นักเรียน-นักศึกษายังไม่จ่ายหนี้กู้ยืมเรียนสูงถึง 1 ล้านคน

นักเรียน-นักศึกษายังไม่จ่ายหนี้กู้ยืมเรียนสูงถึง 1 ล้านคน

นักเรียน-นักศึกษายังไม่จ่ายหนี้กู้ยืมเรียนสูงถึง 1 ล้านคน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรอ.เผยนักเรียน-นักศึกษาค้างจ่ายหนี้กู้ยืมเรียนสูงถึง 1 ล้านคน เหตุเรียนจบแล้วไม่มีงานทำและมีงานทำแต่ไม่ยอมจ่ายหนี้ เพราะมองว่าเป็นของฟรี หนุนเปิดอาชีวะอินเตอร์ เอาท์ซอร์ส ป้อนตลาดแรงงาน รองรับเออีซี

นายเปรมประชา ศุภสมุทร กรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) และนายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออก กล่าวระหว่างบรรยายเรื่อง "ระบบการศึกษาไทยพร้อมหรือยังรับมือเออีซี" ในโครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง ปี 2556 จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ โดยกล่าวว่า ขณะนี้มีนักเรียนนักศึกษาที่กู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) กว่า 4 ล้านคน คิดเป็นวงเงินประมาณ 400,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีนักเรียน นักศึกษาที่กู้ยืมเงินเรียนจบการศึกษาแล้ว 2 ล้านคน แต่ชำระหนี้แล้วเพียง 1 ล้านคน อีก 1 ล้านคนยังค้างชำระ สาเหตุครึ่งหนึ่งมาจากเรียนจบแล้วไม่มีงานทำ เนื่องจากจบในสาขาที่ตลาดแรงงานต้องการน้อย อีกครึ่งหนึ่งเป็นกลุ่มที่มีงานทำแล้วแต่ไม่จ่าย เพราะมองว่าเป็นของฟรี

นายเปรมประชา แสดงความเป็นห่วงเรื่องคุณธรรมในกลุ่มที่ไม่ชำระหนี้ อาจจะทำให้ผู้กู้เสียเครดิตและยังไม่เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับรุ่นน้องๆ อีกทั้งอาจจะทำลายโอกาสในการได้รับการศึกษาของรุ่นน้องอีกด้วย

นายเปรมประชา กล่าวด้วยว่า ในฐานะที่เป็นนายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออก เตรียมพัฒนาระบบการศึกษาระดับอาชีวศึกษาในภาคตะวันออกให้ดีขึ้น โดยเฉพาะเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานคุณภาพขาดแคลนในระดับอาชีวศึกษา สนับสนุนให้เกิดสถาบันอาชีวะระดับอินเตอร์ รองรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) โดยเฉพาะสาขาช่างเชื่อม ช่างยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เตรียมลงนามสัญญากับบริษัทเอกชน เพื่อผลิตนักศึกษาระดับอาชีวะในสาขาที่ตลาดแรงงานต้องการทั้งในประเทศและเออีซี

นอกจากนี้ จะหนุนให้เกิดเอาท์ซอร์ส (Outsource) รองรับเออีซี ซึ่งในอนาคตจะเป็นที่นิยมกันมาก ถือเป็นการจ้างงานผ่านบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เช่น ช่างเชื่อม ช่างยนต์ พนักงานรักษาความปลอดภัย พนักงานทำความสะอาด เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงานและเออีซี โดยวิธีการจ้างงานเอาท์ซอร์สมีผลดีต่อผู้จ้างเพราะไม่ต้องกลัวจะขาดคน และไม่ต้องบริหารจัดการคนเอง.-สำนักข่าวไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook