีอาชีพที่ดี มีรายได้ดี มีเกียรติ ในหลายประเทศคนจบสายอาชีวะ จบสายเทคนิค แต่ไม่ได้จบปริญญา มีรายได้ที่สูงกว่าปริญญาเยอะ นี่คือสิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้น เพราะถ้าทำไม่ได้ ก็จะขัดแย้งกับการพัฒนาที่เราตั้งใจทำหลายๆ อย่าง
สำหรับด้านหลักสูตรก็ต้องปรับเพิ่ม ต้องร่วมมือกับทวิภาคี ต้องดูว่าได้คุณภาพพอหรือยัง ตรงกับความต้องการพอหรือยัง เข้มข้นพอหรือยัง และถ้าจะให้ดีต้องไปเทียบเคียงกับต่างประเทศ หรือจะทำมาตรฐานอะไรขึ้นมา โดยอาศัยผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้มีความรู้ความสามารถเชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาช่วยวิเคราะห์ หรือช่วยออกแบบระบบ ซึ่งผมคิดว่าจะต้องมีการยกเครื่องอาชีวศึกษากันใหม่"
@ ด้านอุดมศึกษาเน้นนโยบายใดบ้าง?
"ในส่วนของอุดมศึกษานั้น ได้ประชุมกันไปแล้ว และมีหลายเรื่องที่ต้องตัดสินใจว่า ทำอย่างไรจะส่งเสริมให้การอุดมศึกษาของประเทศยกระดับคุณภาพ ไต่อันดับในเวทีโลกได้ดีขึ้น และจะทำอย่างไรให้รู้ว่ามหาวิทยาลัยไหนอยู่ในอันดับที่เท่าใด ในกรณีที่ไม่ติดอันดับโลกเลย ระบบจัดอันดับของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร โดยรัฐบาล หรือสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จะช่วยผลักดันอะไรได้มากกว่านี้หรือไม่ ในส่วนของงบประมาณ การตั้งเป้าหมาย นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการพัฒนาคุณภาพที่เป็นงานค้างเดิม จะต้องคุย และลงรายละเอียดกันต่อ
ส่วนที่มหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรต่างๆ มากขึ้นเพื่อเลี้ยงตัวเอง และอาจจะกระทบถึงคุณภาพ จะต้องดูว่าทางรัฐบาล และ สกอ.จะมีบทบาทช่วยทำให้มีคุณภาพได้อย่างไร โดยผ่านระบบประเมิน ระบบการจัดอันดับ ระบบงบประมาณ รวมทั้ง ต้องใช้ความเรียกร้องต้องการของภาคสังคมที่จะเสนอต่อมหาวิทยาลัยด้วย ส่วนระบบกลางการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา สิ่งนี้เป็นเรื่องใหญ่ หากจะต้องทบทวน ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าระบบที่ทำกันอยู่มีปัญหาต่อการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานมาก ทั้งความเท่าเทียม และมีผลต่อการที่จะปฏิรูปการศึกษาให้ได้ผลด้วย เพราะระบบดังกล่าวดึงความสนใจของนักเรียนไปหาข้อสอบของมหาวิทยาลัยเสียหมด จึงต้องสำรวจปัญหา และนำมาหารือกัน ถ้ามหาวิทยาลัยเห็นว่าหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานยังไม่ดีพอ และยังไม่ได้เด็กตรงความต้องการ ก็ต้องช่วยกันปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อให้ตัวป้อนดีขึ้น แต่ถ้าออกข้อสอบโดยเน้นให้ได้ตัวป้อนที่ดี เพื่อคัดเด็กเก่งๆ ก็จะทำให้เด็กทั้งระบบไม่สนใจการเรียนในโรงเรียน ไม่สนใจการสอบของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) จะส่งผลให้การปฏิรูปการศึกษาไม่อาจเกิดขึ้นได้ ฉะนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องในลำดับถัดๆ ไปที่ต้องคิด"
@ จุดยืนในการแก้ปัญหาทุจริต โดยเฉพาะการทุจริตสอบครูผู้ช่วย?
"ผมคิดว่าต้องสะสางอย่างเอาจริงเอาจังกับปัญหาการทุจริตที่ผ่านมาและต้องหาผู้ทำผิดมาลงโทษไปตามเนื้อผ้าอย่างเคร่งครัดจริงจังรวมทั้ง ต้องป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตใหม่ๆ เพราะถ้าปล่อยให้ทุจริตกันมากๆ การพัฒนาการศึกษาไม่มีทางได้ผล จะสูญเปล่า และจะหวังไปพัฒนาคุณภาพการศึกษาไม่ได้ ซึ่งเรื่องการทุจริตครูผู้ช่วย ก็มีหลายมิติ จะต้องดูว่าจุดที่เป็นปัญหาอยู่ที่ไหน แล้วจะให้ความเป็นธรรมกับผู้เข้าสอบได้อย่างไร รวมทั้ง จะสร้างระบบไม่ให้มีทุจริตได้อย่างไร โดยเรื่องนี้มีการจัดการกับปัญหามาในขั้นตอนต่างๆ แล้ว บางเรื่องจะไปรื้อไปแก้ก็ไม่ใช่ง่าย แต่ที่สำคัญในเวลาคือ ถ้าพบว่ามีการทุจริตที่ไหน มีใครเกี่ยวข้อง ต้องว่าไปตามเนื้อผ้า ไม่มีมวยล้ม"
@ กระแสตอบรับค่อนข้างดี รู้สึกกดดันกับความคาดหวังหรือไม่?
"จะว่าเป็นกำลังใจก็เป็นกำลังใจ หรือคิดว่ากดดันก็กดดัน ความคาดหวัง และความยินดีที่ผมมาเป็นรัฐมนตรี ก็ไม่แน่ใจว่าเป็นความดีใจที่ผมได้เป็นรัฐมนตรี หรือเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.อาจจะปนๆ กันอยู่ แต่ต้องพูดตามตรงว่าผมไม่ได้ทำงานด้านการศึกษามานาน เพราะไปเน้นเรื่องการทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยเกือบ 7 ปี และไม่ได้คิดว่าจะเป็นรัฐมนตรีด้วย ดังนั้น อาจไม่ได้ทำอะไรได้เหมือนอย่างที่คาดหวังกันไปเสียหมด
อีกอย่างงานด้านการศึกษา งานของ ศธ.จะไม่มีอัศวินม้าขาว จะอาศัยอัศวินม้าขาวไม่ได้ แล้วผมก็ไม่ใช่อัศวินม้าขาวเลย ที่สำคัญ ต้องอาศัยคนทั้งองคาพยพ ทั้ง ศธ.และสำคัญกว่านั้นต้องอาศัยสังคม ต้องให้เป็นประเด็นทางสังคม และบางเรื่องต้องให้เป็นวาระแห่งชาติให้ได้ จึงจะแก้ได้ ถ้าผมจะมีส่วนช่วย คือใช้ความรู้ประสบการณ์ที่มีอยู่ มาทำความเข้าในเรื่อง และเสนอเรื่องให้เห็นว่าถ้าจะขับเคลื่อนการศึกษากันจริงๆ ยกเครื่องกันจริงๆ จะต้องทำอะไร เสร็จแล้วก็ต้องทำให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายเข้าใจ และเห็นร่วมกัน ซึ่งต้องมีกระบวนการทำงานร่วมกันเสียก่อนตั้งแต่ต้น และยังต้องไปเสนอเรื่องเหล่านี้ให้สังคมเข้าใจ เห็นโจทย์ทางออก และเห็นวิธีการร่วมกัน ช่วยกันผลักดัน ถ้าไม่มีกระบวนการนี้ ใครมาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ก็ยังทำอะไรมากไม่ได้ เพราะเรื่องของ ศธ.เป็นเรื่องซับซ้อน หลายเรื่องสะสมมานาน แล้วหลายส่วนก็มีลักษณะเป็นอิสระจากกัน โครงสร้างที่ทำมาต่อเนื่องช่วง 10 ปีมานี้ เป็นโครงสร้างที่ทำให้การบริหารจัดการไม่ง่าย"
@ ภายใน 2 ปีนี้ จะเห็นการเปลี่ยนแปลงหรือไม่?
"ผมจะอยู่ถึง 2 ปีหรือไม่ ก็ยังไม่ทราบ แต่ต้องรีบคิดแบบ 3 เดือน 6 เดือน ก่อนจะคิดช่วยวางแผนไว้ให้เป็นเรื่อง 2 ปี และ 4 ปี แต่จะพยายามช่วยวางแผน และระบบที่จะมีผลต่อไปข้างหน้าให้ยาวหน่อย และหวังว่าจะทำให้เกิดความเข้าใจยุทธศาสตร์ และมียุทธศาสตร์ร่วมกัน เข้าใจเรื่องใหญ่ๆ ร่วมกัน แล้วก็วางแผน วางระบบ วางกระบวนการที่จะบรรลุยุทธศาสตร์นั้น เริ่มต้นให้ได้ในเรื่องสำคัญๆ แล้วก็คงต้องอาศัยการทำงานต่อเนื่องไป ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับผู้ที่จะรับผิดชอบต่อๆ ไป จะเป็นผม หรือเป็นใครก็ตามที่จะทำจาก 6 เดือนนี้ แล้วทำต่อๆ ไป หรือแม้แต่จะทำในรัฐบาลหน้าก็ตาม แต่ว่าหากต้องการที่จะแก้ปัญหาการศึกษา ต้องมีความต่อเนื่อง ความต่อเนื่องนี้ไม่ใช่ในความหมายว่าต้องให้ผมเป็นรัฐมนตรีนานๆ แต่ต้องสื่อสารกับรัฐบาล และทั้งสังคมให้เห็นภาพร่วมกัน เข้าใจร่วมกัน และช่วยกันทำให้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะความต่อเนื่องการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ และนโยบายด้านการศึกษาที่ตรงจุด และสอดคล้องกับความต่อการของประเทศ"
@ เป็นคนรับฟังมาก ทำให้ขับเคลื่อนงานช้า จะปรับการทำงานให้รวดเร็วขึ้นหรือไม่?
"เร็วหรือช้า เป็นเรื่องที่มองได้ต่างกัน บางเรื่องรับฟังความคิดเห็น เพื่อช่วยกันคิดวิเคราะห์ เพราะคนยังมีความรู้สึกช้า แต่พอได้ข้อสรุปแล้ว บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้น ถ้าไม่คิดเรื่องนั้นก็ไม่เกิดเลย บางเรื่องคิดขึ้นมาแล้ว ต่อมาพบว่าผ่านมาอีกตั้งนาน คนถึงจะบอกว่าใช่แล้วต้องทำ ก็แสดงว่าเรื่องที่ช่วยกันคิดอยู่ที่เหมือนดูว่าช้านั้น จริงๆ แล้วมันก้าวหน้า และล้ำสมัยกว่า เร็วกว่าบางเรื่อง ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่เร็ว หรือช้าเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่จะคิดได้หรือไม่ แล้วจะทำกันหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ผมเข้าใจความต้องการที่คนต้องการเห็นอะไรเร็วๆ ต้องการการคิด การตัดสินใจเร็ว ซึ่งคิดว่าจากความรู้ ความเข้าใจ ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา น่าจะช่วยทำให้ความร่วมมือที่ดีของคนในวงการการศึกษา น่าจะทำให้ขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ ได้เร็ว เท่าที่ดูก็ไม่ค่อยมีปัญหาที่เกี่ยวกับว่าจะตัดสินใจยาก"
คอลัมน์ สัมภาษณ์พิเศษ
โดย สุพัด ทีปะลา teepala@hotmail.com
ที่มา : นสพ.มติชน