เดินเครื่อง! สแกนเด็ก 1.6 ล้าน แก้ปัญหา ′อ่าน-เขียน′ ไม่ได้ สพฐ.ติวครู ′พัฒนาการคิด′

เดินเครื่อง! สแกนเด็ก 1.6 ล้าน แก้ปัญหา ′อ่าน-เขียน′ ไม่ได้ สพฐ.ติวครู ′พัฒนาการคิด′

เดินเครื่อง! สแกนเด็ก 1.6 ล้าน แก้ปัญหา ′อ่าน-เขียน′ ไม่ได้ สพฐ.ติวครู ′พัฒนาการคิด′
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อวันที่ 3 กันยายน นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่าที่ประชุมได้เตรียมขับเคลื่อนตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ใน 2 เรื่อง ได้แก่ การปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งระบบ ในขั้นแรกจะเน้นการส่งเสริมการอ่านออก เขียนได้ 100% และการขับเคลื่อนการพัฒนากระบวนการคิด

ขณะนี้ สพฐ.ได้จัดทำแผนการขับเคลื่อนและเครื่องมือเรียบร้อยแล้ว โดยจะนำมาใช้สแกนนักเรียนว่ามีเด็กคนใดที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงมีปัญหาการอ่าน ไม่ออกเขียนไม่ได้ โดยจะมอบให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) นำเครื่องมือไปให้โรงเรียนดำเนินการในกลุ่มเป้าหมายนักเรียนทุกคนในระดับ ชั้น ป.3 และ ป.6 ทั่วประเทศประมาณ 1.6 ล้านคน โดยจะเริ่มในช่วงปลายภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556 เพื่อที่จะใช้เวลาในช่วงปิดภาคเรียนฟื้นฟูและพัฒนาเด็กกลุ่มเสี่ยง และเมื่อเปิดภาคเรียนที่ 2 จะติดตามประเมินผลเป็นรายเดือนว่าเด็กมีพัฒนาการอย่างไร เพื่อพัฒนาให้เด็กสามารถอ่านออกเขียนได้ 100% เมื่อทำได้แล้ว จะได้ยกระดับคุณภาพการศึกษาต่อไป

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อว่า สำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนากระบวนการคิด ที่ผ่านมาดำเนินการเพียงกิจกรรมและโครงการ ดังนั้น เมื่อ ศธ.มีนโยบายเพื่อส่งเสริมกระบวนการคิด จะต้องมีการนำไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งองค์ประกอบสำคัญก็คือ การดำเนินการผ่านครู ทาง สพฐ.จึงมีข้อเสนอว่าถ้าจะให้เรื่องนี้มีพลัง จะต้องผ่านการขับเคลื่อนในระดับชาติทั้งการอบรม และเพิ่มสมรรถนะครูทั้งระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา โดยในการขับเคลื่อน จะใช้เครื่องมือสแกนครูด้วย เพื่อจะได้ทราบว่าครูมีการคิดอย่างเป็นระบบ สามารถนำความรู้เกี่ยวกับกระบวนการคิดไปสู่การเรียนรู้ในชั้นเรียนได้ ส่วนเรื่องการอบรมนั้น คงต้องจัดหลักสูตรเพื่อให้ครูได้รับความรู้ และมีการประเมินด้วย

"หลักสูตรที่ใช้อบรมมี 3 ส่วน ประกอบด้วย 1.ความรู้ทฤษฎีพื้นฐานเกี่ยวกับกระบวนการคิด 2.การนำทฤษฎีกระบวนการคิดไปสู่การจัดการเรียนการสอน และ 3.หลักวิธีในการประเมินผลผู้เรียนเกี่ยวกับกระบวนการคิด ซึ่งในส่วนของการประเมินผลผู้เรียน ทางสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) จะเข้ามาร่วมคิดว่าจะทำให้ครูมีความคิดในเรื่องการประเมินผลเด็กอย่างไรด้วย เพราะจากนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ สทศ.จะปรับกระบวนการวัดผลใหม่ โดยเฉพาะการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ให้เป็นแนวเดียวกับการสอบตามโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA ที่เน้นกระบวนการคิด ดังนั้น ถ้ามีการทำแผนที่ชัดเจน การเตรียมความพร้อมเพื่อยกระดับ PISA ของเด็กไทยคงมีความเป็นรูปธรรม และเป็นไปในทิศทางที่ดีมากขึ้น" นายชินภัทรกล่าว

ที่มา : นสพ.มติชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook