ม.หอการค้าฯถก ภาษาวัยรุ่น ภาษาว้าวุ่น
อาจเป็นเพราะคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตระหนักถึงประเด็นจริยธรรมของสื่อในการนำเสนอข่าว จึงจัดเสวนาหัวข้อ "ภาษาวัยรุ่น ภาษาว้าวุ่นในสื่อ" เพื่อให้นักศึกษารู้จักคิดวิเคราะห์ รู้เท่าทันสื่อ รู้เท่าทันความเคลื่อนไหวของสังคม และวัฒนธรรม
เบื้องต้น "ผศ.ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา" คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบัน เราจึงมองว่าสำนวนภาษาวัยรุ่นที่เกิดขึ้น เป็นยุคสมัยที่ทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ตามกาลเวลา
"แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือการที่คนในสังคมใช้ภาษาวิบัติ ภาษาในสื่อที่ผิดเพี้ยน ซึ่งมาจากหลายสาเหตุ คือคนในสังคมสื่อสารล้มเหลว โดยใช้ภาษาผิด ๆ ถูก ๆ ใช้ภาษาผิดกาลเทศะ ใช้ภาษา
ทำร้ายตัวเองและผู้อื่น ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา ที่สำคัญ การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนใน 2 ปีข้างหน้า สังคมเข้าใจว่าภาษาอังกฤษเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นภาษาสากล ภาษาไทยรู้พออ่านออกเขียนได้ก็พอแล้ว แต่ความจริงเราต้องรู้ภาษาไทยให้แตกฉานเสียก่อน"
ด้าน "ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์" รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้ภาษาในสื่อต้องมีความระมัดระวัง การถามความคิดเห็นกับการถามความรู้สึกของผู้ให้ข่าวจะต้องดูกาลเทศะและความเหมาะสม
ส่วน "อาจารย์ธนพล เชาวน์วานิชย์" หนึ่งในผู้เขียนบทภาพยนตร์ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น กล่าวว่า การเขียนบทภาพยนตร์จะเปิดพื้นที่ให้คนในสังคมรู้จักการตั้งคำถามและการใช้เหตุ และผลในการหาคำตอบ เหมือนตอนที่ 1 ของเรื่อง ที่เกิดการตั้งคำถามจากเด็ก ๆ ว่าทำไมจึงต้องใส่เครื่องแบบนักเรียน
"ซึ่งในกระบวนการคิดและการได้รับคำตอบที่มีเหตุผล จะทำให้เด็กเกิดการยอมรับและเติบโตเป็นคนที่มีเหตุผล ภาพยนตร์จึงเป็นเพียงภาพสะท้อนและชี้แนะเท่านั้น"
"ผศ.ดร.ธเนศร" สรุปว่าโครงการเสวนา "ภาษาวัยรุ่น ภาษาว้าวุ่นในสื่อ" นอกจากนักศึกษาจะได้เข้าร่วมกิจกรรม เขายังได้รับความรู้เรื่องภาษาไทยที่เป็นปัจจุบัน เพราะจากการเล็งเห็นความสำคัญต่อการเรียนการสอนที่ทันสมัยของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปรากฏว่านักศึกษายังสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชีวิตประจำวันอีกด้วย