ถอดบทเรียนการพัฒนาที่ยั่งยืน นำมหา"ลัยไทยก้าวสู่เวทีสากล

ถอดบทเรียนการพัฒนาที่ยั่งยืน นำมหา"ลัยไทยก้าวสู่เวทีสากล

ถอดบทเรียนการพัฒนาที่ยั่งยืน นำมหา"ลัยไทยก้าวสู่เวทีสากล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากกล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้มหาวิทยาลัยโดดเด่นในเวทีระดับประเทศหรือระดับโลก เชื่อว่าหลายคนคงกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าจะต้องมีความเข้มแข็งทางด้านวิชาการเป็นอันดับแรก ซึ่งปัจจัยนี้ถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งในนโยบายการปฏิบัติงานของทุกมหาวิทยาลัย

อีกปัจจัยหนึ่งที่มหาวิทยาลัยควรตระหนักไม่แพ้กันคือการให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน ซึ่งในแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) ระบุให้ประเด็นพลังงาน และสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในภาพอนาคตของสังคมโลกและสังคมไทยที่มีผลกระทบต่ออุดมศึกษาไทย

ยิ่งกว่านั้นในระดับสากลมี ISCN (International Sustainable Campus Network) หรือการรวมตัวกันของเครือข่ายของมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ซึ่งเป็นเวทีระดับสากลที่ใช้ในการแลกเปลี่ยน

ข้อมูล ความคิด รวมถึงแนวทางปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับความสำเร็จของการเป็นมหาวิทยาลัยยั่งยืนจากงานสัมมนา The 4th University Governance Programme : A Creatively Sustainable University ที่จัดโดยสถาบันคลังสมองของชาติ เปิดเผยถึงการประชุม ISCN 2013 โดย "อ.ปราณิศา บุญค้ำ" ประธานสาขาภูมิสถาปัตยกรรม ม.ธรรมศาสตร์ หนึ่งในตัวแทนที่ได้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวระบุว่ากรอบของการศึกษาเรื่องความยั่งยืนของ ISCN แบ่งเป็น 1.อาคารและก่อสร้าง ที่เน้นการประหยัดพลังงาน, ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก, การจัดการขยะ และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการก่อสร้างหรือปรับปรุงอาคาร

2.แผนภาพรวมของมหาวิทยาลัย เป็นการวางแผนการดำเนินงานที่นำไปสู่การลดก๊าซเรือนกระจก และการทำผังแม่บทที่จะทำให้เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวมากขึ้น ทั้งเรื่องความเป็นอยู่ การบริหารจัดการ และการใช้พื้นที่ทางกายภาพ

และ 3.การวิจัย และการบูรณาการหลักสูตรการเรียนการสอน ซึ่งจะบูรณาการหลายสาขาวิชาเข้าด้วยกัน เพราะความยั่งยืนต้องใช้ความรู้องค์รวม และการทำงานวิจัยเพื่อให้คนภายในมหาวิทยาลัยและชุมชนภายนอกเข้ามามีส่วนร่วม และครอบคลุมไปถึงการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องความยั่งยืน เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

"เรื่องมหาวิทยาลัยยั่งยืนมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะมีองค์ความรู้ใหม่ ๆ หรือกรณีศึกษาใหม่ ๆ เกิดขึ้น ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องทำเหมือนโมเดลของมหาวิทยาลัยอื่น ๆ แต่ต้องเริ่มจากมหาวิทยาลัยตัวเองก่อนว่ามีประเด็นความยั่งยืนด้านไหนบ้าง เพื่อจัดลำดับความสำคัญว่าจะทำอะไรก่อน และเมื่อทำเสร็จแล้วจะต้องมีการวัดผลเพื่อประเมินการทำงาน เพื่อให้คนอื่นเห็นชัดเจนถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลง"

แล้วมหาวิทยาลัยไทยดำเนินการเรื่องความยั่งยืนไปถึงไหนแล้ว ?

มธ.ทำผังแม่บทสู่ปีที่ 100

"ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล" รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการปรับปรุงผังแม่บท ม.ธรรมศาสตร์ วิทยาเขตรังสิต เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำผังแม่บทใหม่ โดยมองไปถึงการก้าวสู่การครบรอบ 100 ปี จากปัจจุบันที่ย่างเข้าสู่ปีที่ 81 โดยได้นำเรื่องมหาวิทยาลัยยั่งยืนมาเป็นหนึ่งในเป้าหมายเพิ่มเติมจากการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน, เป็นมหาวิทยาลัยวิจัย และเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติ

ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการทำโรดแมป โดยมองเรื่องพลังงาน ทั้งการประหยัดพลังงาน และหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ ต่อมาคือเรื่อง Green Building ตึกใหม่ที่สร้างต้องได้มาตรฐานของสถาบันอาคารเขียวไทย ขณะเดียวกัน อาคารเก่าต้องปรับปรุงเพื่อให้มีคาร์บอนฟุตพรินต์น้อยที่สุด นอกจากนี้ จะดูเรื่องการจัดการขยะ การจัดการน้ำ รวมถึงรถโดยสารที่ใช้ในมหาวิทยาลัยต้องลดมลภาวะ และ 70% ของพื้นที่มหาวิทยาลัยต้องเป็นสีเขียว ตลอดจนการศึกษา และการวิจัยที่จะต้องมีแนวคิดเรื่องความยั่งยืนเข้าไปประยุกต์ใช้ด้วย

"ยกตัวอย่างการประหยัดพลังงาน เราตั้งเป้าหมายว่าจะลดค่าไฟให้ได้ 10% ก็อาจจะให้งบประมาณค่าไฟแก่คณะต่าง ๆ เหลือ 90% หากใช้ไฟเกินให้จ่ายเพิ่มเอง แต่ถ้าเงินเหลือให้นำเข้าคณะได้

นี่เป็นตัวอย่างว่าต้องมีส่วนร่วมในการลงมือทำอย่างจริงจัง ไม่ใช่เป็นแค่นโยบาย ขณะเดียวกัน เรามีโครงการปรับปรุงโรงยิมให้เป็นหอประชุมใหญ่ ก็จะทำให้หลังคาเป็น Solar Rooftop ทั้งหมด หรือแม้แต่การเดินทางสาธารณะ เรามีไอเดียเรื่องรถบัสพลังงานไฟฟ้า โดยร่วมมือกับโตโยต้าที่กำลังทำโครงการ Smart Grid"

มจธ.หัวใจสีเขียว

ด้าน ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทยที่ได้รับการจัดอันดับจาก UI Green Metric World University Ranking 2010 ให้เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอันดับที่ 17 ของโลก "ผศ.สุชาดา ไชยสวัสดิ์" ผู้อำนวยการศูนย์การจัดการพลังงานสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และอาชีวอนามัย ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า มจธ.ตั้งเป้าเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวตั้งแต่ปี 2548 โดยนิยามของคำว่าสีเขียวของมหาวิทยาลัยคือการจัดการด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย จนกระทั่งปี 2550 ขยับไปสู่เป้าหมายการสร้างนักศึกษาให้มีหัวใจสีเขียว (Green Heart) ออกสู่สังคม คือต้องมีความรู้ความเข้าใจใน 3 มิติข้างต้นก่อนก้าวออกไปเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม

"จากนโยบายที่มุ่งมั่นว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวที่มีความยั่งยืน ปีนี้จะเป็นปีแรกที่เราจัดทำรายงานความยั่งยืน นอกจากนี้ ยังได้นำนโยบายความยั่งยืนมาสู่กลยุทธ์ ด้วยการทำมหาวิทยาลัยให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ซึ่งได้ประกาศตัวเองว่า มจธ.เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการเดินเท้าและจักรยาน ซึ่งผู้บริหารเป็นผู้นำให้เห็น

เพื่อเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมให้นักศึกษา อาจารย์ และพนักงานเกิดความเชื่อและปฏิบัติตาม หลังจากนั้น คงเกิดความ

ร่วมมือด้วยกัน และขยายผลสู่ชุมชนต่อไป นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนาคนในองค์กรไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้คนในมหาวิทยาลัยมีหัวใจสีเขียว"

ม.มหิดลลดคาร์บอนฟุตพรินต์

"ศ.พ.ญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์" รองอธิการบดี ม.มหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยพัฒนาตัวเองให้เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวในปี 2551-2554 และมีแผนมุ่งสู่มหาวิทยาลัยยั่งยืนในปี 2555-2559 คือจากที่ได้ปรับปรุงทางกายภาพมาสู่การมุ่งเรื่องของฟังก์ชั่น ซึ่งมีนโยบายกายภาพและสิ่งแวดล้อม

3 ด้าน เริ่มด้วยการเทียบตัวเองกับมาตรฐานด้วยการเข้าไปสู่ UI Greenmetric World University Ranking ครั้งแรกเมื่อปี 2555 ติดอันดับที่ 1 ของประเทศไทย และอันดับที่ 36 ของโลก

"ดิฉันเชื่อว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้เป็นเช่นนั้นเพราะมาจากนโยบาย 3 R คือ Reduce, Reuse และ Recycle โดยกำหนดให้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งทุกส่วนงานต้องมีตัวชี้วัดการอนุรักษ์พลังงานไฟฟ้า, น้ำประปา, น้ำมัน และกระดาษในสำนักงาน ซึ่งได้กำหนดแรกเริ่มว่า

ปี 2555 จะต้องลดการใช้ 10% จากปีที่ผ่านมา หลังจากนั้น ให้ลดลง 1% ไปในทุกปี โดยตั้งเป้าว่าในปี 2560 จะสามารถลดได้ทั้งหมด 15%"

"ซึ่งปีผ่านมาเราเน้นเรื่อง Reduce ส่วนปีนี้จะให้ความสำคัญกับ Reuse และ Recycle ยิ่งกว่านั้น ปี 2557-2559 จะเริ่มคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์ และคาดว่าปี 2560 จะมีคาร์บอนฟุตพรินต์ลดลง จนก้าวสู่มหาวิทยาลัยคาร์บอนต่ำในที่สุด"

สำหรับนโยบายสุดท้ายคือการก้าวเป็น Eco University ที่ต้องทำให้เกิดการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน โดยต้องมีส่วนร่วมของคนทั้งในมหาวิทยาลัยและชุมชน ซึ่ง ม.มหิดลได้นำเกณฑ์ของ UI Green Metric World University Ranking มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนามหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง

ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางของมหาวิทยาลัยที่ดำเนินการเรื่องความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง และด้วยหน้าที่ของมหาวิทยาลัยที่เป็น

องค์กรผลิตคน งานวิจัย และนวัตกรรมทางสังคม จึงกล่าวได้ว่ามหาวิทยาลัยจะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้กับตัวเองรวมถึงประเทศและโลกต่อไปในอนาคต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook