"อ๋อย" ขู่ใช้มติ ครม.ปรับแอดมิสชั่นส์ ลด "กวดวิชา-ซ้ำซ้อน-เปลือง-ไม่เท่าเทียม"

"อ๋อย" ขู่ใช้มติ ครม.ปรับแอดมิสชั่นส์ ลด "กวดวิชา-ซ้ำซ้อน-เปลือง-ไม่เท่าเทียม"

"อ๋อย" ขู่ใช้มติ ครม.ปรับแอดมิสชั่นส์ ลด "กวดวิชา-ซ้ำซ้อน-เปลือง-ไม่เท่าเทียม"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

′อ๋อย′ ขู่ใช้มติ ครม.ปรับแอดมิสชั่นส์ ลด ′กวดวิชา-ซ้ำซ้อน-เปลือง-ไม่เท่าเทียม′ หลังมหา′ลัยอิดออด-อ้างมีอิสระรับ น.ศ.

เมื่อวันที่ 12 กันยายน นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า กรณีที่คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เสนอให้ปรับระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา เพราะเป็นปัญหามาก ทั้งซ้ำซ้อน สิ้นเปลือง ไม่เท่าเทียม และทำให้การกวดวิชาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการรับตรงนั้น ตนทราบข้อเสนอดังกล่าวแล้ว โดยประเด็นหลักๆ ที่ กกอ.เสนอคือให้ลดการรับตรง และให้รับกลางมากขึ้น ซึ่งจะต้องไปดูว่าจะรับนักศึกษาเข้าเรียนด้วยวิธีไหน เพื่อแก้ปัญหามหาวิทยาลัยต่างคนต่างรับ และแต่ละคณะก็รับกันเอง จัดสอบเอง แถมออกข้อสอบนอกหลักสูตร ซึ่งตรงกับนโยบายที่ตนกำลังดำเนินการอยู่ คือเปลี่ยนระบบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย ลดการสอบโดยคณะ ให้จัดสอบเฉพาะที่จำเป็นจริงๆ และใช้ผลการสอบกลาง โดยอาจใช้คะแนนทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง มหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สถาบันทดสอบทางการศึกษา (สทศ.) จะต้องไปคิดระบบการสอบกลางร่วมกัน โดยจะต้องสอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ส่วนข้อกังวลของมหาวิทยาลัยที่เกรงว่าจะไม่สามารถคัดเลือกเด็กเข้าเรียนได้ ตามต้องการนั้น เรื่องนี้ไม่น่าห่วง เพราะมหาวิทยาลัยสามารถดูผลสอบ และดูคุณสมบัติอื่นๆ ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยเข้ามาช่วยกำหนดการสอบได้

นายจาตุรนต์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ยอมรับว่ามหาวิทยาลัยมีอิสระในการกำหนดการรับนักศึกษา และรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ไม่มีสิทธิเข้าไปแทรกแซง แต่หากระบบมีปัญหา ต้องพยายามร่วมกันแก้ไข โดยทำให้สังคมเข้าใจ และช่วยกัน ขณะนี้หลายฝ่ายเห็นพ้องกันว่าต้องปรับเปลี่ยน ดังนั้น จึงต้องเปิดกว้างให้ผู้ปกครอง นักเรียน และผู้เกี่ยวข้องช่วยสะท้อนปัญหา เพื่อหาทางแก้ไขร่วมกัน คิดว่ายังพอมีเวลาทำความเข้าใจร่วมกัน เพราะการจะปรับเปลี่ยนอะไร ต้องแจ้งให้นักเรียนทราบล่วงหน้า 3 ปี ยืนยันว่าที่ต้องปรับเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม ทั้งนี้ เข้าใจว่าอาจมีบางคนที่คิดว่าหากเปลี่ยนอีกจะเกิดความยุ่งยาก ซึ่งคนที่คิดแบบนี้ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มคนที่ค่อนข้างได้เปรียบ เช่น มีฐานะพอที่จะไปกวดวิชา มีปัญญาส่งลูกกวดวิชา และสอบหลายครั้ง ขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งไม่มีกำลังส่งลูกไปกวดวิชา หรือเสียค่าสมัครสอบหลายที่ ทำให้เสียเปรียบ

"เรื่องใหญ่คือระบบการคัดเลือกแบบนี้ทำให้ทั้งครู เด็ก และผู้ปกครอง ไม่สนใจการเรียนในระบบ ทุกคนจะมุ่งไปที่ว่ามหาวิทยาลัยออกข้อสอบอย่างไร ดังนั้น หากระบบการคัดเลือกยังเป็นแบบนี้ ไม่มีทางที่จะปฏิรูปการศึกษาได้ อย่างไรก็ตาม หากมหาวิทยาลัยยังยืนยันแนวทางเดิมก็มีสิทธิ เพราะมีอิสระตามกฎหมาย แต่มหาวิทยาลัยยังต้องทำตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อยู่เหมือนกัน เพียงแต่ถ้าใช้มติ ครม.ออกคำสั่งตอนนี้อาจไม่ได้ผล ต้องให้ส่วนรวมเห็นปัญหาว่าระบบที่ทำอยู่ ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการจัดการศึกษาพื้นฐาน และการปฏิรูปการศึกษา และกระทบร้ายแรงต่อความไม่เท่าเทียม หากสังคมไม่เข้าใจ มหาวิทยาลัยไม่เปลี่ยน เหมือนการปฏิรูปการศึกษาเดินอยู่บนเส้นด้าย ที่ทำมาอาจจะล้มเหลวทั้งหมด ที่สำคัญเราเห็นชัดเจนว่าขณะนี้ระบบการคัดเลือกเด็กเข้ามหาวิทยาลัยต้อง เปลี่ยน ไม่เปลี่ยนไม่ได้" นายจาตุรนต์กล่าว


ที่มา : นสพ.มติชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook