ฟื้น "สอบตกซ้ำชั้น" ยกระดับ "น.ร.ไทย" ?

ฟื้น "สอบตกซ้ำชั้น" ยกระดับ "น.ร.ไทย" ?

ฟื้น "สอบตกซ้ำชั้น" ยกระดับ "น.ร.ไทย" ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากสังคมอย่างมาก หลังจาก "ครูใหญ่อ๋อย" นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีแนวนโยบายที่จะให้ฟื้น "การทดสอบวัดผลกลาง" ตลอดจนการฟื้นระบบการตกซ้ำชั้น

และล่าสุด นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ออกมารับลูก โดยระบุว่า ในปีการศึกษา 2557 จะให้มีการใช้ข้อสอบวัดผลกลาง หรือการใช้ข้อสอบปลายภาคชุดเดียวกันทั่วประเทศ ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3, ประถมศึกษาปีที่ 4, ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5, มัธยมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 2 แล้วค่อยขยายไประดับชั้นอื่นๆ และเมื่อมีการใช้ข้อสอบวัดผลกลางแล้ว จะเชื่อมโยงไปถึงการปรับปรุงร่างระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการประเมินผลการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วย ซึ่งจะมีผลทำให้มีการฟื้นการตกซ้ำชั้นในระดับประถมศึกษาตามเดิม

เฉพาะประเด็นเรื่องข้อสอบกลาง คนรุ่นใหม่คงไม่รู้จัก แต่หากเป็นคนที่อายุเกือบ 60 ปีขึ้นไปจะทันกับการสอบด้วยข้อสอบกลางของ ศธ. ที่จะใช้ในการจบระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 และมัธยมศึกษาปีที่ 8 ซึ่งเป็นระบบระดับชั้นการศึกษาเดิมในยุคนั้น

หากย้อนดูประวัติศาสตร์เรื่องราวของข้อสอบกลาง ที่เคยใช้กันมาในยุคอดีต ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) และคณะ ได้ศึกษาวิจัย "เรื่องพัฒนาการของการทดสอบระดับชาติ และการประกันคุณภาพการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน" ทำให้ทราบว่า การสอบไล่ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2427 เป็นการสอบประโยค 1 ตามแบบหลวง มีหนังสือแบบเรียน 6 เล่มจากมูลบทบรรพกิจจนถึงพิศาลการันต์ เมื่อวันจันทร์เดือนห้าขึ้นแปดคํ่า ปีระกา พ.ศ.2427-2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานรางวัล (ประกาศนียบัตร) แก่ผู้สอบไล่ได้ประโยค 1 (เทียบเท่า ป.4) รุ่นแรกเมื่อวันศุกร์ เดือนห้า ขึ้นสิบสองค่ำ ปีระกา พ.ศ.2427 และในปีเดียวกัน (พ.ศ.2427) มีการสอบไล่ครั้งที่สองสําหรับประโยค 2 ประกอบด้วยการสอบ 8 วิชา คือ 1.การเขียน ทั้งการเขียนหวัด และการเขียนตัวบรรจง 2.การเขียนเรียงความ 3.การบรรณธิกรณ์หนังสือจากการเขียนหวัด 4.การคัดลอกเนื้อหาและการสรุปความ 5.การเขียนจดหมาย 6.การแต่งกลอนและการแก้ไข 7.คณิตศาสตร์ และ 8.การทำบัญชี มีการกําหนดให้มีการสอบประโยค 1 และการสอบประโยค 2 ปีละสองครั้ง คือ สอบในเดือนตุลาคมและมีนาคมของทุกปี

ส่วนการสอบวัดผลกลางแบบในอดีตที่ ศธ.จะฟื้นมาใช้นั้น เกิดขึ้นช่วงปี พ.ศ.2478 เป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประถมศึกษา มาตรา 18 ระบุว่า กําหนดให้มีการสอบรวมชั้นประโยคโดยข้อสอบอัตนัยของ ศธ. ผู้สอบได้ต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ผู้ผ่านการสอบสามารถใช้ในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น เช่น สมัครเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ถ้าสอบ ม.8 ได้ หรือ ม.6 ในปัจจุบัน และหลังจากนั้นระบบการสอบดังกล่าวได้มีการยกเลิกราวช่วงปี 2520 และต่อมาในปี 2521 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาฉบับใหม่ ให้การวัดและประเมินผลเป็นการดำเนินการของโรงเรียน

ทั้งนี้ การที่ ศธ.ได้หยิบยกเรื่องการให้มีการสอบวัดผลกลางและการซ้ำชั้นขึ้นมาอีกครั้งด้วยเหตุผลหลักในเรื่องของคุณภาพการศึกษาที่แย่ลง ซึ่งนายจาตุรนต์ เคยเน้นย้ำในหลายครั้งว่า "การซ้ำชั้น จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพของเด็ก เพราะเมื่อเรียนต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ก็อ่านหนังสือไม่ออก จนส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษา เพราะเวลาเด็กตก ครูก็ให้เด็กผ่านกันไม่ยาก เช่น ทำความสะอาดห้อง อีกทั้งระบบการสอนในปัจจุบันไม่มีการทดสอบกลางที่เป็นมาตรฐาน จึงทำให้ไม่รู้ปัญหา แต่กว่าจะมารู้ปัญหา ต้องรอการวัดผลระดับนานาชาติหรือการวัดผลเองในบางช่วงชั้นและเพียงบางวิชาเท่านั้น"

ฉะนั้น การฟื้นนโยบายนี้ จึงมีความคาดหวังว่าจะช่วยทำให้คุณภาพการศึกษาไทยดีขึ้นได้ ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องอาจจะคิดว่า การทำให้เด็กตกซ้ำชั้น ทำให้เสียเวลาหรือเสียอนาคต แต่หากดูจากคนรุ่นเก่าที่ผ่านระบบการศึกษาในยุคนั้นมาแล้วเปรียบเทียบกับเด็กที่อยู่ในระบบการศึกษายุคปัจจุบัน จะเห็นว่าคนรุ่นเก่าจะมีปัญหาเรื่องของคุณภาพการศึกษาไม่มากนัก โดยเฉพาะเรื่องการอ่านออก เขียนได้ ที่จะมีน้อยมากเมื่อเทียบกับนักเรียนในปัจจุบัน ที่พบว่ามีประมาณกว่า 2 แสนคนที่ต้องได้รับการปรับปรุงพัฒนา

แต่ทั้งนี้หากจะเปรียบเทียบการศึกษาในยุคเก่ากับยุคปัจจุบัน อาจจะพูดได้ไม่เต็มปากเต็มคำนักว่า การศึกษายุคเก่าดีกว่ายุคปัจจุบัน เพราะในอดีตจำนวนนักเรียนมีน้อยกว่าปัจจุบันมาก โดยปัจจุบันอยู่ที่ 10 ล้านคน

ฉะนั้น ศ.ดร.สมหวัง ซึ่งปัจจุบันสวมหมวกประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) จึงแนะนำว่า การใช้ข้อสอบในชั้นต่างๆ ที่เป็นการสอบไล่ ควรเป็นข้อสอบมาตรฐาน ซึ่งต้องอาศัยส่วนกลางที่จะช่วยออกข้อสอบ ส่วนเรื่องระบบการซ้ำชั้น จะไปผูกโยงกับระบบหน่วยกิต จึงคิดว่าในระดับมัธยมศึกษา ควรเปลี่ยนมาใช้ระบบหน่วยกิตแบบมหาวิทยาลัย คือ นักเรียนไม่ผ่านรายวิชาใดก็ให้มาซ่อมหรือเรียนรายวิชานั้นใหม่โดยไม่ต้องซ้ำชั้น ส่วนระดับประถมศึกษาอาจจะใช้ระบบหน่วยกิตยากหน่อย แต่ก็ไม่อยากให้มีการซ้ำชั้น ดังนั้นควรเน้นใช้ระบบเดิมที่ใช้อยู่ในปัจจุบันและให้มีการซ่อมเสริมแทน

การฟื้นระบบซ้ำชั้น และการใช้ข้อสอบชุดเดียวกันจากส่วนกลาง อาจจะใช่ หรือไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของคุณภาพการศึกษาไทย

แต่การหาคำตอบในรอบนี้ ต้องรอบคอบ และรอบด้าน

ที่มา : นสพ.มติชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook