เพราะดัง จึงต้องระวังอย่างยิ่ง
เพราะ "คนดัง" ยังไงก็ขายได้
เลยไม่แปลกถ้าชื่อพวกเขามักถูกนำไปใช้เพื่อสร้างความน่าสนใจ หรือความน่าเชื่อถือในเรื่องต่างๆ
รางวัลหลายรางวัล เวลาจะมีการมอบกันทีก็มักมีชื่อของคนเหล่านี้เข้าไปเกี่ยวข้อง เป็นผู้ที่ได้รับมอบ
ล่าสุดที่พูดถึงกันเยอะก็เรื่องการมอบปริญญากิตติมศักดิ์ให้เหล่าคนดังจากมหาวิทยาลัยที่ภายหลังถูกตั้งข้อสงสัยว่าสถาบันที่มอบๆ ให้กันนั้น เป็น "สถาบันการศึกษาอันทรงคุณค่า" หรือว่าเป็นแค่ "มหาลัยห้องแถว"
มีการพูดกันว่าปริญญาบางใบแม้จะมีคำว่า "กิตติมศักดิ์" ต่อท้าย แต่ก่อนจะให้ก็มีการเรียกรับเงิน อย่างไรก็ดี เท่าที่คุยกับดาราในวงการบันเทิงส่วนใหญ่ยืนยันว่าเขาเชิญมารับ แถมนอกจากไม่มีการเก็บสตางค์แล้วยังออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางรวมถึงต่างๆ นานาให้พร้อม
ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยที่แท้จริง การมอบปริญญาเช่นนั้นถือเป็นการเห็นค่าความสามารถ และเป็นการให้เกียรติแต่ในทางตรงข้ามหากไม่ใช่มหาวิทยาลัยที่แท้ บางทีการมอบอาจเป็นแค่แผนการตลาดที่จะใช้ความเป็นคนดัง การเป็นดารามาเรียกความน่าเชื่อถือให้ตัวมหาวิทยาลัยเอง
ซึ่งไม่ว่าจะเป็นประการไหน การรับปริญญาเขามาวันนี้ แต่วันดีคืนดีต้องตกเป็นข่าวในภายหลัง
ไม่สนุกเลย
อย่างนั้นแล้ว "บอย-ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์" เลยว่า ต่อไปหากมีคนมาเสนอใบปริญญาให้คงต้องพิจารณาหนัก
อันดับแรกคือต้องดูความเหมาะสม
ดูความสามารถของตัวเองว่า"ถึง" หรือ "ไม่ถึง" กับคุณค่าแห่งปริญญานั้น
หากประเมินแล้วเห็นว่าไม่น่าใช่ก็จะขอไม่รับ
เพราะรับไปใครๆ ก็คงมองไม่ดี
แต่ในทางตรงกันข้าม หากดูแล้วสมเหตุสมผลก่อนจะรับคงต้องย้อนเช็กไปทางผู้ให้ว่าสถาบันหรือมหาวิทยาลัยดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือหรือไม่
ซึ่งหาก2 เงื่อนไขเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม ก็จะเตรียมชุดครุยอันทรงเกียรติ
ขณะที่ "สุประวัติ ปัทมสูต" นักแสดงอาวุโสบอกว่า ก่อนหน้านี้เขาเองเคยได้รับการติดต่อให้ไปรับปริญญาดุษฎีบัณฑิตที่สถาบันแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา คนที่ติดต่อมาบอกว่ามีค่าใช้จ่ายกว่า 300,000 บาท สำหรับค่าเดินทางและค่าอื่นๆ อีกจิปาถะ ซึ่งฟังปุ๊บเขาก็ตัดสินใจปฏิเสธไปแบบไม่ลังเล
"สมัยนั้นมีเรื่องมหา"ลัยห้องแถวที่เขาเตือนๆ กันอยู่ เราเองก็ไม่รู้ว่าที่เขาติดต่อมามันจริงหรือไม่จริง แต่กับราคาเท่านั้น แถมบุกมาติดต่อถึงบ้านบอกเรื่องมาจากอเมริกาแต่คนติดต่อเป็นคนไทยเราก็ปฏิเสธเลย"
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีสถาบันชื่อไม่คุ้นอื่นๆ ที่แนะนำตัวว่าเป็นสาขา รับปริญญาได้ในประเทศไทยอีก 2-3 แห่งติดต่อมา แต่สมัยนั้นการตรวจสอบไม่ง่ายดายเหมือนตอนนี้ จึงต้องเลือกทางปฏิเสธไปอีกเช่นกัน
"อย่าผลีผลาม หรือปราดเข้าไปรับทันที ให้ไตร่ตรองให้ดีก่อน" คือสิ่งที่สุประวัติคอยย้ำเตือนตัวเองมาเสมอ
สำหรับ "พิจักษณ์ ตระกูลเค้ามูลคดี" หรือที่คุ้นกันในนาม "รอง เค้ามูลคดี" บอกว่าแม้ใจจะคิดว่าคนที่ติดต่อมาเขาประสงค์ดี และมีความคิดที่จะให้ โดยไม่มีอะไรแอบแฝง
อีกทั้งก่อนจะเลือกให้ใคร อย่างน้อยสถาบันเหล่านั้นก็ต้องกลั่นกรองมาพอสมควร
แต่ในฐานะคนรับที่เห็นๆ กันอยู่ว่าระยะหลังเรื่องพวกนี้เป็นข่าวบ่อยก็ต้องตรวจสอบกันให้ดี มีการปรึกษาผู้รู้จริงเสียหน่อยก็ไม่เลว
ส่วน "บุ๋ม-ปนัดดา วงศ์ผู้ดี" บอกว่าสำหรับเธอแล้ว ถ้าสถาบันที่ไม่รู้จักแล้วจู่ๆมาเสนอปริญญาให้นั้นไม่ว่าจะเป็นปริญญาอะไรระดับไหน ก็จะปฏิเสธทันที
"คงบอกไปเลยค่ะว่าไม่สะดวก"
"แล้วก็ขอบคุณเขาไป"
ด้วย "ไม่กล้าเสี่ยง" กับผลกระทบที่อาจตามมาในภายหลัง หากถูกเรียกตรวจสอบ
เพราะจะว่าไปยังไม่ทันที่ผลตรวจจะออก ชื่อเสียงก็กระทบไปเรียบร้อย
"แล้วกลัวว่าจะเเค่เอาเราไปเป็นพีอาร์ให้สถาบัน ไม่ได้ตั้งใจจะให้ปริญญาเราจริงๆ"
อันเป็นการ "บั่นทอนความน่าเชื่อถือของเราไปด้วย"
ปนัดดายังบอกด้วยว่า จากประสบการณ์ของผู้เรียนจบปริญญาเอก จากคณะบริหารธุรกิจ ม.รังสิต เธอรู้ดีทีเดียวว่า กว่าจะได้ปริญญาเหล่านั้นมาไม่ใช่เรื่องง่าย
"เรียนหนักและเหนื่อยมาก เลยไม่อยากให้มีข่าวออกมาในแง่ไม่ดี มันเป็นการทำลายกำลังใจของคนเรียนที่ได้ปริญญานี้มาจริงๆ"
"ซึ่งไม่ดีเลย"
ที่มา : นสพ.มติชน