กางตำรา "ภาษาอาเซียน" เตรียมพร้อมอีกก้าวรับ AEC

กางตำรา "ภาษาอาเซียน" เตรียมพร้อมอีกก้าวรับ AEC

กางตำรา "ภาษาอาเซียน" เตรียมพร้อมอีกก้าวรับ AEC
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย นันทิชา ป้องเขตต์

การก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หรือเออีซี ในอีก 2 ปีข้างหน้า ทำให้ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะภาคธุรกิจ การศึกษา หรือภาคพลเมืองเกิดความตื่นตัว และเตรียมพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะความรู้ด้านภาษา

ไม่ได้มีเพียงภาษาอังกฤษเท่านั้นที่ควรให้ความสนใจ แต่ยังรวมถึงภาษาเพื่อนบ้านในอาเซียนด้วย เพราะภาษาเป็นเรื่องสำคัญ

แต่ในทางปฏิบัติกลับเป็นสิ่งตรงกันข้าม ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านหลายๆ ประเทศ ไม่เพียงแต่ลาว พม่า เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฯลฯ รู้จักประเทศไทย เรียนภาษา และวัฒนธรรมไทย หลายคนพูดภาษาไทยได้ชัดกว่าเจ้าของภาษาด้วยซ้ำ

รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากร คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ตอกย้ำเรื่องความสำคัญของการเตรียมความพร้อมของคนไทยว่า ปัญหาแรกเรามักพูดถึง "ประชาคมอาเซียน" แต่เรายังใช้คำว่า "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" ทั้งๆ ที่ประชาคมอาเซียนคือ Asean community มี 3 เสาหลักคือ ประชาคมการเมืองและความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งภาษาเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมสังคมและวัฒนธรรม

ภาษามีความสำคัญมาก เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเข้าใจระหว่างกัน ถ้าเราไม่เข้าใจกันการติดต่อสื่อสารก็เป็นเรื่องยากทุกเรื่อง

รศ.ดร.ปกรณ์บอกอีกว่า ในทางปฏิบัติคนไทยทางชายขอบจำนวนไม่น้อยที่สามารถสื่อสารได้ 2 ภาษา ภาษาราชการคือ ภาษาไทย กับภาษาถิ่นของประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง เช่น คนภาคใต้สามารถสื่อสารกับคนประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไน และฟิลิปปินส์ คนสุรินทร์พูดภาษากัมพูชาได้ หรืออย่างภาษาพม่า ก็เป็นที่คุ้นเคยเพราะมีคนพม่าเข้ามาทำงานในประเทศจำนวนมาก

"ด้วยเหตุผลที่ว่า พื้นที่ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ลาว พม่า กัมพูชา ฯลฯ ติดชิดกัน มีโอกาสในการสื่อสารกันสูงขึ้นด้วย จึงเป็นที่น่ายินดีที่หลายๆ จังหวัดในบ้านเราสามารถพูดภาษาอาเซียนได้ก่อนใคร และบางพื้นที่เขาใช้ภาษาเหล่านี้เป็นภาษาถิ่น และใช้กันมานานแล้ว เพราะฉะนั้นภาษาอาเซียนจึงไม่เป็นปัญหาในเชิงประชาชนเลย เพียงแต่ว่าคนที่เป็นข้าราชการจะเข้าใจเรื่องนี้หรือไม่เท่านั้นเอง" รศ.ดร.ปกรณ์อธิบาย

รศ.ดร.ปกรณ์บอกอีกว่า การที่กระทรวงศึกษาฯไม่ให้ความสำคัญในเรื่องภาษาท้องถิ่นที่มีความสัมพันธ์เป็นส่วนหนึ่งกับภาษาอาเซียนเป็นเรื่องน่าเสียดาย ดังนั้น ควรสนับสนุนให้ใช้ภาษาภาษาถิ่น และปรับเปลี่ยนให้มีการยอมรับหลักสูตรการเรียนรู้ภาษาเพื่อนบ้านในโรงเรียนที่อยู่ใกล้ชิดกับประเทศนั้นๆ ส่วนประเด็นของปัญหาภาคกลางก็ให้เขาเลือกว่าเขาจะเรียนภาษาอะไร และให้สร้างความตระหนักว่า ภาษาท้องถิ่นมีความสวยงามของประเพณีอยู่ด้วย

ด้าน สุรชัย ศิริไกร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เมื่อเปิดประชาคมอาเซียนแล้วจะมีการติดต่อกันมากขึ้นในทุกๆ ด้าน ไม่เพียงแต่การเคลื่อนย้ายแรงงานและการลงทุน โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ๆ ของเราจำนวนไม่น้อยไปลงทุนที่ประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่สังคมต้องการคือคนที่มีความรู้ด้านภาษาตามประเทศนั้นๆ เพื่อใช้ในการสื่อสารและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

"นอกเหนือจากเรื่องของความรู้ในเรื่องของภาษา หากเข้าใจในขนบธรรมเนียม ประเพณีวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ ด้วย จะยิ่งส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจ ไว้วางใจ ตลอดจนเกิดการไปมาหาสู่กันบ่อยครั้งยิ่งขึ้น ดังนั้น การสื่อสารที่ดีจึงช่วยให้เกิดการสมานฉันท์และเกิดมิตรภาพที่ดีระหว่างประเทศได้" สุรชัยบอก และว่า คนไทยยังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อย และเน้นการใช้ภาษาอังกฤษอย่างเดียว ซึ่งการใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารในประเทศเพื่อนบ้าน จะไม่ดีเท่าเรารู้ภาษาท้องถิ่นของเขา ที่ก่อให้เกิดความเป็นกันเอง ความเข้าใจและไว้วางใจ เพราะฉะนั้นการเข้าใจภาษาก็เป็นการแสดงว่าเราสนใจเขาด้วย

ขณะที่ ประพนธ์ เรืองณรงค์ นักวิชาการราชบัณฑิตยสถานและบรรณาธิการที่ปรึกษาของสำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์ เสนอหนังสือชุดภาษาอาเซียน (7 เล่ม) เป็นคู่มือรับการเปิดประชาคมอาเซียน บอกว่า บนแผงหนังสือมีหนังสือเกี่ยวกับอาเซียนมากมาย แต่ส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาในเชิงสังคม เศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์ และการเมือง สำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้ภาษาเพื่อนบ้านจึงจัดทำหนังสือชุดภาษาอาเซียนขึ้นมาแบบง่ายๆ ไม่น่าเบื่อ ไม่ให้เป็นเหมือนตำราเรียน เป็นหนังสือที่อ่านสนุกเพลิดเพลินไม่เครียด

โดยติดต่อกับอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา อาทิ ดร.สรตี ปรีชาปัญญากุล ผู้เชี่ยวชาญภาษาเวียดนาม, ประเสริฐ เย็นประสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญภาษามลายู (ภาษามาเลเซีย), พลอย แสงลอย ผู้เชี่ยวชาญภาษาเขมร, เซเน็ส เอ.แคมโพเรดอนโด และ อัญชลี วิสุทธิลักษณ์ ผู้เชี่ยวชาญภาษาตากาล็อก, ประเสริฐ สรรพอาสา ผู้เชี่ยวชาญภาษาอินโดนีเซีย, ดร.วิเชียร อำพนรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญภาษาลาว และ ตูซาร์ นวย เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาพม่า ซึ่งหนังสือชุดนี้เหมาะกับเด็กและเยาวชน และสามารถเรียนรู้ไปพร้อมกันทั้งครอบครัวได้ และเป็นการปูพื้นฐานสร้างคนรุ่นใหม่

ประพนธ์ให้ความเห็นว่า หนังสือชุดภาษาอาเซียนนี้ นอกจากจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจถึงศัพท์ ตัวอักษร ภาษา การพูดจา ประโยคตอบโต้กัน และยังมีเอกลักษณ์ วัฒนธรรม ที่บ่งบอกถึงความเป็นชาติอาเซียนอีกด้วย คนไทยเราภาษาอังกฤษก็ไม่เก่ง การรวมประชาคมอาเซียนในอนาคตอันใกล้ น่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่กระตุ้นให้คนไทยได้เรียนภาษาที่หลากหลายมากขึ้น ซี่งเป็นภาษาที่เรียนได้ง่ายเพราะมีพื้นฐานใกล้เคียงกับภาษาไทย

ด้านตูซาร์ นวย อาจารย์ภาษาพม่า ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้เขียนหนังสือ "สนุกกับภาษาเมียนมา" บอกว่า ปัจจุบันประเทศต่างๆ ในอาเซียนมีการเตรียมความพร้อมด้านภาษามากกว่าประเทศไทย มีการสอนภาษาอาเซียนแต่ละภาษามานานกว่า 10 ปีแล้ว ประเทศไทยถือว่าเพิ่งเริ่มต้น อย่างภาษาพม่าในประเทศไทยก็ได้รับความนิยมมากเมื่อเทียบกับภาษาอื่นในอาเซียน แต่คนที่จะเข้ามาเรียนแบบจริงจังกลับมีน้อยมาก ส่วนใหญ่จะจัดเป็นอบรมเป็นคอร์สสั้นๆ มากกว่า

ตูซาร์ นวย บอกอีกว่า เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจะไม่มีพรมแดนกั้น จะเกิดการแลกเปลี่ยนหมุนเวียนประชากรในอาเซียนจำนวนมาก ถ้ารู้ภาษาเราจะได้ประโยชน์มากกว่า ซึ่งประเทศที่พูดภาษาอังกฤษหลายประเทศอยู่ในอาเซียน แต่ประเทศไทยใช้ภาษาอังกฤษก็ไม่ค่อยได้ ถ้าสามารถเลือกเรียนภาษาในประเทศเพื่อนบ้านที่มีพื้นฐานใกล้เคียงกับภาษาไทยมากกว่า อย่างภาษาพม่าที่ไม่ยากเท่าไหร่น่าจะดีกว่า

ความสำคัญของภาษามีอยู่ไม่น้อย คงจะถึงเวลาแล้วเช่นกันที่เราในฐานะคนในประชาคมอาเซียนจะเรียนรู้อย่างจริงจัง


ที่มา : นสพ.มติชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook