"เฮลโล คิตตี้" ในวัยย่าง 40 ปี ขุมทรัพย์ล้ำค่าดัน "ซานริโอ" โตก้าวกระโดด
ตัวการ์ตูนแมวสีขาว ผูกโบสีแดง หน้าตาน่ารักที่ชื่อ "เฮลโล คิตตี้" ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นจากบริษัทซานริโอ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกำลังจะมีอายุครบ 40 ปีในปีหน้า ถึงวันนี้นอกจากความนิยมในญี่ปุ่นแล้ว ความโด่งดังของเฮลโล คิตตี้ยังไปไกลข้ามทวีปไปทั่วโลก และมีแฟนพันธุ์แท้อีกจำนวนมากที่คอยติดตามคอลเล็กชั่นต่าง ๆ ของแมวน้อยตัวนี้อยู่ตลอดเวลา
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ความนิยมในตัวการ์ตูนคิตตี้ที่กระจายออกไปทั่วโลก ส่งผลให้ "ชินทาโร ซึจิ" ผู้ก่อตั้งบริษัทซานริโอ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในวัย 85 ปีผู้นี้กลายเป็นมหาเศรษฐีผู้ทรงอิทธิพล ตั้งแต่เขาได้เปิดตัวเฮลโล คิตตี้ ในปี 2517 ซึจิก็สามารถกุมหัวใจและเงินในกระเป๋าของเด็ก ๆ ผู้หญิง ผู้ใหญ่ รวมไปถึงบรรดา "เซเลบริตี้" ระดับโลกอย่าง "เลดี้ กาก้า" ที่เป็นแฟนตัวยงของเฮลโล คิตตี้ ผ่านตัวสินค้าต่าง ๆ ที่ซานริโอขายลิขสิทธิ์ให้กับบริษัททั่วโลก นำไปผลิตเป็นของเล่นต่าง ๆ รวมไปถึงถุงกอล์ฟ และเครื่องนวดระบบสั่นแบบพกพา ฯลฯ
ปีงบประมาณล่าสุด สิ้นเดือนมีนาคม 2556 บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นรายนี้ซึ่งมีธุรกิจครอบคลุมตั้งแต่ของกระจุกกระจิกไปจนถึงธุรกิจสวนสนุก และผู้ผลิตภาพยนตร์ สามารถทำยอดขายได้ทั้งสิ้นถึง 74.25 พันล้านเยน หรือคิดเป็น 898.6 ล้านเหรียญสหรัฐ
"Ted Bestor" ผู้อำนวยการ Reischauer Institute of Japanese Studies มหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด กล่าวว่า ถึงขณะนี้เฮลโล คิตตี้ เหมือนสินค้าที่ติดลมบนไปแล้ว และเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะเห็นว่ามันจะได้รับความนิยมลดลง เชื่อว่ายังมีวิธีสร้างการเติบโตให้กับแคแร็กเตอร์ตัวนี้ไปยังทั่วโลกได้อีกมาก
ปัจจุบัน "ซึจิ" ดำรงตำแหน่งประธานและซีอีโอของบริษัทซานริโอ ขณะที่ลูกชาย "คูนิฮิโกะ" ในวัย 61 ปี ดำรงตำแหน่งประธานฝ่ายปฏิบัติการและรองประธานอาวุโส อย่างไรก็ตาม ชื่อของทั้งคู่กลับไม่เคยปรากฏในการจัดอันดับของผู้ที่ร่ำรวยที่สุดในโลกแต่อย่างใด
ทุกวันนี้มหาเศรษฐีวัย 85 ปียังคงถือหุ้นของบริษัทซานริโอไว้ถึง 1.8 ล้านหุ้น และมากกว่า 18.1 ล้านหุ้น ถือผ่านคูนิฮิโกะ และยังมีกองทุนที่ถือโดยนามของภรรยา
ข้อมูลจากหนังสือ "Hello Kitty : The Remarkable Story of Sanrio and the Billion Dollar Feline Phenomenon" ที่วางจำหน่ายเมื่อปี 2546 ที่ผ่านมา ระบุว่าทุกวันนี้ "ซึจิ" ใช้นามปากกาของตัวเองว่า "Strawberry King" กำกับลงไปทุกครั้งเวลาเขียนนิวส์เลตเตอร์ของบริษัท เขาเกิดมาในครอบครัวที่ร่ำรวยจากการทำธุรกิจร้านอาหารและโรงแรมในย่านยามานาชิ ซึ่งอยู่ห่างจากโตเกียว 63 ไมล์
"ซึจิ" เริ่มเข้าสู่เส้นทางธุรกิจเมื่ออายุ 33 ปี จนกระทั่งปี 2503 ซึจิได้จัดตั้ง "Yamanashi Silk Center" ด้วยเงินทุน 1 ล้านเยน ขายสินค้าเกี่ยวกับผ้าไหมและรองเท้าแตะเดินชายหาด หลังจากนั้นอีก 2 ปีเขาถึงนำเสนอแคแร็กเตอร์การ์ตูนตัวแรกที่ชื่อว่า "Strawberry"
ส่วนแคแร็กเตอร์แมวขาวโบสีแดง กลายเป็นที่โด่งดังหลังจากซึจิวางขายกระเป๋าใส่เงินที่เป็นรูป "เฮลโล คิตตี้" ในปี 2518 ด้วยแนวทางดังกล่าวทำให้บริษัทเสียฐานลูกค้าที่เป็นกลุ่มผู้ใหญ่ ก่อนที่จะฟื้นกลับมาอีกครั้งในช่วงปี 2533-2542 และกลายเป็น "ทอล์กออฟเดอะทาวน์" ไปทั่ว เมื่อแมคโดนัลด์ สิงคโปร์ เปิดตัวของเล่นลายเฮลโล คิตตี้ คู่กับเพื่อนที่ชื่อ "เดียร์ แดนเนียล" ในชุดแต่งงาน ที่สร้างกระแสให้บรรดานักสะสมแย่งชิงกันมาเป็นเจ้าของ
ซึจิกล่าวเอาไว้ในเว็บไซต์ของบริษัทว่า สิ่งสำคัญที่ร้อยเรียงธุรกิจอันหลากหลายของเราไว้นั้นคือ มุมมองของการให้ที่มาจากใจ โดยซานริโอมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือผู้คนให้สามารถส่งต่อความรู้สึกสำคัญเช่นนี้ให้กับคนอื่น ๆ ได้
เส้นทางการเติบโตทั่วโลกของ Strawberry King เริ่มต้นขึ้น เมื่อเขาขายสิทธิ์ตัวการ์ตูนเฮลโล คิตตี้ และแคแร็กเตอร์อื่น ๆ ให้กับบริษัทต่าง ๆ ที่ทำสินค้าที่แตกต่างกัน แทนที่จะมัวโฟกัสอยู่กับการผลิตและสร้างยอดขายด้วยตัวเอง กลยุทธ์ดังกล่าวช่วยให้ซานริโอมีกำไรเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าถึง 27% ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา
การขายลิขสิทธิ์แคแร็กเตอร์ตัวการ์ตูนให้กับค่ายต่าง ๆ ไปผลิตสินค้า ถือเป็นคีย์ซัคเซสที่ทำให้ซานริโอเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมีลูกค้าสำคัญ ๆ อาทิ "วอล-มาร์ต" ค้าปลีกอันดับ 1 ของโลกที่ซื้อ ลิขสิทธิ์เฮลโล คิตตี้ ไปผลิตเสื้อผ้าและเครื่องประดับ รวมถึง "อินดิเท็กซ์" แฟชั่นรายใหญ่จากสเปน เจ้าของแบรนด์ซาร่า และผู้ผลิตคริสตัลจากออสเตรียอย่างสวารอฟสกี้ ที่มีส่วนสำคัญทำให้ซานริโอมีรายได้พุ่งไปถึง 21.1 พันล้านเยนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เป็นการเติบโตทั้งในสหรัฐ อเมริกากลาง และละตินอเมริกา โดยเฉพาะเม็กซิโกและภูมิภาคเอเชียที่ยังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
อย่างไรก็ตาม ซานริโอได้พยายามที่จะเปลี่ยนและนำเสนออะไรที่มากไปกว่าเฮลโล คิตตี้ โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ซื้อลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนที่ชื่อ "Mr.Right" จากบริษัท Chorion ซึ่งถือเป็นแคแร็กเตอร์ตัวแรกที่ซานริโอไม่ได้พัฒนาขึ้นเอง เพื่อกระจายความเสี่ยง และสร้างความหลากหลายให้กับธุรกิจมากขึ้น
ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์www.facebook.com/prachachatทวิตเตอร์ @prachachat