อึ้ง! ผลวิจัยพบ น.ศ.ไทยนิยมเสพ "เว็บโป๊" ผ่านโซเชียลมีเดีย เริ่มรู้จักตั้งแต่ 10 ขวบ
เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ที่โรงแรมบางกอกชฎา ถนนรัชดา กรุงเทพฯ นางศิริพร เสริตานนท์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น เปิดเผยในการประชุมวิชาการทางวัฒนธรรมระดับนานาชาติ ครั้งที่ 3 จัดโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ว่าได้นำเสนอผลวิจัยหัวข้อ การเปิดรับสื่ออนาจารต่อพฤติกรรมของนักศึกษามหาวิทยาลัย เนื่องจากปัญหาเรื่องเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นมีแนวโน้มเฉลี่ยอายุลดลงเรื่อยๆ เห็นได้จากข่าวสารทุกวันนี้มีเด็กทำแท้งมากขึ้นจึงเป็นสาเหตุหนึ่งของการมีเพศสัมพันธ์มาจากการรับสื่ออนาจารต่างๆ
ทั้งนี้ ได้มีการทำการวิจัยตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม 2555 และเก็บกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรัฐและเอกชน เขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ชั้นปีที่ 1-4 เกรดเฉลี่ย 2.51-3.00 จำนวน 600 คน เป็นชาย 298 คน หญิง 302 คน พบว่านักศึกษาเปิดรับสื่ออนาจารบนสมาร์ทโฟนผ่านระบบอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย อาทิ ยูทูบ เฟซบุ๊กมากถึงร้อยละ 80 โดยกลุ่มตัวอย่างระบุว่ารู้จักเว็บไซต์อนาจาร 1-3 เว็บ และนิยมดูที่หอพักและบ้านเพื่อน
ผลวิจัยพบว่าช่วงอายุการเปิดรับสื่ออนาจารนั้น นักศึกษาชายเริ่มรู้จักและสัมผัสสื่ออนาจารเมื่อช่วงอายุ 10-13 ปี ส่วนนักศึกษาหญิงช่วงอายุ 14-16 ปี ที่สำคัญกลุ่มตัวอย่างบางส่วนยังระบุว่าเคยประกาศหาคู่ทางอินเตอร์เน็ต ขณะที่วัตถุประสงค์การรับสื่ออนาจาร 3 อันดับแรก 1.เพื่อความบันเทิง 2.เพื่อผ่อนคลายความเครียด และ 3.สนองความอยากรู้อยากเห็น โดยเฉพาะศึกษาความรู้เรื่องเพศ
เมื่อพิจารณาตามกลุ่มสาขาวิชา พบว่า กลุ่มนักศึกษาวิชามนุษยศาสตร์/สังคมศาสตร์ เปิดรับสื่ออนาจารเพื่อความบันเทิง อยากรู้อยากเห็น ส่วนกลุ่มนักศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ และแพทย์ เน้นบันเทิง หาความรู้เรื่องเพศ เป็นต้น และผลการประมวลสัดส่วนการเกิดพฤติกรรมทางเพศของนักศึกษากลุ่มตัวอย่างที่เคยเปิดรับสื่ออนาจารช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พบว่านักศึกษามีพฤติกรรมการเปิดรับสื่ออนาจารสูงสุด แต่ปฏิเสธการรับสื่ออนาจารเมื่อเพื่อนชักชวน รองลงมา คือพฤติกรรมชอบเที่ยวกลางคืนกับเพื่อนต่างเพศ พฤติกรรมหมกมุ่นทางเพศและเคยซื้อบริการทางเพศ ที่สำคัญยังพบว่า กลุ่มตัวอย่างเคยมีพฤติกรรมเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน ชายกับชายร้อยละ 55 และหญิงกับหญิง ร้อยละ 66
นอกจากนี้ ยังพบพฤติกรรมทางเพศที่น่าสนใจที่เกี่ยวเนื่องกับการรับสื่ออนาจาร 3 ลำดับ 1.เคยขายบริการทางเพศ 2.มั่นใจในความเป็นชายจริงหญิงแท้ และ 3.ควบคุมอารมณ์และการแสดงออกทางเพศได้ดี และที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งกลุ่มเรียนดีระดับหัวกะทิ อาทิ นักศึกษาคณะแพทย์และวิทยาศาสตร์ เป็นกลุ่มบริโภคสื่ออนาจารนี้เช่นกัน
ส่วนแนวทางการป้องกันนั้นเห็นว่ารัฐบาลต้องปรับปรุงกฎหมายและบทลงโทษการประกอบธุรกิจสื่ออนาจารบนอินเตอร์เน็ต รวมทั้งสถาบันการศึกษาควรมีการสอดแทรกเนื้อหาการเรียนที่สอนให้นักศึกษา รู้จักเลือกรับสื่อที่เหมาะสมในรายวิชาต่างๆ ผู้ปกครองควรพูดคุยถึงผลกระทบการใช้สื่ออนาจารกับบุตรหลานอย่างเปิดเผย เป็นต้น