QS จัดอันดับมหา′ลัยโลก "ฮาร์วาร์ด-เอ็มไอที-ออกซ์ฟอร์ด" แชมป์

QS จัดอันดับมหา′ลัยโลก "ฮาร์วาร์ด-เอ็มไอที-ออกซ์ฟอร์ด" แชมป์

QS จัดอันดับมหา′ลัยโลก "ฮาร์วาร์ด-เอ็มไอที-ออกซ์ฟอร์ด" แชมป์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาทรัพยากรบุคคล อันเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ อย่างไรก็ตาม คุณภาพการศึกษาของแต่ละประเทศย่อมมีความแตกต่างกันไปตามโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่มักมีระบบการเรียนการสอนที่ดี จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนสนใจไปศึกษาต่อในประเทศเหล่านั้น

ส่วนปัจจัยหลักของผู้ต้องการไปศึกษาต่อต่างประเทศ อาจพิจารณาการเลือกสถาบันการศึกษาที่มีอยู่มากมายในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว คือ การเลือกศึกษาในสถาบันที่มีความโดดเด่นและเชี่ยวชาญในภาควิชาที่สนใจ

"พัชราภรณ์ บุญเกิด" เลขาธิการสมาคมไทยแนะแนวการศึกษานานาชาติ (TIECA) กล่าวว่า การที่ประเทศไทยก้าวสู่ AEC จะส่งผลให้ภาพลักษณ์ของตลาดแรงงานในประเทศเป็นนานาชาติมากขึ้น ดังนั้น

การพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรบุคคลไทยให้มีทักษะภาษาอังกฤษในระดับใช้งานได้ดี และส่งเสริมให้ได้เรียนรู้ในภาควิชาที่ผู้เรียนสนใจในระดับสากลจึงเป็นสิ่งสำคัญ

"การศึกษาต่อต่างประเทศ จึงช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนมีการพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษ เพราะการเรียนการสอนในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการสื่อสาร และสถาบันการศึกษาชั้นนำมักมีกลวิธีใหม่ ๆ ที่ช่วยส่งเสริมกระบวนการสอนให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ ทำให้ผู้เรียนมีศักยภาพทางด้านวิชาการและเทคโนโลยีมากขึ้น"

ส่วนภาควิชาหลัก ๆ ที่คนไทยสนใจไปเรียนต่างประเทศ ได้แก่ ภาควิชาบริหารธุรกิจและสังคมศาสตร์, ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี และภาควิชาศิลปศาสตร์และมนุษยศาสตร์

"แน่นอนว่าสถาบันการศึกษาแต่ละแห่งมีความโดดเด่น และเชี่ยวชาญในแต่ละภาควิชาไม่เหมือนกัน ดังนั้น การหาและศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสถานศึกษาต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อทำให้เกิดความเชื่อมั่นในระดับหนึ่งว่าเมื่อไปศึกษาเล่าเรียนแล้วจะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ตั้งใจไว้"

ทั้งนี้ การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกโดย Quacquarelli Symonds หรือ QS ได้รับความเชื่อถือจากนักเรียนนักศึกษา, สถาบันการศึกษา, ผู้ประกอบการและรัฐบาลว่าเป็นแหล่งข้อมูลประสิทธิภาพที่ช่วยผู้เรียนในการเลือกสถาบันการศึกษา เพราะมีการรวบรวมข้อมูลมากมายเกี่ยวกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ

ซึ่งการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกโดย QS ประจำปี 2556 ที่พิจารณาแยกตามภาควิชา (QS World University Rankings by Faculty 2013) ระบุว่า สถาบันอุดมศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญ และมีจุดแข็งในภาควิชาบริหารธุรกิจและสังคมศาสตร์เป็นอันดับ 1 ได้แก่ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีคะแนนรวม 96.30 จากคะแนนเต็ม 100

ส่วนสถาบันอุดมศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญและมีจุดแข็งในภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นอันดับ 1 คือ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology) หรือเอ็มไอที (MIT) ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีคะแนนรวม 96.30 และสถาบันอุดมศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญและมีจุดแข็งในภาควิชาศิลปศาสตร์และมนุษยศาสตร์เป็นอันดับ 1 ได้แก่ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) สหราชอาณาจักร โดยมีคะแนนรวม 99.10โดย QS ใช้ 3 ตัวชี้วัดประสิทธิภาพในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกที่พิจารณาแยกตามภาควิชา เพื่อให้ได้ข้อมูลเปรียบเทียบที่ครอบคลุมและสมดุล ได้แก่

หนึ่ง Academic Reputation - พิจารณาจากชื่อเสียงด้านวิชาการของมหาวิทยาลัย โดยส่งแบบสำรวจออนไลน์ถึงนักวิชาการในหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วโลก

สอง Employer Reputation - พิจารณาจากทัศนคติของผู้จ้างงานต่อมหาวิทยาลัย โดยส่งแบบสำรวจออนไลน์ถึงผู้จ้างงานทั่วโลก เพื่อให้ผู้จ้างงานระบุชื่อมหาวิทยาลัยที่ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพที่ดีที่สุด

สาม Citations Perfaculty - พิจารณาจากสัดส่วนจำนวนการอ้างอิงต่อผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา
ต่อจำนวนอาจารย์ แหล่งที่มาผลงานวิชาการที่จะนำมาใช้ในการประเมินผล คือ Scopus ซึ่งเป็นฐานข้อมูลการอ้างอิงงานวิจัยที่ใหญ่ที่สุด

ด้าน "เอพริล ธนะรัชต์" ผู้อำนวยการสถาบัน ATP (Admissions Test Prep) และผู้อำนวยการสถาบัน MBA Key ซึ่งเป็นสถาบันที่ดำเนินการสอนเกี่ยวกับข้อสอบ SAT และเชี่ยวชาญด้านข้อสอบ GMAT มากว่า 15 ปี กล่าวว่า จากประสบการณ์การทำงานกว่า 15 ปี และได้คลุกคลีกับนักเรียนไทย คิดว่าเยาวชนไทยมีศักยภาพพอที่จะไปศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำดังกล่าวได้ เพราะที่ผ่านมามีนักเรียนของสถาบันสามารถสอบเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยระดับโลกได้ทุกปี

"จุดแข็งของนักเรียนไทย คือ ทักษะด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ทำให้เราได้เปรียบชาวต่างชาติจากหลาย ๆ ประเทศ ส่วนหนึ่งเพราะหลักสูตรการศึกษาสองวิชานี้ของประเทศไทยค่อนข้างเจาะลึกกว่ามาก"

สำหรับการเตรียมความพร้อมเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศแต่เนิ่น ๆ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด "โดยขั้นแรกต้องหมั่นอ่านหนังสือเพื่อพัฒนาภาษาอังกฤษ อาจจะเริ่มจากหัวข้อที่เราสนใจก่อน ใช้วิธีอ่านหนังสือเล่มที่เราสนใจพร้อมกันสองเล่ม โดยเล่มหนึ่งเป็นภาษาอังกฤษและอีกเล่มเป็นภาษาไทย เพื่อดูว่าเราเข้าใจถูกต้องแล้วหรือไม่ ต่อมาเตรียมตัวสอบ TOEFL และ SAT (ในกรณีสมัครระดับปริญญาตรี) และ GMAT หรือ GRE (ในกรณีสมัครระดับปริญญาโท) ควรใช้เวลาอย่างน้อย 3-6 เดือนเพื่อให้ได้คะแนนสอบที่ดีที่สุด"

"ระหว่างนั้นเริ่มพัฒนา Profile ของตนเอง อาจเป็นด้านกิจกรรมหรือกีฬา เพราะคณะกรรมการพิจารณาจากทุกด้านมิใช่คะแนนสอบเพียงอย่างเดียว โดยในส่วนของ Application Essay ควรประกอบไปด้วยจุดเด่นของผู้สมัครเรียน, เป้าหมายทางด้านการศึกษาและอาชีพ"

การศึกษาต่อต่างประเทศมีค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก แต่ก็ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าสำหรับผู้ที่มีความพร้อม ซึ่ง QS ยังได้รวบรวมค่าเทอมโดยประมาณของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้สนใจเรียนได้เตรียมความพร้อม เช่น ค่าเทอมรายปีโดยเฉลี่ยสำหรับนักศึกษาต่างชาติ ในภาควิชาบริหารธุรกิจและสังคมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สำหรับระดับปริญญาตรีอยู่ที่ประมาณ 40,000-42,000 ดอลลาร์สหรัฐ และสำหรับระดับปริญญาโทอยู่ที่ประมาณ 38,000-40,000 ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนค่าเทอมรายปีโดยเฉลี่ยสำหรับนักศึกษาต่างชาติ ในภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) สำหรับระดับปริญญาตรีและระดับปริญญาโทอยู่ที่ประมาณ 42,000-44,000 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเทอมรายปีโดยเฉลี่ยสำหรับนักศึกษาต่างชาติ ในภาควิชาศิลปศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด สำหรับระดับปริญญาตรีอยู่ที่ประมาณ 30,000-32,000 ดอลลาร์สหรัฐ และสำหรับระดับปริญญาโทอยู่ที่ประมาณ 28,000-30,000 ดอลลาร์สหรัฐ

การเตรียมความพร้อมเป็นขั้นตอนที่สำคัญสำหรับผู้ที่กำลังเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ จึงควรคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ทั้งทางด้านชื่อเสียงของสถาบันการศึกษาและค่าใช้จ่ายด้วย

ถึงจะทำให้การลงทุนเรื่องการศึกษาต่อต่างประเทศคุ้มค่า !

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook