เด็กก่อนวัยเรียน กับการเรียนรู้ผ่าน "แอพพ์"
โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์ pairat@matichon.co.th
ผมไม่แน่ใจนักว่า พ่อแม่ในบ้านเรา ติดอกติดใจให้ลูกๆ ที่ยังอยู่ในวัยทารกเรื่อยไปจนถึงวัยก่อนเข้าเรียน "เล่น" กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากน้อยแค่ไหน
ไม่แน่นัก อาจมีพ่อแม่ทันสมัยบางรายคิดว่า การให้ลูกๆ ตัวน้อย เล่นสนุกไปด้วยเรียนรู้ไปกับสิ่งที่ "แอพพลิเคชั่น" สำหรับเด็กๆ ก่อนวัยเรียน ที่มีออกมามากมาย ทั้งที่เสียเงินบ้าง ฟรีบ้าง เป็นเรื่อง "ไม่เสียหายอะไร" เพราะนอกจาก "เท่" แล้วยังทำให้เด็กๆ ได้ "เรียนรู้" ไปด้วย
แต่เพราะประเด็นนี้กำลังเป็นเรื่องเป็นราว ฟ้องร้องถึงโรงถึงศาลกันอยู่หลายระลอกในสหรัฐอเมริกา ก็เลยหยิบมาเล่าสู่กันฟัง อย่างน้อยก็เป็นการได้รับรู้แง่คิดไปพิจารณากันเอาเองอีกต่อหนึ่ง
ในสหรัฐอเมริกานั้น พ่อแม่กำลังนิยมให้ลูกๆ ที่อยู่ในช่วงอายุก่อนวัยเรียน เรียนรู้จากแอพพลิเคชั่นกันมากขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุประการหนึ่งเนื่องจากปริมาณการเป็นเจ้าของทั้งสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต มากขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้ประมาณกันว่ากว่าครึ่งหนึ่งของประชากรอเมริกัน มีสมาร์ทโฟน และ 1 ใน 3 ของคนวัยผู้ใหญ่อเมริกัน มีแท็บเล็ต อยู่ในครอบครอง ตลาดของแอพพลิเคชั่นเหล่านี้จึงขยายใหญ่ มีผลประโยชน์มหาศาล ทำให้มีแอพพลิเคชั่น ผุดขึ้นมากมาย แข่งกันโฆษณาสรรพคุณกันขนานใหญ่
ตัวอย่างของแอพพลิเคชั่นเพื่อการเรียนรู้ของเด็กวัยก่อนวัยเรียนเหล่านี้ได้แก่วิดีโอ สำหรับเด็กชุด "เบบี้ ไอน์สไตน์" หรือแอพพลิเคชั่น ชุด "ลาฟ แอนด์ เลิร์น" ของ ฟิชเชอร์-ไพรซ์ และเกมเพื่อการเรียนรู้ของเด็กวัยเดียวกันนี้อย่าง "เบบี้ เฮียร์ แอนด์ รีด" กับ ของ "โอเพ่น โซลูชั่น" เป็นต้น
ความแตกต่างประการหนึ่งระหว่างสังคมอเมริกันกับสังคมไทยก็คือ สังคมอเมริกันมีองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคอยู่เยอะมาก หนึ่งในจำนวนองค์กรเหล่านี้คือ กลุ่มรณรงค์เพื่อให้วัยเด็กปลอดจากการตกเป็นเหยื่อในเชิงพาณิชย์ (เดอะ แคมเปญ ฟอร์ อะ คอมเมอร์เชียล ฟรี ไชลด์ฮูด-ซีซีเอฟซี) องค์กรนี้เป็นหน่วยงานแรกสุดที่ยื่นฟ้องร้องต่อคณะกรรมการการค้าแห่งรัฐ
(เอฟทีซี) กล่าวหาบรรดาผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นเหล่านี้หลายๆ ราย กำลังหลอกล่อให้ผู้เป็นพ่อเป็นแม่ทั้งหลายเข้าใจผิดๆ ว่า แอพพลิเคชั่นที่สร้างขึ้นมานั้นเป็นแอพพลิเคชั่นที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ มากกว่าที่จะเป็นไปเพื่อการบันเทิง ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นบางรายถูกกล่าวหาว่าโฆษณาเกินจริง อย่างเช่นกรณีที่อ้างว่าแอพพ์เหล่านี้ "สอนเด็กๆ วัยก่อนวัยเรียนให้รู้ทักษะต่างๆ" อาทิ รู้จักส่วนต่างๆ ของร่างกาย รู้จักภาษาเบื้องต้น เป็นต้น
ในขณะที่ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นบางรายอ้างว่าพัฒนารูปแบบของแอพพลิเคชั่นขึ้นมาจากงานวิจัยเชิงสังเกตการณ์พัฒนาการของเด็ก ที่มีต่อเนื่องมายาวนานร่วมๆ 80 ปี ซูซาน ลินน์
ผู้อำนวยการของซีซีเอฟซี ยืนยันว่า ไม่มีงานวิจัยที่ผ่านการรับรองอย่างเป็นทางการแม้แต่ชิ้นเดียวที่มารองรับการกล่าวอ้างตามคำโฆษณาที่ว่านั้นในทางตรงกันข้าม กลับมีงานศึกษาวิจัยที่เป็นทางการบางชิ้นที่แสดงหลักฐานให้เห็นว่า การกระทำดังกล่าวนั้นอาจเป็นอันตรายต่อเด็กด้วยซ้ำไป ทำให้การโฆษณาทำนองนี้และการแพร่หลายของการใช้แอพพลิเคชั่นเพื่อการเรียนรู้ของเด็กๆ ทารก ก่อนวัยเรียน กลายเป็นเรื่องน่าวิตกขึ้นมา
ลินน์ชี้ให้เห็นว่า ในขณะที่ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อจำหน่าย ได้เงินมหาศาลจากการ "ล่อหลอก" พ่อแม่ดังกล่าว แม้แต่ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นให้ดาวน์โหลดฟรีๆ ลงมาก็ใช่ว่าจะไม่มีผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ หลักฐานในเรื่องนี้อยู่ในเงื่อนไขในการตกลงใช้แอพพ์เหล่านั้น (ซึ่งเรามักไม่ค่อยอ่านกัน) ที่บอกว่าผู้พัฒนาสงวนสิทธิ์ในการเก็บข้อมูลผู้ใช้ไปเพื่อนำไปขายต่อให้กับ "บุคคลที่เป็นฝ่ายที่ 3" ได้นั่นเอง
การฟ้องร้องล่าสุดของซีซีเอฟซีส่งผลให้ เอฟทีซี บังคับให้ผู้พัฒนาแอพพ์ "เบบี้ ไอน์สไตน์" ต้องคืนเงินให้กับผู้บริโภคทั่วประเทศมาแล้ว
ซูซาน ลินน์ บอกว่า มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า อุปกรณ์อย่างเช่น แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟนนั้น ไม่มีประสิทธิภาพใดๆ ต่อการสอนภาษาให้กับเด็กๆ ในวัยทารกจนถึง 2 ขวบแต่อย่างใด สิ่งที่เด็กทารกวัยนี้ ต้องการเพื่อพัฒนาสมองขึ้นมาอย่างมีประสิทธิภาพและถูกสุขลักษณะคือการเล่นจริงๆ การร่วมเล่นอย่างสร้างสรรค์และการเรียนรู้แบบตัวต่อตัวกับพ่อหรือแม่เท่านั้นเอง
นอกจากนั้น สถาบันกุมารเวชศาสตร์อเมริกัน ยังไม่เห็นด้วยกับการให้เด็กๆ ตั้งแต่วัยแบเบาะเรื่อยไปจนถึงวัย 2 ขวบ มอง จ้อง หรือสัมผัสกับหน้าจอ ในขณะที่เด็กที่สูงวัยกว่านั้นขึ้นมา ควรจำกัดการใช้งานแท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟน ให้เหลือเพียง 1-2 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น
สถาบันกุมารเวชศาสตร์อเมริกัน อ้างงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า การให้เด็กวัยแบเบาะ ดูวิดีโอ ส่งผลให้พัฒนาการด้านภาษาของเด็กช้าลงด้วยซ้ำไป ในขณะที่ไม่มีงานศึกษาชิ้นไหน ชี้ให้เห็นประโยชน์ของการให้เด็กๆ ดูแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนก่อนวัยอันควรเลยแม้แต่ชิ้นเดียว
สำหรับเด็กก่อนวัยเรียน การจำกัดเวลาและร่วมดูแลอย่างใกล้ชิดของพ่อแม่ ถือว่าเป็นสิ่งดีที่สุดแน่นอน
ที่มา : นสพ.มติชน