ความเป็นมา "พระสังฆราช"ประเทศไทย และ ลำดับอาวุโสพระเถระ
ในความหมายของคำว่า"สังฆราช" แปลว่า ราชาของสงฆ์ ราชาของหมู่คณะ หมายถึง พระมหาเถระผู้เป็นใหญ่สูงสุดในสังฆมณฑล มักเรียกกันสั้นๆ ว่า"สมเด็จพระสังฆราช" ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช มีมานานแล้วตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ตามที่มีหลักฐานปรากฏบนศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ว่า "สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก" เป็นตำแหน่งสมณศักดิ์สูงสุดฝ่ายพุทธจักรของคณะสงฆ์ไทย ทรงเป็นประธานการปกครองคณะสงฆ์ ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชนั้นนำแบบอย่างมาจากลัทธิลังกาวงศ์
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้เพิ่มตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เป็น"สกลมหาสังฆปริณายก" มีอำนาจว่ากล่าวออกไปถึงหัวเมือง มีพระสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายคามวาสี เป็นสังฆราชขวา และสมเด็จพระวันรัต เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายอรัญวาสี เป็นสังฆราชซ้าย องค์ใดมีพรรษายุกาลมากกว่าก็ได้เป็นพระสังฆราช
ต่อมาปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา พระอริยมุนี ได้ไปสืบอายุพระพุทธศาสนาที่ลังกาทวีป จนมีความชอบ เมื่อกลับมาได้รับสมณศักดิ์สูงขึ้นตามลำดับจนเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระเจ้าเอกทัศน์มีพระราชดำริให้คงราชทินนามนี้ไว้ จึงทรงตั้งราชทินนามสมเด็จพระสังฆราชเป็น "สมเด็จพระอริยวงศาสังฆราชาธิบดี" และมาเป็น "สมเด็จพระอริยวงษญาณ" ในสมัยกรุงธนบุรี และใช้ต่อมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงเปลี่ยนเป็น "สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ" ใช้พระนามนี้จนถึงปัจจุบัน
เมื่อย้อนกลับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 9 รัชกาลปัจจุบัน มีพระมหาเถระได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช แล้ว 19 พระองค์ ประกอบด้วย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า 3 พระองค์, สมเด็จพระสังฆราชเจ้า 2 พระองค์ และสมเด็จพระสังฆราช 14 พระองค์ โดยจะมีพระนามสองอย่าง หากเป็นเจ้านายเชื้อพระวงศ์จะมีคำนำหน้าพระนามว่า "สมเด็จพระสังฆราชเจ้า" หรือ "สมเด็จพระมหาสมณเจ้า" หากเป็นสามัญชนมีคำนำหน้าว่า "สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ" ดังรายละเอียดดังนี้
1.สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) วัดระฆังโฆสิตาราม ปี 2325-2337 ดำรงสมณศักดิ์ 12 ปี
2.สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ฯ ปี 2337-2359 ดำรงสมณศักดิ์ 23 ปี
3.สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (มี) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ฯ ปี 2359-2362 ดำรงสมณศักดิ์ 3 ปีเศษ
4.สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ฯ ปี 2363-2365 ดำรงสมณศักดิ์ 1 ปีเศษ
5.สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ฯ ปี 2365-2385 ดำรงสมณศักดิ์ 19 ปีเศษ
6.สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (นาค) วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) ปี 2386-2392 ดำรงสมณศักดิ์ 5 ปีเศษ
7.สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส (พระองค์เจ้าวาสุกรี สุวณฺณรํสี) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ปี 2394-2396 ดำรงสมณศักดิ์ 1 ปีเศษ
8.สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ (พระองค์เจ้าฤกษ์ ปญฺญาอคฺคโต) วัดบวรนิเวศวิหาร ปี 2434-2435 ดำรงสมณศักดิ์ 11 เดือนเศษ
9.สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ปี 2436-2442 ดำรงสมณศักดิ์ 6 ปีเศษ
10.สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ มนุสฺสนาโค) วัดบวรนิเวศวิหาร ปี 2453-2464 ดำรงสมณศักดิ์ 10 ปีเศษ
11.สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ (หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ปี 2464-2480 ดำรงสมณศักดิ์ 16 ปีเศษ
12.สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) วัดสุทัศนเทพวราราม ปี 2481-2487 ดำรงสมณศักดิ์ 6 ปีเศษ
13.สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต) วัดบวรนิเวศวิหาร ปี 2488-2501 ดำรงสมณศักดิ์ 13 ปีเศษ
14.สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ปี 2503-2505 ดำรงสมณศักดิ์ 2 ปีเศษ
15.สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย) วัดสระเกศฯ ปี 2506-2508 ดำรงสมณศักดิ์ 2 ปีเศษ
16.สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี) วัดมกุฏกษัตริยาราม ปี 2508-2514 ดำรงสมณศักดิ์ 6 ปีเศษ
17.สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ปี 2515-2516 ดำรงสมณศักดิ์ 1 ปีเศษ
18.สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ปี 2517-2531 ดำรงสมณศักดิ์ 14 ปีเศษ และ
19.สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร ปี 2532-2556 นอกจากทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช ที่มีพระชนมายุยาวนานที่สุด และดำรงสมณศักดิ์ยาวนานในประวัติศาสตร์แล้วนั้น
เมื่อครั้งสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) สิ้นพระชนม์ เมื่อปี 2531 ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในราชทินนามเดิม "สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก"
โดยราชทินนามดังกล่าวนับเป็นราชทินนามพิเศษ เนื่องจากสมเด็จพระสังฆราชที่มิได้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ ตามปกติจะใช้ราชทินนามว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
ดังนั้น นับเป็นอีกหนึ่งครั้งที่มีการใช้ราชทินนาม สมเด็จพระญาณสังวร สำหรับสมเด็จพระสังฆราช เพื่อเป็นพระเกียรติคุณทางวิปัสสนาธุระของพระองค์ และเป็นสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกของประเทศไทย
ลำดับอาวุโสพระเถระ
พระพรหมเมธี กรรมการและโฆษกมหาเถรสมาคม (มส.) กล่าวถึงการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ว่า "การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ เป็นพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง จนกว่าจะเสร็จสิ้นพิธีพระศพสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก อย่างไรก็ตาม ตามราชประเพณี เมื่อตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะ ผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช และในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่น ผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช"
ปัจจุบัน ตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะ มี 7 รูป แบ่งเป็นฝ่ายมหานิกาย 3 รูป คือ 1.สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ อายุ 88 ปี ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อปี 2538 2.สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดสุทัศน์เทพวราราม อายุ 83 ปี ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะเมื่อปี 2553 และ 3.สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดพิชยญาติการาม อายุ 72 ปี ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อปี 2554
ฝ่ายธรรมยุต 4 รูป คือ 1.สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดสัมพันธ์วงศ์ อายุ 95 ปี ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อปี 2544 2.สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ วัดราชบพิธฯ อายุ 86 ปี ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อปี 2552 3.สมเด็จพระวันรัต วัดบวรฯ อายุ 77 ปี ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อปี 2552 กับสมเด็จพระธีรญาณมุนี วัดเทพศิรินทราวาส อายุ 66 ปี ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อปี 2553
เพราะฉะนั้นสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ คือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ จากฝ่ายมหานิกาย ปัจจุบันทำหน้าที่ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เนื่องจากได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะตั้งแต่ปี 2538
นอกจากนั้น การที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สิ้นพระชนม์ ทำให้ตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะว่างลงอีก 1 ตำแหน่ง ก่อนหน้านี้ก็ว่างลง 1 ตำแหน่งหลังการมรณภาพของสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ เท่ากับว่าขณะนี้ ตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะว่างลงถึง 2 ตำแหน่ง โดยเป็นของฝ่ายมหานิกาย 1 ตำแหน่ง ส่วนอีก 1 ตำแหน่ง หากมีการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชจากฝ่ายมหานิกาย จะทำให้ตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะของฝ่ายมหานิกายว่างลงอีก 1 ตำแหน่งด้วย เช่นเดียวกัน หากมีการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชจากฝ่ายธรรมยุต ก็จะทำให้ตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะของฝ่ายธรรมยุตว่างลงอีก 1 ตำแหน่ง
(ที่มา:มติชนรายวัน 26 ต.ค.2556)