พิธีกรมาดกวน "จอห์น-วิญญู วงศ์สุรวัฒน์" ไขความลับ ขยับไซซ์XLเป็นไซซ์S
โดย วจนา วรรลยางกูร, วรรณโชค ไชยสะอาด
นาทีนี้เชื่อว่ามีน้อยคนที่จะไม่รู้จัก พิธีกรหนุ่มลูกครึ่งมาดกวน ขวัญใจวัยรุ่น เจ้าของรายการวิพากษ์เสียดสี ไปจนถึงจิกกัดสังคมและการเมืองไทยอย่างสนุกสนาน "เจาะข่าวตื้น ดูถูกสติปัญญา" ทางอินเตอร์เน็ตทีวี ภายใต้ชื่อ "Spoke Dark TV" ที่มีผู้บริหารทำหน้าที่พิธีกรเอง คือเขาคนนี้ ...นายจู วิน ยอน นะฮ๊าฟฟฟว์
"จอห์น-วิญญู วงศ์สุรวัฒน์"
จากการก่อตั้งเว็บไซต์อินเตอร์เน็ตทีวีร่วมกับพี่สาวในหลายปีที่ผ่านมา การันตีว่าพิธีกรหนุ่มคนนี้ไม่ได้มีดีแค่หน้าตา เห็นได้จากการเติบโตของช่อง Spoke Dark TV ที่แม้จะเผยแพร่ผ่านอินเตอร์เน็ตอันเข้าถึงผู้ชมได้เพียงบางกลุ่ม แต่กลับมีผู้เข้าชมเพิ่มมากขึ้น และมีรายการรูปแบบใหม่ๆ ออกมารองรับผู้ชมที่เพิ่มขึ้น
จอห์น-วิญญู ลูกครึ่งไทย-อเมริกัน เกิดเมื่อ 25 กันยายน 2528 ในครอบครัวนักวิชาการคือ คุณพ่อ รศ.ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ และ คุณแม่ ผศ.แจนนิส เอ็ม วงศ์สุรวัฒน์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าครอบครัวเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยหล่อหลอมให้จอห์นมีการคิดวิเคราะห์ทั้งทางด้านรัฐศาสตร์จากคุณพ่อ และด้านสุนทรียศาสตร์จากคุณแม่ ส่งผลให้พี่สาว-จรรยา วงศ์สุรวัฒน์ และพี่ชายของเขา-วินัย วงศ์สุรวัฒน์ เป็นนักวิชาการเช่นกัน
แม้จะเป็นลูกครึ่ง แต่ครอบครัวของจอห์นก็ไม่ได้ส่งเข้าโรงเรียนอินเตอร์กระแสนิยมในปัจจุบันที่กำลังมาแรง เขาเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนอนุบาลสามเสน ขณะเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัยก็ถูกแมวมองทาบทามให้ไปถ่ายโฆษณา และเข้าวงการบันเทิงตั้งแต่วัยรุ่น
ต่อมาเข้าเรียนคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาการแสดงและกำกับการแสดง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และเปลี่ยนไปเรียนรัฐศาสตร์ รามคำแหง หลังเรียนการแสดงได้ 3 ปี
"ตอนเเรกก็คิดว่าเรียนการเเสดงจะเข้ากับตัวเราที่สุด จนจะขึ้นปี 4 เเล้วรู้สึกไม่ใช่ พอถึงวิชาที่จะต้องได้คิดได้เเสดงมุมมองความคิดเห็นทางด้านศิลปะ ก็กลายเป็นว่าถูกตีกรอบพอสมควร เวลาที่ใครบอกว่าสิ่งที่คิดนั้นผิด ผมจะชอบขวนขวายหาความรู้นอกห้องเรียน เลยเปลี่ยนมาเรียนรัฐศาสตร์เเทน ซึ่งไม่มีอะไรตายตัว การพูดถึงสังคมและเเนวคิดการเมืองสามารถคิดไปได้ไกล เเละจับเชื่อมโยงกับสังคมอย่างนั้นอย่างนี้ได้ ซึ่งเราโอเค"
ใครจะเชื่อว่า จอห์น วิญญู ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน ครั้งที่เขายังทำหน้าที่เป็นพิธีกรรายการวัยรุ่น จะมีน้ำหนักตัวเฉียดร้อยกิโลกรัม ถึงขนาดทำให้เขาถูกล้อว่าเป็นพิธีกรเลข 0 คู่กับพิธีกรเลข 1 (เปรมณัช สุวรรณานนท์) ที่จัดรายการคู่กัน และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาทดลองลดน้ำหนักด้วยตนเอง หมดเงินไปหลายแสนบาท กระทั่งค้นพบวิธีของตัวเองในที่สุด
น้ำหนักที่หายไปมากกว่า 20 กิโลกรัม ทำให้ถูกกล่าวหาว่า อกหักบ้าง ติดยาบ้าง จนเขาตัดสินใจทำรายการ "Good Shape Good Choice" รายการควบคุมน้ำหนักซีซั่น 2 ต่อจาก "Good Shape Save Cost" รายการลดน้ำหนักภายใต้แนวคิด "โคตรประหยัด ขจัดอ้วน" ทาง Spoke Dark TV ซึ่งเขาเป็นผู้บริหารอยู่ เพื่อส่งต่อวิธีลดน้ำหนักจากประสบการณ์ตรงให้ผู้ที่มีปัญหากับน้ำหนักตัวทุกท่าน
ล่าสุด จอห์น วิญญู ออกหนังสือเล่มใหม่ภายใต้ชื่อเดียวกับรายการลดน้ำหนักของเขา "Good Shape Save Cost โคตรประหยัด ขจัดอ้วน" โดยสำนักพิมพ์มติชน นำสูตรเด็ดเคล็ดลับมารวมในหนังสือ เป็นหนทางลดน้ำหนักสูตรประหยัดเงิน จากรายการที่มียอดชมมากกว่า 5 ล้าน!
อยากรู้จักตัวจริงของจอห์นว่าจะ "กวน" อย่างในรายการไหม อย่ารอช้า มาเปิดมุมมองใหม่ๆ กับผู้ชายคนนี้ แล้วจะรู้ว่า "จู วิน ยอน" มีดีกว่าที่เห็น...นะฮ๊าฟฟฟว์
- "ทำรายการ Good Shape Good Choice ตั้งแต่เมื่อไหร่"
ประมาณ 2 ปีที่แล้ว หลังจากลดน้ำหนักคนถามกันเยอะ จึงทำรายการออกมา ซึ่งทางมติชนที่ติดตามรายการมาบอกว่าน่าจะทำเป็นพ็อคเก็ตบุ๊ก ตอนแรกผมกังวลว่าจะทำดีหรือเปล่า เพราะกลัวว่าคนอ่านจะขี้เกียจอ่าน (หัวเราะ) เเต่พอได้คุยกับทีมงานว่า ผมจะเล่าเป็นขั้นตอนว่าจะค่อยๆ ลดไปด้วยกัน เราจะใช้วิธีไหน คุณจะเผชิญอะไรบ้าง จึงออกมาเป็นคอนเซ็ปต์ว่าหนังสือจะไม่เคร่งเครียดมากจนเกินไป อาจจะมีภาพประกอบเยอะ และข้อความที่เข้าใจง่าย
- "มีคนบอกว่าวิธีลดน้ำหนักของจอห์นทำให้สุขภาพเสีย"
70-80 เปอร์เซ็นต์เป็นประสบการณ์ตัวเองโดยตรง อีก 20-30 เปอร์เซ็นต์เป็นการปรึกษากับแพทย์ นักโภชนาการ และข้อมูลที่สามารถหาได้ทั่วไป วิธีของผมคือกินให้น้อยกว่าใช้ ตอนลดน้ำหนักผมกินแค่วันละ 500 แคลอรี และไม่ออกกำลังกาย เพราะพลังงานที่นำเข้ามันน้อยอยู่แล้ว ถ้าไปซ้ำเติมร่างกายให้เหนื่อยล้าเข้าไปอีก ก็ยิ่งทำให้ร่างกายโทรม เมื่อลดจนได้น้ำหนักที่ตัวเองต้องการแล้ว อยากจะกลับมาแข็งแรง ฟิตแอนด์เฟิร์ม ก็ไปออกกำลังกาย ซึ่งบางคนกลัวว่าจะปลอดภัย จะมีโยโย่เอฟเฟ็กต์หรือเปล่า เพราะดูแค่บางตอน ถ้าคุณจะก้าวเข้าสู่การลดน้ำหนักแบบนี้ต้องดูตั้งแต่ต้นจนจบ
อีกส่วนหนึ่งที่โดนโจมตีจะมาจากเหล่าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่างๆ ที่ไม่พอใจ เพราะรายการนี้เน้นว่าโคตรประหยัด ขจัดอ้วน คุณแทบไม่ต้องเสียเงินเพิ่มเติมเลย เต็มที่ก็ซื้ออาหารที่ดีต่อสุขภาพและเพียงพอต่อหนึ่งวัน ไม่ต้องไปกินยา เข้าคอร์สพิเศษอะไรทั้งสิ้น
- "เมื่อก่อนกินเก่งไหม"
มาก! เมื่อก่อนกินเยอะมาก ตอนเช้าถ่ายรายการ กินหมูปิ้งข้าวเหนียว ข้าวกล่อง บางทีมีปาท่องโก๋ ขนม ซาลาเปา กาแฟเย็น แล้วก็กินข้าวกลางวัน คนเราโดยเฉลี่ยกินได้วันละประมาณ 2,000 แคลอรี แต่แค่มื้อเช้าก็เกือบ 1,500 แล้ว ท้ายสุดน้ำหนักก็เพิ่มขึ้น ตอนเข้าวงการน้ำหนัก 65-69 เด้งมาถึง 99 กิโลกรัม บางทีผมว่าคงจะแตะร้อย แต่ว่าเกรงใจ (หัวเราะ)
เมื่อก่อนของโปรดคือ อาหารฟาสต์ฟู้ด พิซซ่าสั่งสองวันครั้ง เบอร์เกอร์ราดซอสย่างถ่าน จัดหนักเลย มารู้ทีหลังว่าจานเดียวก็เกือบ 2,000 แคลอรี ...โหผมกินวันละสองจาน (หัวเราะ) แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยกินเท่าไหร่ จะเป็นซุป สุกี้ ข้าวก็กินตามปกติ แค่แบ่งปริมาณเท่านั้นเอง
- "พูดถึงงานอื่นบ้าง รายการเจาะข่าวตื้นเป็นยังไง?"
ดีขึ้นกว่าเดิมครับ คนดูเยอะขึ้น รายการนี้กำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 6 ยอดผู้ชมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เรามีช่วงใหม่ มีช่วงสัมภาษณ์แขกรับเชิญ ซึ่งแต่ละคนน่ารักมาก ทีแรกก็ไม่กล้าเชิญหรอก รู้สึกว่าเขาจะมาเหรอ แต่กลายเป็นว่าเขาอยากมาออกรายการเรา โดยโทร.มาบอกบ้าง บอกในเฟซบุ๊กบ้าง หรือบางคนพูดผ่านรายการทีวีว่าอยากออกรายการนี้ ทำยังไงให้ได้ไปออก ผมก็...โหขนาดนั้นเลยเหรอ ดีใจที่มีแขกรับเชิญมาออกเยอะ ทำให้มีคนติดตามและเป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้เราไม่คิดว่าจะได้รับการตอบรับเร็วขนาดนี้ กลุ่มเป้าหมายของเราคือพวกน้องๆ คนรุ่นใหม่ คนเริ่มทำงาน แต่ก็มีเด็กมัธยม หรือผู้ใหญ่ดูกันเยอะ
- "คุณลีน่าจังก็ดู"
ใช่ครับ ถูกต้อง อันนั้นผมได้สถาปนาเป็นคุณแม่แล้ว มีอยู่วันหนึ่งที่ผมช็อกมาก น้าเน็ก (เกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา) บอกว่าแม่น้าเน็กดู ไปเจอรายการเราตามเคเบิลเถื่อน แล้วมาบีบคอให้น้าเน็กเปิดให้ดู สุดท้ายน้าต้องไปขวนขวายเปิดเน็ตให้แม่ดู ก็ดี กลายเป็นว่าคน 60-80 ปี ก็ดูด้วยเหมือนกัน เราก็ดีใจ
- "เวลาทำข่าวการเมือง ปรึกษาคุณพ่อคุณแม่บ้างไหม?"
มีบ้าง เป็นเรื่องมุมมองมากกว่า ผมมักจะปรึกษากับคุณพ่อที่มีความรู้เรื่องข่าวการเมืองเเละสังคม เพราะเป็นอาจารย์สอนรัฐศาสตร์เเละสังคมศาสตร์ ท่านจะอธิบายเเละต่อยอดให้ว่าข่าวนี้โยงเกี่ยวกับการเมืองในประเทศ ต่างประเทศ หรือศาสนา ควรจะหยิบเรื่องนี้มาโยงบ้าง แล้วพอนำเสนอมุมด้านนี้คนดูก็ชอบรายการมากยิ่งขึ้น การย่อข่าวยากให้ง่ายเเถมมุขตลกลงไปด้วย ทำให้บริโภคได้ง่ายยิ่งขึ้น
- "คิดจะย้ายมาออกอากาศทางฟรีทีวีไหม?"
ถ้าเขาให้ทำก็ทำ แต่อาจจะเป็นอะไรที่ค่อนข้างใหม่ เพราะวิธีการนำเสนอของเราอาจจะฮาร์ดคอร์อยู่บ้าง ใช้ศัพท์วัยรุ่นจ๋า หรืออาจจะหยาบบ้าง เเต่ถ้าเทียบกับเมื่อก่อนน้อยลงเยอะนะ จะเน้นในส่วนของเนื้อหาข่าวมากกว่า มีมุขตลกที่ดูแสบๆ ซึ่งในฟรีทีวีอาจจะรู้สึกว่า...เอ่อ ต้องฉายหลังสี่ทุ่ม หลังเที่ยงคืน ฉ.ฉิ่งโพดๆ แต่ถ้ามีโอกาสก็คงสามารถปรับให้ออกในฟรีทีวีได้ แต่ก็ไม่แน่อีกสักสองสามปีระบบอินเตอร์เน็ตอาจจะพัฒนาเร็วกว่าที่คาดไว้ ผมอาจจะยังอยู่ในอินเตอร์เน็ตแล้วเข้าถึงคนได้มากกว่าด้วยซ้ำ เพราะทุกวันนี้คนดูผ่านมือถือเยอะมากขึ้น จากเดิมมีแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ แต่อยู่ดีๆ ในปีที่ผ่านมาก็เพิ่มขึ้นมาเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ ไม่แน่ในอีก 2 ปี อาจจะเป็น 80-100 เปอร์เซ็นต์ก็ได้
- "ในฐานะสื่อ มีเสรีภาพพอไหม?"
มีครับ ผมว่าส่วนใหญ่เรามีเสรีภาพในตัวเองอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าเราจะรู้ตัวและยอมรับหรือเปล่าว่าเรามีสิทธิเสรีภาพ อาจจะมีเรื่องของตัวบทกฎหมายที่มากดทำให้เราชะงักอยู่บ้าง แต่ถ้าพูดถึงจรรยาบรรณรู้ว่าอะไรควร ไม่ควร การไปพาดพิงคนอื่นพูดให้เขาดูแย่ หรือซ้ำเติมคนที่เสียหาย ก็ไม่ทำอยู่แล้ว เต็มที่ก็แค่เล่นมุข แซวๆ บ้าง แต่ว่าไม่ใช่การซ้ำเติมเพื่อทำลายภาพลักษณ์เขา
แต่บางทีรัฐธรรมนูญที่เปิดกว้างว่า ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ กลับมีกฎหมายบางตัวมาลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเราไม่สามารถไปขัดได้
- "มีคนบอกว่าดาราไม่ควรยุ่งกับการเมือง"
ไม่จริง ผมว่านั่นเป็นทัศนคติของคนไทยมากกว่า อย่างในเมืองนอก หากมีโอกาสได้เเสดงความคิดเห็นทางการเมือง มีเเต่คนมองว่าเท่นะ อย่างจอร์จ คลูนีย์ ไปพูดต่อหน้าคณะกรรมาธิการในวุฒิสภา หรือลีโอนาโด ดิคาปริโอ ไปพูดเรื่องโลกร้อนกับนักการเมืองเพื่อให้มีการผลักดันกฎหมายก็ดูสร้างสรรค์ ในไทยอย่างพี่เก๋-ชลดา ผลักดันให้เกิดกฎหมายคุ้มครองสัตว์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เรื่องพวกนี้ดาราทำได้ เเต่มันจะเกิดความกลัวขึ้นมาเมื่อดาราไปเเสดงออกอย่างฮาร์ดคอร์ เช่น ไปร่วมชุมนุม ขึ้นพูดเเละทำให้คนอีกฝั่งที่มีความคิดตรงกันข้ามมองในทางที่ไม่ดี
ทุกวันนี้ผมว่ามีปัญหาในเรื่องการเเลกเปลี่ยนความคิดเห็น ดาราหลายคนไม่มีงาน ถูกดิสเครดิต รวมทั้งการถกเถียงกันระหว่างกลุ่มสี ที่มักไม่ให้เกียรติฝ่ายตรงข้าม สังคมไทยบอกว่าเราเป็นประชาธิปไตย คนไทยใจดี ใจกว้าง เเต่กลับไม่ยอมรับความคิดที่เเตกต่าง มักมองว่าฝั่งตรงข้ามต่ำกว่า ด้อยกว่า เลวกว่า ไม่ได้คิดอยู่ในระดับเดียวกัน
- "เคยถูกกล่าวหาว่าเป็นสีนั้นสีนี้ไหม?"
มีครับ ครบทุกสีเเล้ว ผมกลายเป็นมนุษย์เรนเจอร์ไปเรียบร้อย ผมว่าเป็นเรื่องปกติ พอเราพูดหรือนำเสนอข่าวเเล้วอาจจะไปพาดพิงฝ่ายตรงข้าม ฝั่งที่ฟังเเล้วถูกใจก็คิดว่าเราต้องเป็นสีนี้เเน่เลย ส่วนฝั่งที่โดนพาดพิงก็จะมองว่าเป็นฝั่งตรงข้ามเเน่นอน จนมีช่วงหนึ่งผมก็นอยด์เหมือนกัน เเต่ว่าช่วงหลังก็ เอ่อ...เอาๆ อยากให้อยู่หมวดไหนก็เชิญ
- "สำหรับตัวเองอยู่สีไหน?"
ไม่มี ผมเคยคุยกับเเขกรับเชิญคือ คุณปลื้ม (ณัฏฐกรณ์ เทวกุล) เขาบอกว่าจริงๆ ลึกๆ ทุกคนมีสีของตัวเอง ผมก็พยายามค้นหาว่าจริงๆ เเล้วเราสีอะไร แต่น่าจะเป็นเรื่องความเชื่อทางการเมืองหรือสังคมมากกว่า การไประบุสีเป็นอะไรที่ค่อนข้างแคบพอสมควร ความคิดทางการเมืองเเละสังคมเป็นเรื่องที่กว้างมาก อุดมคติของเราไม่สามารถถูกครอบได้ด้วยสีใดสีหนึ่ง
- "ความฝันในฐานะของผู้บริหารและพิธีกร"
จริงๆ ความฝันก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เเต่วันนี้อยากให้ Spoke Dark TV ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง รายการเจาะข่าวตื้นก็ได้รับการยอมรับพอสมควรในเเง่ของวิธีของการนำเสนอข่าวเเบบใหม่ ในจุดนี้ผมโอเคกับสิ่งที่ทำเเล้ว เเต่อยากให้ไปไกลกว่านี้ และได้รับการเปิดกว้างจริงๆ เเต่รู้ว่าต้องใช้เวลา
- "ในฐานะที่เป็นนักเรียนไทย มองว่าระบบการศึกษาไทยมีปัญหาไหม"
มีเเน่นอน เเต่ผมมองว่าเป็นที่หลายด้าน เเต่ตัดเรื่องงบประมาณไป เพราะเเทบจะเป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณสูงสุดด้วยซ้ำ เยอะกว่ากระทรวงกลาโหม
อาจจะเป็นเรื่องคุณภาพครู ที่ไม่นานมานี้เราเห็นข่าวการทุจริตคุณภาพครู ซึ่งหากย้อนกลับไปสมัยคุณพ่อ คนที่จะเป็นครูได้คือคนที่จะต้องสอบได้ที่ 1 ในระดับเขต อำเภอ หรือจังหวัด คือคนที่จะเป็นครูได้ต้องเจ๋ง เเต่ทุกวันนี้ทัศนคติความเป็นครูเปลี่ยนไป คณะครุศาสตร์กลับกลายเป็นคณะสำรองของคน นี่เป็นตัวอย่างที่เเสดงให้เห็นว่าการศึกษาไทยมีปัญหา
"ซึ่งจริงๆ ก็มีอีกหลายอย่างที่เป็นปัญหา เเละต้องปรับให้พัฒนาตามโลกให้ทัน เพราะถ้าไม่ทันคนที่รับผลจากปัญหาก็คือนักเรียน"
"พบกับจอห์น-วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ กับหัวข้อเสวนา "Good Shape Save Cost โคตรประหยัดขจัดอ้วน" ในงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ วันอังคารที่ 22 ตุลาคม 2556 เวลา 12.00-13.00 น. ที่บูธมติชน โซนพลาซ่า"
หน้า 13มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม 2556